เปิดเสรีโคนม FTA ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ จ่อยกเลิกโควตา 1 ม.ค. 68 อ.ส.ค. พร้อมสู้

เปิดเสรีโคนม FTA

เปิดเสรีโคนมมาแน่ FTA ไทย-ออสเตรเลีย ไทย-นิวซีแลนด์ถึงคิวยกเลิกโควตาภาษีตั้งแต่ 1 ม.ค. 2568 อ.ส.ค.โชว์แกร่งพร้อมรับมือประกาศไม่ทิ้งเกษตรกรไว้ข้างหลัง ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้ความรู้ แนะแนวทางปรับตัว มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการฟาร์มให้มีคุณภาพ มาตรฐาน ลดต้นทุนการผลิต ปรับลดขนาดฟาร์มให้เล็กลง หันมาเลี้ยงโครีดมากขึ้น เพื่อเพิ่มผลผลิตและรายได้รับการแข่งขันเสรีในปี 2568 และยกระดับอาชีพโคนมให้มีความมั่นคง ยั่งยืนขึ้น

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 นายสมพร ศรีเมือง ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับมือการเปิดเสรี FTA ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) และไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) ที่จะยกเลิกโควตาภาษีตั้งแต่ 1 ม.ค. 2568 ว่ามั่นใจว่าการเปิดเสรีโคนมจะไม่ส่งผลกระทบต่อกิจการโคนมของ อ.ส.ค.อย่างแน่นอน เนื่องจาก อ.ส.ค.มีศักยภาพและมีความเข้มแข็งมากพอในการแข่งขันในตลาดทั้งในและต่างประเทศ

อ.ส.ค.เตรียมพร้อมต้นน้ำ-ปลายน้ำ

โดยที่ผ่านมาได้เตรียมความพร้อมไว้ทุกด้าน ตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เช่น มีฟาร์มโคนมที่ได้มาตรฐาน มีโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยอยู่ 5 แห่ง ตลอดจนผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศให้ความเชื่อมั่นและยอมรับในคุณภาพและมาตรฐานของแบรนด์นมไทย-เดนมาร์คมาอย่างยาวนาน รวมทั้งเป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียวที่ใช้น้ำนมโคสดแท้ 100% ในการผลิตและเป็นที่ยอมรับในตลาด

นอกจากนี้ อ.ส.ค.ยังมีฟาร์มประสิทธิภาพสูง ซึ่งเป็นฟาร์มสาธิตเชิงธุรกิจและเป็น Smart Dairy Farm ที่ใช้เทคโนโลยีช่วยในการจัดการฟาร์มและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติและการสร้างบุคลากรมืออาชีพด้านการเลี้ยงโคนม และเป็นฟาร์มสำหรับใช้ในการศึกษาและพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการฟาร์ม ให้มีความสะดวกและเหมาะสมกับการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรยุคใหม่ ที่สอดคล้องกับหลักการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare)

พร้อมจัดซื้อแม่โครีดนมจำนวน 120 ตัว เพื่อผลิตน้ำนมดิบเข้าสู่อุตสาหกรรมนมให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันให้ผลผลิตสูงถึง 21.75 กก./ตัว/วัน จากเกณฑ์ที่ตั้งไว้ 18 กก./ตัว/วัน ถือว่าให้ผลผลิตสูงและส่งผลทำให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ

เปิดเสรีโคนม FTA

เกษตรกรเลิกเลี้ยงโคนม 30%

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบัน อ.ส.ค.จะมีความเข้มแข็งพร้อมรับการแข่งขัน หลังมีการเปิดเสรีด้านโคนมแล้ว แต่ อ.ส.ค.ก็ไม่ได้ทอดทิ้งเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในเครือข่าย ซึ่งปัจจุบันยังมีปัญหาและอุปสรรคในการปรับตัว รวมทั้งมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้มีต้นทุนสูงและให้ผลผลิตต่ำไม่เพียงพอกับรายได้

ประกอบกับความผันผวนทางเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ทำให้ราคาอาหารโคนมปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ส่งผลให้เกษตรกรหลายครอบครัวถอดใจเลิกเลี้ยง บางรายทายาทไม่สานต่ออาชีพหันไปประกอบอาชีพอื่นแทน ทำให้ฟาร์มเกษตรกรรายย่อยที่มีแม่โครีดนมต่ำกว่า 20 ตัวเลิกกิจการค่อนข้างสูง โดยภาพรวมเกษตรกรเลิกเลี้ยงคิดเป็น 30%

ส่งเจ้าหน้าที่อัพเกรดความรู้ฟาร์มโคนม

จากวิกฤตการณ์ดังกล่าว อ.ส.ค.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้ความรู้ แนะแนวทางปรับตัว โดยส่งเสริมให้เกษตรกรมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการฟาร์มให้มีคุณภาพ มาตรฐาน ลดต้นทุนการผลิต ปรับลดขนาดฟาร์มให้เล็กลง ปรับสูตรการให้อาหาร และหันมาเลี้ยงโครีดนมให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มผลผลิตน้ำนมดิบ ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีน้ำนมดิบที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีรายได้เพิ่มขึ้น

ทั้งยังได้จัดทำโครงการอบรมการอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีสูตรผลิตอาหารสัตว์คุณภาพเพื่อให้ได้น้ำนมดิบที่มีคุณภาพได้มาตรฐานตามที่กำหนด เกษตรกรได้รับผลตอบแทนคุ้มค่าให้กับเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เพื่อขยายผลต่อไปยังฟาร์มเกษตรกรที่อยู่ภายใต้ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ อ.ส.ค. จังหวัดขอนแก่น 6 ศูนย์ และศูนย์รวบรวมน้ำนมจังหวัดสุโขทัย 5 แห่ง ตลอดจนเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ใกล้เคียงอีก

“วันนี้ อ.ส.ค.เรามีความแข็งแกร่งทุกด้านพร้อมรับมือเปิดเสรีโคนม 100% แต่เราจะไม่ทิ้งเกษตรกรไว้ข้างหลัง เพราะทางรอดของอุตสาหกรรมโคนมไทยในอนาคตคือ การให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ให้มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นในการเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการฟาร์ม แทนระบบการเลี้ยงแบบดั้งเดิมซึ่งให้ผลผลิตต่ำ ต้นทุนสูงจนไม่สามารถแข่งขันในตลาดทั้งในและต่างประเทศไทยได้

จึงถือเป็นหน้าที่ของ อ.ส.ค.ในฐานะรัฐวิสาหกิจหลักที่ทำหน้าที่ดูแลโคนมอาชีพพระราชทานให้เป็นอาชีพที่มีความมั่นคงยั่งยืนตลอดอยู่คู่ประเทศไทยตลอดไป ด้วยการส่งเสริมเกษตรกรในเครือข่ายให้ผลิตน้ำนมมีคุณภาพ ให้เกษตรกรอยู่ได้ด้วยการลดต้นทุน เพื่อให้เกษตรกรนั้นมีอาชีพการเลี้ยงโคนมที่ยั่งยืน” นายสมพรกล่าว