ส่องทิศทางพลังงาน ปี 2567 จากเวที Thailand Energy Executive Forum 2024

Thailand Energy Executive Forum 2024

สวพน.ผนึกสถาบันวิทยาการพลังงาน จัด THAILAND ENERGY EXECUTIVE FORUM  เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ดึงปลัดกระทรวงพลังงาน ซีอีโอ ปตท. จับมือสภาอุตสาหกรรม โชว์วิสัยทันศ์เสวนาเรื่อง โชว์ “ทิศทางพลังงานปี’67” เดินหน้าพลังงานสะอาด อัพเดตเทรนด์พลังงาน เสนอแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา พร้อมแง้มแนวโน้มราคาพลังงานปีหน้า

ค่าพีกทะลุช่วง “กลางคืน”

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวระหว่างเสวนาเรื่อง “ทิศทางพลังงานไทยปี 2567” ว่า ปี 2566 ประเทศไทยมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะภาคไฟฟ้า หากเทียบสัดส่วนก่อนเกิดโควิด พบว่า การใช้ไฟฟ้าในปี 2566 (มกราคม-พฤศจิกายน) มียอดใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 187,774 เมกะวัตต์และคาดว่าน่าจะทะลุ 2 แสนล้าน

ซึ่งถือเป็นปริมาณสูงสุดเท่าที่ประเทศไทยเคยบริโภค รวมถึงอีกตัวหนึ่งคือความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ที่ 34,827 เมกะวัตต์ ถือเป็นจุดที่น่าสนใจว่าการใช้ไฟพีกนี้ เพราะเกิดขึ้นในเวลา 21.41 น. ต่างจากเมื่อก่อนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 14.00-15.00 น. ส่วนการใช้น้ำมันถือว่ากลับมาในปริมาณเท่าปี 2562 เว้นน้ำมันเครื่องบิน ยังอยู่ในระดับ 80%

ดร.ประเสริฐกล่าวว่า ปัจจัยการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเวลากลางคืนมีนัยยะสำคัญมาจากการใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือนที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่มีปริมาณสูงเกือบ 5 เท่า ซึ่งจากตัวเลขการจดทะเบียนพบว่า 100,219 คัน ซึ่งอาจสื่อได้ว่า ประชาชนอาจจะนิยมชาร์จไฟฟ้าในเวลากลางคืน และอีกหนึ่งปัจจัยคือ การติดแผงโซลาร์ เพื่อช่วยจ่ายไฟฟ้าเฉพาะในเวลากลางวัน

“สังเกตได้จาก ปัจจุบันการขอใบอนุญาตติดตั้งโซลาร์เพิ่มขึ้นมากจากก่อนหน้านี้ไม่เป็นที่นิยมปีละ 100 กว่าราย แต่ปัจจุบันเฉลี่ยเดือนละกว่า 100 ราย ปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมปลดล็อกการขอใบอนุญาตติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่กำลังผลิตมากกว่า 1,000 หน่วยขึ้นไป ประกอบกับค่าไฟที่แพงขึ้น” ดร.ประเสริฐกล่าว

นอกจากนี้ยังเห็นเทรนด์การใช้รถอีวีที่ถือว่าสูงสุดในกลุ่มอาเซียน อันเป็นผลมาจากนโยบายสนับสนุนอีวี 30@30 และมาตรการทางภาษีต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตามการเติบโตของรถอีวีที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้สถานีชาร์จอีวีในปัจจุบันที่มีประมาณ 8,702 หัวชาร์จยังไม่เพียงพอ ซึ่งทางการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พยายามเพิ่มปริมาณหัวชาร์จอีวีให้ครอบคลุม

แง้มราคา LNG แตะ 9 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู

ดร.ประเสริฐกล่าวว่า ประเด็นสำคัญเรื่องของพลังงาน คือ ราคา ความมั่นคง และพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลทุกยุคให้ความสำคัญและต้องรักษาความสมดุลทั้ง 3 เรื่อง โดยเฉพาะความมั่นคง จะเห็นได้ว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้รับอนุญาตแหล่งก๊าซเอราวัณ

ส่งผลให้กำลังการผลิตลดลงเหลือเพียง 200 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้า LNG spot จำนวนมาก จังหวะเดียวกับวิกฤตสงครามรัสเซีย- ยูเครน และสถานการณ์ตะวันออกกลาง ทำให้ปี 2564-2565 ราคา LNG ตลาดโลกสูงขึ้น ราคาเฉลี่ยอยู่ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ส่วนช่วงปี 2566 อยู่ที่ 30-40 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู

ซึ่งแนวโน้มปีนี้ราคาพลังงานได้เริ่มลงลงเหลือราว 9 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เราพยายามเร่งแหล่งเอราวัณให้ดึงก๊าซในอ่าวไทยตามสัญญา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันภายในวันที่ 1 เมษายนนี้ จะช่วยลดการนำเข้า LNG

“ส่วนพลังงานหมุนเวียน ช่วงที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับซื้อพลังงานสะอาดไปแล้วกว่า 5 พันเมกะวัตต์ ซึ่งจะเริ่มทยอยเข้าระบบทำให้ประเทศไทยมีพลังงานสะอาดมากขึ้น สอดรับกับทั่วโลกที่ต่างถามหาแต่พลังงานสะอาด ทั้งการลงทุนและการค้า โดยสินค้าส่งออกไปต่างประเทศถูกเรียกร้องให้ลดการปลอดปล่อยคาร์บอน นอกจากนี้ยังมีมาตรการพลังงานสะอาดที่คุณต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นอีกนิดหนึ่งชื่อว่า Utility Green Tariff  ซึ่งเราก็จะมี certificate ให้เพื่อนำไปใช้รับรองลดการปล่อนก๊าซเรือนกระจก ปัจจุบันนี้เราก็มีการพูดคุยและเปิดประชาพิจารณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้เสียงตอบรับที่ดี รวมถึงมีผู้ประกอบการหลายรายสนใจซื้อ” ดร.ประเสริฐกล่าว

ไตรมาสนี้ เตรียมประชาพิจารณ์ PDP

อีกทั้ง ดร.ประเสริฐกล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ประมาณ 372.72 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ โดยภาคพลังงานถือเป็นภาคที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากสุดถึง 70% หรือประมาณ 260.77 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์

ดังนั้นหากเราต้องการก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 เราจำเป็นต้องหันมาใช้พลังงานสะอาด ลดการใช้พลังงานฟอสซิส การเปลี่ยนจากรถสันดาปมาสู่รถอีวี ควบคู่กับโครงสร้างพื้นฐานอย่างโครงข่ายไฟฟ้า โรงไฟฟ้าขนาดย่อม สำหรับอีกเรื่องที่ต้องทำคือการเปิดโอกาสให้มีการซื้อขายและการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางกระทรวงพลังงานกำลังหาแนวทางและโครงการนำร่องต่าง ๆ

นอกจากนี้แผนพลังงานชาติ ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) จะต้องดูสัดส่วนไฟฟ้า ก๊าซ น้ำมัน พลังงานหมุนเวียน และการประหยัดพลังงาน ซึ่งต้องบูรณาการร่วมกันทั้ง 5 แผนย่อย คาดว่า แผน PDP จะประชาพิจารณ์ได้ไตรมาสนี้ ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์หรือต้นเดือนมีนาคม โดยจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนมากขึ้นถึง 70% และปลดโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซออกไป

และจะมีเรื่องของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ในตัวเลือกรวม 7-8 สมมุติฐาน จะนำมาประชาพิจารณ์สาธารณะเพื่อให้เกิดการยอมรับของประชาชน ตัวอย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่นเคยมีปัญหา จึงต้องสื่อสารแต่ต้องปรึกษานายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก่อนว่าจะเลือกไปประชาพิจารณ์หรือไม่

นักธุรกิจทั่วโลกกังวล “ปัญหาสิ่งแวดล้อม” ระยะยาว

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ปตท. ได้เข้าร่วมประชุมใน World Economic Forum  2024 ณ เมือง Davos ประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นการประชุมผู้นำทางเศรษฐกิจทั่วโลก ในที่ประชุมมีการตั้งโหวตความคิดเห็นประเด็นปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลให้เกิดความกังวลทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้น 2 ปี กลุ่มผู้นำส่วนใหญ่กังวลเรื่องของเทคโนโลยี และการบิดเบือนข้อมูล โดยตระหนักไปถึงการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้งาน วิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เรื่องรองลงมาคือสิ่งแวดล้อม และภูมิรัฐศาสตร์

ทว่า สิ่งที่น่าสนใจคือผลโหวตระยะยาวช่วง 10 ปีข้างหน้าสิ่งที่กังวลคือเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะกระทบกับการใช้พลังงาน อย่างไฮโดรคาร์บอน ถ่านหิน น้ำมันก๊าด จะมีแนวโน้มลดลง โดยถ่านหินจะมีแนวโน้มการใช้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนน้ำมันจะมีการใช้สูงสุดในปี 2573 ขณะที่ก๊าซธรรมชาติจะเป็นเชื้อเพลิงสุดท้ายที่เหลืออยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานทดแทน

ข่าวดีปี’67 ราคาน้ำมัน-ก๊าซลดลง

นายอรรถพลกล่าวว่า ปตท. มีภารกิจคือการสร้างความมั่นคงพลังงานของประเทศ ไม่ว่าหน้าตาของพลังงานประเทศจะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน ปตท. ต้องตามไปทำ ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นภูมิรัฐศาสตร์ สภาวะและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และสภาพสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติในช่วงที่เกิดสงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครนนั้น เพิ่มขึ้นสูงกว่า 80 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู แต่ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เช่นเดียวกับราคาน้ำมันที่มีสถานการณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ

อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ความคลี่คลายจากสถานการณ์ต่าง ๆ ส่งผลให้ราคาพลังงานในปี 2567 นั้นจะลดลง โดยราคาน้ำมันจะอยู่ในกรอบ 75-85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และปริมาณการใช้จะอยู่ที่ 103 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 อยู่ที่ 101-102 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนปริมาณการขายจะอยู่ที่ 103 ล้านบาร์เรลต่อวันเช่นเดียวกัน

ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติจะลดลงมาอยู่ในกรอบ 7-12 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู แต่ต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะเกิดการปะทุความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศขึ้นมาอีก รวมถึงสภาพเศรษฐกิจของโลก สภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อการผลิตและสภาพการผลิต และอัตราเร่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

ไทยยังต้องนำเข้าพลังงานทุกรูปแบบ

“ต้องยอมรับว่าพลังงานในทุกรูปแบบของประเทศไทยที่เราใช้อยู่ต้องมีการนำเข้า แต่ในภาคของความมั่นคง โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานยังมีความแข็งแกร่ง ที่ผ่านมาการบริหารจัดการของ ปตท. และนโยบายของภาครัฐสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถก้าวผ่านวิกฤตมาได้ตลอด ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันในประเทศไม่ขาดแคลน”

แต่อย่างไรก็ตาม ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศก็สามารถวางใจได้เนื่องจากความร่วมมือของทุกฝ่ายที่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของท่อขนส่งก๊าซที่มาจากทั้งเพื่อนบ้านและแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย รวมถึงมั่นใจว่าอ่าวเอราวัณสามารถผลิต 800 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวันได้ทันเดือนเมษายนแน่นอน รวมถึงเรามีคลังกักเก็บ LNG เรียกได้ว่าประเทศเรามีความยืดหยุ่น เพราะโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อกันหมด

ไฮโดรเจนในภาคอุตสาหกรรม

นายอรรถพลกล่าวว่า ปตท. ได้ปรับวิสัยทัศน์ใหม่เป็น Powering lift with future energy and beyond : ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังงานแห่งอนาคต ด้วยเงินลงทุน 600,000 กว่าล้านในกรอบเวลา 5 ปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของเรา โดย Future energy พลังงานทดแทนทั้งในและต่างประเทศ 2030 ได้ 15,000 เมกกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันนี้ดำเนินการไปแล้ว 4 พันกว่าเมกะวัตต์ นอกจานี้เราจะลงทุนในห่วงโซ่คุณค่ารถอีวีในทุกห่วงโซ่ อย่างอีวีชาร์จเจอร์ที่วางเครือข่ายในสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศเป็นที่เรียบร้อย ส่วน beyond เราจะต่อยอดใน 5 ธุรกิจ ได้แก่

1.life-science เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางแพทย์ โดยเราจะเข้าไปในธุรกิจยาเพื่อลงทุนผลิตหัวเชื้อยา รวมถึงอาหารเพื่อสุขภาพและอุปกรณ์ทางการแพทย์

2.High Value  Business ที่ต่อยอดจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพราะธุรกิจใหม่อย่าง smart electronic และรถอีวีจะต้องใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้องการวัสดุที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

3.Life style ต่อยอดจากธุรกิจของโออาร์ อาทิ คาเฟ่อเมซอน

4.Logistics and infrastructure โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรอแลนด์บริดจ์ เคยได้พูดคุยกับนายกว่า เราควรสร้างท่าเรือฝั่งตะวันตก (อันดามัน) เพื่อต่อยอดระบบรางจากไทยไปประเทศจีนได้อย่าง short cut

5.AI Robotics and Digitalization

เทรนด์ไฮโดรเจนในภาคอุตสาหกรรม

นายอรรถพลกล่าวด้วยว่า เป้าหมายของพลังงานในประเทศ จะต้องยึด 3 หลักสำคัญคือ 1.พลังงานต้องมีความมั่นคงเข้าถึงได้ 2.ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยพัฒนาเทคโนโลยีในการดักจับคาร์บอน และ 3.ต้องมีราคาเหมาะสม ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยในอนาคตเชื้อเพลิงไฮโดนเจนเป็นเรื่องน่าสนใจ หากมีหน่วยงานเข้ามาอุดหนุนเรื่องนี้ให้เกิดเป็นโครงการต้นแบบประเทศไทยจะสามารถก้าวได้ทันกระแส

“ปตท. มองว่าไฮโดนเจนกับด้านการคมนาคมหรือยานยนต์นั้นอาจจะพัฒนาได้ยาก เนื่องจากตอนนี้เสียงยังถูกแบ่งเป็น 2 ฝ่ายจากกลุ่มประเทศญี่ปุ่นที่เห็นด้วยและเร่งพัฒนาใช้ไฮโดนเจน กับกลุ่มประเทศอื่น ๆ ที่ยังมองเรื่องรถวีก่อน เพราะโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาไม่เหมือนกัน”

ขณะที่ไฮโดนเจนกับภาคอุตสาหกรรมเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะเทคนิคทำได้ทั้งหมดแล้วสามารถแปลงสภาพ ขนส่ง และนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้แล้ว แต่เรื่องสำคัญคือเรื่องต้นทุน ถ้ามีการสนับสนุนให้ต้นทุนราคาถูกได้ จะสามารถนำไฮโดนเจนเข้ามาแทนที่แบตเตอรี่ได้ ซึ่งเป็นอนาคตที่น่าสนใจ โดยในกลุ่ม ปตท. เองมี บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เข้าไปร่วมลงทุนกับประเทศโอมาน เพื่อพัฒนากรีนไฮโดนเจน

วอนเลิกแบ่งพื้นที่-หาทางออกทางธุรกิจ รัฐบาลนี้ทำได้

นอกจากนี้นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ยังกล่าวระหว่างเสวนาเรื่อง “ทิศทางพลังงานไทยปี 2567” ถึงกรณีข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (overlapping claims areas –OCA) ว่า ในมุมของ ปตท. อาจจะมีโมเดลให้ศึกษาได้อย่างพื้นที่ไทย-มาเลเซีย ทั้งนี้เรื่องการแบ่งดินแดนไม่น่าจะสรุปได้ เพราะเข้าใจว่าการแบ่งพื้นที่แม้แต่ตารางนิ้วเดียวต้องมีปัญหา หากมาหารือกันเรื่องของวัตถุดิบที่อยู่ใต้ดิน น่าจะหารือได้ไม่ยาก เพราะประเทศไทยมีท่อก๊าซและโครงสร้างพื้นฐานใกล้ๆ พื้นที่ทับซ้อนอยู่แล้ว การจะขุดเจาะและนำขึ้นมาใช้ก็ง่าย ส่งไปกัมพูชาสะดวก

“โมเดลที่จะนำวัตถุดิบขึ้นมาใช้ และพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มนั้น ให้กัมพูชามาลงทุนกับเราได้ เพื่อแบ่งฝั่ง50% โดยโมเดลทางด้านธุรกิจไม่ยาก แต่ทางด้านการเมืองน่าเห็นใจ พูดตรง ๆ เลยว่ากัมพูชาไม่น่ามีปัญหา ที่มีปัญหาคือไทย มีการพูดเรื่องนี้ตลอด เดี๋ยวก็หาว่าขายชาติบ้าง เราน่าจะต้องลด ๆ ในตรงนี้หน่อยเพื่อให้เกิดข้อสรุปได้ และเราจะได้ไม่มีปัญหา” นายอรรถพลกล่าว

อีกทั้ง ดร.ประเสริฐกล่าวเสริมว่า สำหรับการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (โอซีเอ) ถือเป็นความหวัง หากรัฐบาลชุดนี้ทำไม่ได้ไม่ต้องหวังรัฐบาลชุดอื่น หากสำเร็จจะช่วยให้ค่าไฟถูกลงได้ แต่ต้องควบคู่กับแหล่งในประเทศผลิตตามเป้าหมาย ในระยะยาวราคาค่าไฟจะลงมาเหลือ 3 บาทได้ แต่เวลานี้ด้วยแหล่งก๊าซที่มีรัฐบาลจึงต้องเข้ามาแทรกแซงกลไกตลาดเพื่อให้ราคาไม่สูงมากนัก

ส.อ.ท.อ้อนรัฐขอค่าไฟใกล้เวียดนาม-อินโด

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวระหว่างเสวนาเรื่อง “ทิศทางพลังงานไทยปี 2567” ว่า ราคาค่าไฟของไทยงวดปัจจุบัน (มกราคม-เมษายน2567) ระดับ 4.18 บาทต่อหน่วย ถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งด้านการลงทุนไทยอย่างเวียดนามซึ่งราคาเพียง 2.67 บาทต่อหน่วย แม้จะเคยเกิดไฟดับแต่สาเหตุมาจากรับการลงทุนต่างชาติจำนวนมาก

แต่ล่าสุดเวียดนามได้วางโครงสร้างรับการเติบโตดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้ยังอินโดนีเซียค่าไฟเพียง 2.52 บาทต่อหน่วย และลาว 1.02 บาทต่อหน่วย ราคาที่สูงของไทยจะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนไทย โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ เพราะหลายอุตสาหกรรมสำคัญมีต้นทุนค่าไฟ ต้นทุนพลังงานเป็นต้นทุนหลัก

“ก่อนขึ้นเวทีสัมมนานี้ ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวกับผมว่าให้ใจเย็น ๆ กระทรวงกำลังเร่งพิจารณา โดยเฉพาะการเพิ่มปริมาณก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณเดือนเมษายนนี้ หากค่าไฟถูกลงในระดับเหมาะสม เอกชนจะประกาศหยุดงาน 1 วัน และขอเลี้ยงขอบคุณปลัดพลังงานด้วย ทั้งนี้ขอย้ำรัฐบาลว่าเอกชนยังต้องการให้รัฐบาลตั้ง กรอ.พลังงาน เพื่อเสนอแนวทางบริหารราคาพลังงานร่วมกัน”

ด้าน ดร.ประเสริฐกล่าวว่า ประเด็นที่เวียดนามและอินโดนีเซียราคาค่าไฟถูกกว่าประเทศไทย ต้องยอมรับว่าทั้ง 2 ประเทศใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า อีกทั้งเวียดนามมีพลังงานน้ำ แต่ต้องแลกกับปัญหาด้านความมั่นคง ซึ่งไทยเน้นความสมดุล 3 เรื่อง ไทยมีเขื่อนใหญ่กำลังการผลิต 2,900 เมกะวัตต์ ถือว่าไม่เยอะ กฟผ.จะต้องบริหารจัดการน้ำ ในเขื่อน เพราะต้องคำนึงถึงท้ายเขื่อนที่ต้องรับน้ำ ดังนั้น ไทยจะเน้นการบริหารจัดการน้ำก่อนการผลิตไฟฟ้า

“ราคาพลังงานสำคัญต่อการเป็นอยู่ของประชาชน เราพยายามไม่ให้ค่าไฟและน้ำมันสูงเกินไป ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาช่วย และให้ ปตท.และ กฟผ.รับภาระไว้ก่อน ตอนนี้ ปตท.รับไว้หลักหมื่นล้านบาท ส่วน กฟผ.เกือบแสนล้านบาท ซึ่งก็ต้องคืน และตั้งเป้า 3-4 ปีนี้จะดึงเงินเข้ากองทุน ให้กองทุนน้ำมันฯกลับมาเป็นบวกให้ได้” ดร.ประเสริฐกล่าว

จี้รัฐทบทวนเป้า Net Zero ใหม่

นายเกรียงไกรกล่าวว่า นอกจากราคาพลังงานเหมาะสมแข่งขันได้ อยากให้ภาครัฐออกมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมไทย 5 ด้านหลักคือ 1.สนับสนุนการเปลี่ยนใช้เครื่องจักรมีประสิทธิภาพ 2.สนับสนุนใช้พลังงานหมุนเวียน 3.พัฒนาบุคลากร 4.ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และ 5.จัดทำฐานข้อมูลอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันในการสนับสนุนการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งปัจจุบันอีวีจีนเข้ามาจำนวนมาก อยากให้รัฐบาลสนับสนุนให้การลงทุนสะอาดทั้งระบบ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรมสีเขียว มุ่งสุ่บีซีจี และสามารถมุ่งเน็ตซีโร่ได้

นายเกรียงไกรกล่าวว่า การปรับตัวของไทยมีความจำเป็นเพื่อสอดรับกับบริบทโลกที่ปัจจุบันกำลังเผชิญภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า การรุกล้ำทางเทคโนโลยี และภาวะโลกเดือด ขณะเดียวกันไทยได้ตั้งเป้าหมายสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เป้าหมายคลีน การมุ่งสู่ความยั่งยืน และเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเท่ากับศูนย์ หรือ เน็ตซีโร ภายในปี 2065 แต่สังเกตว่าไทยช้าที่สุด เมื่อเทียบกับทั่วโลก ดังนั้นอยากให้ภาครัฐทบทวนเรื่องนี้ เพราะเป้าหมายดังกล่าวส่งผลต่อขีดแข่งขันของไทย

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ขณะเดียวกันสหภาพยุโรปได้เดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือซีแบม ในปีที่ผ่านมา โดยนำร่อง 5 สินค้า คือ เหล็ก ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า อะลูมิเนียม ปุ๋ย และปี 2026 จะเพิ่มอีก 5 สินค้า อาทิ ผลิตภัณฑ์กลั่นน้ำมัน ไฮโดรเจน แอมโมเนีย โพลิเมอร์ นอกจากนี้สหรัฐ แคนาดา จีน และทั่วโลก จะมีมาตรฐานบังคับใช้ของตัวเอง

ดังนั้นต้องรับมือ ผลิตสินคัาโดยให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งสอดรับกับยอดขอลงทุนไทยปี 2566 ที่สูงถึง 8 แสนล้านบาท นักลงทุนที่ยื่นขอลงทุนรายสำคัญของโลกต่างต้องการไฟสีเขียวจากพลังงานสะอาด เพื่อใช้อ้างอิงในการขายสินค้าไปทั่วโลก ซึ่งซีแบมเป็นหนึ่งในมาตรการที่เริ่มต้นแล้ว

“ปีนี้ธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์เศรษฐกิจโลกเติบโต 2.4% ขณะที่องค์การการค้าโลก (WTO) คาดการค้าโลกเติบโต 0.8% และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เศรษฐกิจไทยเติบโตถึง 4.4% ถือเป็นระดับดี” นายเกรียงไกรกล่าว