แห่ขอใบรับรองพลังงานสะอาด “อินโนพาวเวอร์” โตพรวด 700%

อธิป ตันติวรวงศ์

สุดปัง นักลงทุนแห่ซื้อใบรับรองพลังงานสะอาด 2 ล้านใบ ดันผลประกอบการ “อินโนพาวเวอร์” บริษัทลูก กฟผ. พุ่ง 700% กางแผนลุยต่อปี 67 ประกาศข่าวดีไตรมาส 2 จ่อลงทุนสตาร์ตอัพ “กรีนไฮโดรเจน” สหรัฐ พร้อมระดมทุนพันธมิตรไทยอีก 15 ล้านเหรียญสหรัฐ

เมื่อปี 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติตั้ง “บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด” ขึ้น โดยมีผู้ถือหุ้น 3 ฝ่าย คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถือหุ้น 40% บริษัท ราชกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 30% และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO ถือหุ้นอีก 30% พร้อมทั้งกำหนดวงเงินลงทุน 2,960 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี (2563-2567) จะเป็นทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 150 ล้านบาท โดยบริษัทนี้จะมีเป้าหมายเป็น “หัวหอก” ลงทุนธุรกิจด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน จนระยะเวลาได้ผ่านมา 2 ปี จากการดำเนินธุรกิจถือได้ว่า ขณะนี้อินโนพาวเวอร์ได้ตั้งไข่สำเร็จแล้ว

ออกใบรับรอง REC

นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อินโนพาวเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กฟผ. ราชกรุ๊ป และเอ็กโก มุ่งสร้างธุรกิจนวัตกรรมพลังงาน เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงานของไทยให้ทำได้เร็วขึ้นและง่ายขึ้น โดยอินโนพาวเวอร์เห็นว่า เรื่องของความยั่งยืนเมื่อประมาณ 5-10 ปีที่แล้วนั้น จะหมายถึง พลังงานสีเขียวเพียงอย่างเดียว แต่หากพลังงานสีเขียวที่ผลิตออกมาแล้วไม่ตอบโจทย์ทางด้านต้นทุน หรือไม่สามารถตอบโจทย์ความมีเสถียรภาพให้ผู้ประกอบการได้ การที่จะไปพลังงานสีเขียวอย่างแท้จริงก็ลำบาก

ดังนั้นพลังงานสีเขียวจึงต้องมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วย ทำให้ อินโนพาวเวอร์ มุ่งเน้นการหาเทคโนโลยีเหล่านี้ โดยเราต้องการขยายเครือข่ายการเป็น Decarbonization Partner ให้กับผู้ประกอบการใหญ่ ๆ ในประเทศไทย ที่ต้องการเข้าถึงเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) หรือการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) แต่ยังไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร เราสามารถช่วยให้ได้ง่ายขึ้น

“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อินโนพาวเวอร์ใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท จากที่ได้รับมา 2.9 พันล้านบาท ซึ่งจะสิ้นสุดกรอบระยะเวลาในปี 2567 นี้ แต่คิดว่า หลังจากปีนี้ยังจะลงทุนต่อเนื่องด้วยงบประมาณที่เหลืออยู่ โดยไม่จำเป็นต้องขอรับเงินสนับสนุนเพิ่มเติมจาก กฟผ.แล้ว เพราะสามารถเติบโตได้ด้วยตนเอง เราโตได้ 700% จากปี 2565 ด้วยคนแค่ 27 คน และคาดหวังว่าปีนี้เราจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 30% เป็นอย่างน้อย ทั้งจากการออกใบรับรอง REC และ EV Solution รวมถึงปีนี้จะมีโปรเจ็กต์ใหม่เกี่ยวกับ EV และพลังงานเพิ่มมากขึ้นในไตรมาส 2

Advertisment

ผมมองว่า 2 ปีเป็นแค่จุดเริ่มต้นของอินโนพาวเวอร์ เป้าหมายเราอยากเติบโตเพิ่ม ต้องสร้างกำไรให้บริษัทสามารถอยู่ได้ และอยากขยาย Network เรื่อง Decarbonization Partner กับองค์กรให้ได้มากขึ้น อยากให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ประเทศไทยได้เยอะขึ้น เราคงเดินในแบบที่เราเดินมา แต่ทำอย่างไรให้เดินได้กว้างขึ้นและเร็วขึ้น” นายอธิปกล่าว

REC ดันธุรกิจโตพุ่ง

สำหรับการเติบโต 700% ในช่วงที่ผ่านมา CEO อินโนพาวเวอร์ ฉายภาพว่า รายได้หลักมาจากการออกใบรับรองพลังงานสะอาด REC หรือ Renewable Energy Certification ที่มีการเติบโตถึง 400% จากปัจจัยบวกที่สหภาพยุโรปบังคับใช้มาตรการ CBAM หรือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน “หลังจากที่ EU บังคับใช้ CBAM เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับปีก่อน

ถึงปีนี้ยอดขายตอนนี้เราเติบโตเกิน 400% จากปี 2565-2566 คิดเป็นจำนวนที่บริษัทออกใบรับรองไปแล้ว 2 ล้าน RECs ส่วนปี 2567 คิดว่าโดยรวมแล้วปริมาณยอดขายเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะเรื่องความยั่งยืน เป็นเรื่องที่ทุกบริษัทพูดคุยเพิ่มขึ้น ปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปี 2566 อีก 30%” นายอธิปกล่าว

สำหรับขนาดตลาดของการออกใบรับรองพลังงานสะอาด REC นั้น มีขนาดใหญ่มาก บริษัทที่จะออกใบรับรอง REC จะต้องยื่นไปที่ I-REC มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ประเทศต่าง ๆ จะให้สิทธิกับบริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นผู้ออกใบรับรอง แต่ไม่ใช่ว่าไม่เปิดให้มีการแข่งขัน

Advertisment

ดังนั้นกลุ่มลูกค้า REC จึงมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีเป้าหมายจะมุ่งสู่ความยั่งยืนหรือความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือกลุ่มที่ได้รับการเรียกร้องจากลูกค้าของเขา โดยมีการตั้งเงื่อนไขว่า ต้องใช้พลังงานสะอาด ซึ่งมักจะเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ หรืออาจจะเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่ผลิตให้ เช่น เนสท์เล่ ซื้อ REC เพื่อนำไปแจ้งลูกค้าว่า มีการใช้พลังงานสะอาดผลิต 100% ในการผลิตไอศกรีม หรือเวสเทิร์นดิจิทัลที่ต้องผลิตตัวฮาร์ดไดรฟ์ให้กับ iPhone ซึ่งก็ตั้งเงื่อนไขว่า จะซื้อฮาร์ดไดรฟ์จากโรงงานที่ใช้พลังงานสะอาดในการผลิตเท่านั้น

ส่วนราคาของใบรับรอง REC นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น 1) ชนิดของพลังงาน ชีวมวล-น้ำ-ลม-แสงอาทิตย์ จะมีราคาแตกต่างกัน 2) ช่วงเวลาปีที่ซื้อขาย เช่น คนที่ซื้อ REC ในปี 2565 อาจถูกกว่าคนที่ซื้อในปี 2566 และ 2567 3) ขนาดของสัญญาซื้อ สมมุติ ยิ่งซื้อปริมาณมากยิ่งได้ราคาถูกกว่า ทั้งนี้ ลูกค้าจะสามารถทำสัญญาระยะสั้นหรือระยะยาวได้ทั้งหมด โดยที่ในใบรับรอง REC จะบอกอยู่แล้วว่า มาจากการผลิตที่ไหน รับมาแล้วก็สามารถนำไปใช้ได้เลย

ปั๊มรายได้หลายทาง

นอกจากรายได้การออกใบรับรอง REC แล้ว อินโนพาวเวอร์ยังมีรายได้ในส่วนของธุรกิจการพัฒนา “โซลูชั่นด้าน EV” ที่บริษัทดำเนินการร่วมกับ กฟผ. มี Elexa EV เป็นการบริการครบวงจรเรื่องที่ชาร์จรวมเป็น Package อีกทั้งยังมีการพัฒนาบริการเสริมผ่านแพลตฟอร์มชื่อว่า Green House Gas Report ให้ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบได้ว่า บริษัทมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณเท่าใด ซึ่งบริการนี้เพิ่งเปิดบริการเฟสแรก “จึงยังไม่คิดค่าใช้จ่าย”

เพราะมองว่า เป็นสิ่งที่ต้องการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าก่อน เหมือนการตรวจเลือดเพื่อทราบว่ามีคอเลสเตอรอลเท่าไร จะต้องลดส่วนไหน เป็นการต่อยอดธุรกิจอื่น ๆ ให้บริการกับทางลูกค้า โดยปีนี้มีเป้าว่าอย่างน้อยต้องมีผู้เข้ามาใช้บริการนี้ 50 ราย

นายอธิปกล่าวว่า การดำเนินการทั้งหมดนี้ เป็นไปตามแนวทางการทำงานที่วางไว้ 4 ด้าน คือ การสร้างการรับรู้ในเรื่องนี้ (Create Awareness), การหักล้าง (Offset) สำหรับบริษัทที่ต้องการทำเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net Zero ได้ทันที ผ่าน REC มาช่วยชดเชยในสโคป 2 ของผู้ประกอบการได้ทันที และส่วนที่ 3 ที่เรียกว่า Reduce เป็นโซลูชั่นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะมีแต่เทคโนโลยีที่เราไปลงทุนมาในบริษัทสตาร์ตอัพและเวนเจอร์แคปิตอล นอกจากนี้ยังมีโซลูชั่นสำหรับ EV และสุดท้าย คือ เรื่องการลงทุน (Investment) เกี่ยวกับเรื่องหลายบริษัท เรื่องของความยั่งยืนสำหรับธุรกิจที่ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านนี้

จ่อปิดดีล Q2

ในไตรมาส 1-2 ของปีนี้ อินโนพาวเวอร์จะลงทุนในสตาร์ตอัพเกี่ยวกับ Green Hydrogen ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาที่สหรัฐ เปรียบเทียบกับอิสราเอล จากปีก่อนหน้านี้ที่ลงทุนสตาร์ตทัพและกองทุนเวนเจอร์ฯไปแล้ว 5 ราย โดยที่สหรัฐมีสตาร์ตอัพ 1 ตัวและกองทุน 1 ตัว ที่ยุโรปมีสตาร์ตอัพ 1 ตัวและกองทุน 1 ตัวเช่นกัน ส่วนในไทยมีสตาร์ตอัพ 2 ตัว โดยเฉลี่ยจะลงทุนปีละ 3-5 ตัวขึ้นอยู่กับความน่าสนใจ

ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นเกี่ยวกับ Decarbonization เช่น ที่ลงทุนไป Smart Motor ทำให้ประหยัดพลังงาน 20-30% เทียบกับมอเตอร์ปกติ เรื่อง Carbon Accounting เรื่อง AI บริหารจัดการพลังงาน รวมถึง EV Technology เป็นต้น

สำหรับ “กรีนไฮโดรเจน” มองว่ามีโอกาสสูง เพราะเป็นหนึ่งในพลังงานสะอาดที่มีเสถียรภาพและสะอาดมาก แต่ความท้าทายเรื่องของราคาที่ค่อนข้างสูง ทางบริษัทจึงพยายามหาวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการขนส่งด้วยแนวทางต่าง ๆ เพราะปกติการขนส่งไฮโดรเจนต้องส่งโดยใช้อุณหภูมิเยือกแข็ง ซึ่งมีราคาแพงมาก ดังนั้นต้องดูว่าเทคโนโลยีขนส่งที่สามารถลดต้นทุนได้มีอะไรบ้าง เช่น อิสราเอลมีเทคโนโลยีผสมซิลิคอนในไฮโดรเจนทำให้เป็นของเหลว ใช้รถน้ำมันขนส่งได้

ส่วนการผสมแอมโมเนียเป็นอีกหนึ่งวิธีที่เปลี่ยนสภาพเป็นของแข็ง แต่ยังไม่ตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัย ส่วนสตาร์ตอัพสหรัฐที่ทำไฮโดรเจนสีเขียว จะมีเทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุนในห่วงโซ่คุณค่าของไฮโดรเจนสีเขียวได้ แต่ยังไม่ได้ทำเชิงพาณิชย์

และจากที่ลงทุนในสตาร์ตอัพอยู่แล้ว จะมีการระดมทุนจากหลายบริษัทที่มีความต้องการ โดยเฉพาะเอามาลงทุนต่อในเทคโนโลยีที่จะเอามาใช้ในประเทศไทยได้ ปัจจุบันมีเป้าหมายจะลงทุนประมาณ 80-100 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ผ่านมาก็ได้รับผลตอบรับที่ดี

“ในไตรมาสแรกปีนี้ เราจะประกาศผลเรื่องการระดมทุนกองทุนอีกครั้งหนึ่งกับบริษัทหนึ่งในประเทศไทย ที่สนใจในการร่วมลงทุนกองทุนนี้ และจะมาเป็นหนึ่งในคีย์พาร์ตเนอร์เพิ่ม จากปัจจุบันที่มี Venture Capital จากสิงคโปร์ร่วมกันอยู่ ซึ่งจะเสริมความแข็งแกร่ง มาพร้อมกับเงินทุนในกองทุนนี้ ประมาณ 15 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นแค่จุดเริ่มต้น แต่เราเห็นว่ามีหลายรายสนใจทางด้านนี้เยอะ ซึ่งบริษัทอาจจะพัฒนาโดยดึงจากภาคยานยนต์ Mobility ธนาคาร หรือจากพลังงานมาร่วมกันภาคละ 2-3 ราย โดยจะให้คนเหล่านี้ที่มาลงทุนกับเรา เป็นผู้เลือกเทคโนโลยีก่อนว่าต้องเลือกเทคโนโลยีใดมาใช้กับบริษัทของเขา”

UGT ฟิกซ์ทำให้แข่งขันลดลง

ส่วนการกำหนดค่าไฟฟ้าสีเขียว หรือ UGT ที่ภาครัฐอยู่ระหว่างประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นนั้น นับว่าเป็นโครงการที่ดี ซึ่งเป็นการประกาศว่า ถ้าคุณจะมาลงทุนในประเทศไทยและสนใจที่ได้เข้าเป็นพลังงานสะอาด เรามีช่องทางในการเข้าถึงได้แน่ และจะทำให้ตลาดมี Benchmark Price ที่ชัดเจน เพราะของเดิมราคาค่อนข้างมีไดนามิก แปลว่า ราคาแต่ละไตรมาสจะมีการผันผวนได้ขึ้นอยู่กับความต้องการในแต่ละไตรมาส แต่การเข้ามาของ UGT ที่เป็น Fixed Rate ในแต่ละไตรมาส เราอาจจะเห็นการผันผวนของราคา เรียกว่า กลไกทางตลาดของดีมานด์และซัพพลายจะน้อยลง