เลขาฯบีโอไอร่วมทริปนายกฯเศรษฐาโรดโชว์ทั่วโลก กางแผนดึงลงทุนไตรมาส 4/2566 หวังปั๊มยอด ส่งเสริมทั้งปีทะลุ 600,000 ล้านบาท ชูพลังงานสะอาดอาวุธใหม่ รับมือเทรนด์โลกเปลี่ยน กวาดคลัสเตอร์หลักเข้าไทยอานิสงส์สงครามการค้าต่างชาติย้ายฐานลงทุน พร้อมอัพเกรดมาตรการส่งเสริมลงทุนแก้ฝุ่น PM 2.5 ดันต่อแพ็กเกจรถไฟฟ้า EV 3.5 คู่สันดาป เดินหน้าตามยุทธศาสตร์ใหม่ปี’67-70 บุก “5 อุตสาหกรรม-5 วาระ” ทั้ง BCG-อิเล็กทรอนิกส์-ยานยนต์-ดิจิทัล-สำนักงานตัวแทน
ภาพชัดที่เกิดขึ้นหลังรัฐบาลเศรษฐา 1 เข้ามาบริหารประเทศก็คือ การประกาศดึงดูดการลงทุน โดยนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ได้นำคณะเดินทางร่วมประชุมเวทีสำคัญระดับโลกพร้อมกับ “โรดโชว์คู่ขนาน” ในทุก ๆ ประเทศที่ไปร่วมประชุม
ล่าสุดก็คือ การประชุม Belt and Road ที่ประเทศจีน ต่อด้วยการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-ประเทศกลุ่มอ่าวอาหรับ (GCC) และการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ที่สหรัฐ โดยการเดินทางทุกครั้งจะมีภาคเอกชนและเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมด้วย
มั่นใจลงทุนทะลุ 6 แสนล้าน
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงภาพรวมการขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2566 ว่า จะเกิน 600,000 ล้านบาท ตามที่ตั้งเป้าไว้ โดยช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) มีโครงการขอส่งเสริมรวม 1,375 โครงการ หรือเพิ่มขึ้น 33% คิดเป็นเงินลงทุน 465,057 ล้านบาท
ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนเพิ่มขึ้นทั้งในอุตสาหกรรมเดิม (เครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์-เกษตรและอาหาร-ยานยนต์และชิ้นส่วน-ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์-การท่องเที่ยว)
กับการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งมีทั้งการแพทย์, ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์, ดิจิทัล, เทคโนโลยีชีวภาพ และอากาศยาน โดยมีนักลงทุนจากจีนมาเป็นอันดับ 1 มูลค่าการลงทุน 90,000 ล้านบาท ตามมาด้วยสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ สหรัฐ
“ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่มีทิศทางการลงทุนที่ดีมาก สะท้อนถึงการฟื้นตัวจากช่วงโควิดและความเชื่อมั่นของนักลงทุนหลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลได้เรียบร้อย และเทรนด์โลกก็เอื้อให้เกิดการลงทุนในไทยอย่างเช่นมีเหตุการณ์สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐ-จีน ทำให้เกิดการโยกย้ายฐานการลงทุนครั้งใหญ่
ความไม่แน่นอนในโลก ทำให้นักลงทุนต้องปรับโครงสร้างซัพพลายเชนครั้งใหญ่ เพื่อมั่นใจว่า จะรักษาความต่อเนื่องของการผลิตได้ ทำให้มีการโยกย้ายฐานการผลิตไปประเทศที่สามารถให้ความมั่นใจว่า มีความมั่นคงปลอดภัย ความเสี่ยงต่ำและสามารถจะรักษาความต่อเนื่องของซัพพลายเชนได้ เป็นโอกาสของไทยซึ่งมีความโดดเด่นในภูมิภาคอาเซียน พร้อมรองรับการลงทุนโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง” นายนฤตม์กล่าว
นาทีทองของไทย
ส่วนแนวโน้มการลงทุนจะมี 5 ปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุนในระยะข้างหน้า ได้แก่ 1) การเมืองระหว่างประเทศ (Geopolitics)
2) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จะเห็นว่าทุกบริษัทมีเป้าเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน-Net Zero
3) การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีด้านดิจิทัล
4) โครงสร้างประชากรที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
และ 5) สุดท้ายกติกาภาษีใหม่ของโลกที่ OECD ออกมาที่บังคับว่า บริษัทที่มีรายได้เกิน 750 ล้านยูโร ต้องเสียภาษีขั้นต่ำ 15%
ซึ่งทั้ง 5 ปัจจัยนี้เป็นสิ่งที่จะกระทบกับการลงทุนในทศวรรษหน้า ซึ่งทำให้เกิดเทรนด์ 3 เรื่อง คือ การโยกย้ายฐานการผลิตและกระจายความเสี่ยง การลงทุน Green Investment การนำเทคโนโลยีด้านดิจิทัล Automation เข้ามาใช้ในกิจการมากขึ้น นำไปสู่ smart factory อันนี้เป็นเทรนด์หลักที่เกิดขึ้น
“จากนี้ไปในช่วง 3-4 ปีจะเป็นนาทีทองของประเทศไทย คือเป็นช่วงที่โลกมีการปรับโครงสร้างซัพพลายเชนครั้งใหญ่ เราต้องช่วงชิงโอกาสในการดึงการลงทุนจากการปรับโครงสร้างซัพพลายเชนครั้งนี้ให้มาอยู่ที่ประเทศไทยให้ได้ ถ้าทำสำเร็จบริษัทเหล่านี้จะอยู่กับเราไปอีกหลาย 10 ปี ช่วยสร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจหลายทศวรรษข้างหน้า”
มาตรการเร่งด่วน 3 เดือนแรก
ล่าสุด คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้เห็นชอบแผนการขับเคลื่อนการลงทุนที่เรียกว่า “5 อุตสาหกรรม 5 วาระ” เป็นแนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมระยะ 4 ปี (ปี 2567-2570) ตามยุทธศาสตร์ใหม่ที่ประกาศไป 7 พิลลาร์ ใน 9 ยุทธศาสตร์ ซึ่ง BOI ประกาศไปก่อนหน้านี้
“ในช่วง 4 ปีข้างหน้าควรจะมีการขับเคลื่อนการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกใน 5 บวก 5 ก็คือ 5 อุตสาหกรรม 5 วาระสำคัญ ประกอบด้วย อุตสาหกรรม BCG, อิเล็กทรอนิกส์, ยานยนต์ทั้ง EV และสันดาป, ดิจิทัล และการตั้งสำนักงานตัวแทนในประเทศไทย ส่วน 5 วาระประกอบด้วยอันดับแรกคือ เรื่องกรีน เรื่องการพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี การเตรียมพร้อมบุคลากรทักษะสูงหรือว่า Talent การส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบของคลัสเตอร์ และการทำให้เกิดความสะดวกในการลงทุน โดยเราจะทยอยออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ในปี 2570”
ชำแหละมาตรการ
สำหรับวาระเรื่อง BCG สิ่งที่คณะกรรมการเห็นชอบให้ทำเพิ่มเติมคือ การส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบของ Biocomplex เช่นเดียวกับที่ได้มีการลงทุน “โครงการนครสรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์” ระหว่าง GGC น้ำตาล KTIS และบริษัท Nature Works จากสหรัฐเพื่อเชื่อมโยงต้นน้ำ-ปลายน้ำ ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมเข้ามาช่วย สถาบันการศึกษาร่วม ซึ่ง BOI อยากเห็นคลัสเตอร์เกิดขึ้นในทุกภาค โดยอาศัยวัตถุดิบที่มีศักยภาพแตกต่างกัน อาจจะเป็นอ้อย, มัน, ปาล์ม ก็สามารถมาเพิ่มมูลค่าได้
“เรื่องที่จะเห็นทันทีในช่วง 3 เดือนแรกคือ การขยายขอบเขตของมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมให้ตอบโจทย์ในเรื่องการจัดการป่าชุมชนแล้วก็การลดฝุ่น PM 2.5 โดยอาศัยกลไก BOI ผลักดันให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการช่วยเรื่องนี้มากขึ้น ตอนที่ตั้งมาตรการนี้คือ เรายกเว้นให้ 3 ปี Cap วงเงินสองเท่าของเงินที่ไปช่วยชุมชน” นายนฤตม์กล่าว
ดันอีวีคู่ขนานรถสันดาป
ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ BOI ยังยึดเป้าหมายเป็นเบอร์ 1 ในอาเซียนและเป็น Top 10 ของโลก ในทุก segments โดยในส่วนรถไฟฟ้า EV ยังคงใช้นโยบาย 30@30 เมื่อมี 30% เป็น EV อีก 70% ยังเป็นการส่งเสริมรถยนต์ ICE ให้พัฒนาสู่เทคโนโลยีที่มีการลดคาร์บอนได้ดียิ่งขึ้น โดย BOI อยู่ระหว่างการพูดคุยกับค่ายรถยนต์เพื่อเตรียมออกแบบมาตรการที่เหมาะสม
“คงไม่ช้าเพราะมาตรการแพ็กเกจ 3.0 จะสิ้นสุดสิ้นปี เราฟังความเห็นทุกรายและจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง อุตสาหกรรม คลัง และกระทรวงพลังงานให้ตกผลึก เพื่อรักษาโมเมนตัมให้อุตสาหกรรมเติบโตอย่างต่อเนื่องสู่เป้าหมาย 30@30 และจะสนับสนุนให้ผู้ผลิตรายเดิมเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV หรือว่าเทคโนโลยีที่จะนำไปสู่การลด CO2”
“เราจะดูแลทั้งรถไฟฟ้า EV และรถยนต์สันดาป เพียงแต่ EV เป็นของใหม่ การสร้างฐานต้องใช้ความพยายามมากจึงให้น้ำหนักมาก ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลค่อนข้างดี 2-3 ปีที่ผ่านมาสามารถสร้างการเติบโตตลาด EV ได้ จากนี้สิ่งที่ทำเพิ่มเติม คือ การส่งเสริมการลงทุนทั้ง ecosystem เพื่อจะทำให้เกิดความต่อเนื่องของการเติบโตของอุตสาหกรรม EV ในประเทศไทย”
ส่วนการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนซัพพลายเออร์ ICE เดิมมาสู่เทคโนโลยีหรือว่าอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่น ชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์ ชิ้นส่วนอากาศยาน ชิ้นส่วนระบบ automation จะสนับสนุนให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย SMEs เข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนของ EV ให้มากที่สุด อย่างที่่ผ่านมาบริษัท EV ที่เข้ามาลงทุนในไทยทั้งเกรทวอลล์ เนต้า และ BYD ก็จัดกิจกรรมแมตชิ่งให้พบกับกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทย มีผู้เข้าร่วม 453 ราย ทาง BYD คัดเลือกเข้าร่วมเจรจา 177 ราย สามารถเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการได้กว่า 126 บริษัท เป็น SMEs 61 ราย มูลค่าการเชื่อมโยง 22,000 ล้านบาท ส่วนเนต้ามีการคัดเลือกเจรจากับ 46 บริษัทจากที่สมัครทั้งหมด 254 บริษัท เป็น SMEs 11 ราย มูลค่า 877 ล้านบาท
ผุดนิคมอิเล็กทรอนิกส์
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นฮับในภูมิภาค พัฒนาอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่ต้นน้ำ-ปลายน้ำสู่อุตสาหกรรมสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะเพิ่มมาตรการส่งเสริมในส่วนต้นน้ำเพราะไทยมีจุดแข็งที่กลางน้ำ-ปลายน้ำ โดยจะทำให้เกิดโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ สร้างคนที่เป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรม เตรียมจัดตั้ง “นิคมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ” ที่มีแหล่งน้ำและพลังงานสะอาดเตรียมพร้อม infrastructure เพื่อรองรับอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำโดยเฉพาะ พาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ ต่อจากจุดแข็งส่วนกลางน้ำที่ประเทศไทยมีทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์จำเป็นต้องใช้ชิป Data center หรือว่า energy storage
ฮับดิจิทัล-ดึงคนเก่ง
อุตสาหกรรมดิจิทัลและครีเอทีฟ BOI วางเป้าหมายจะเป็นศูนย์กลางด้านนี้ในอาเซียนแนวทางก็คือ การดึงการลงทุน Hyperscale data center แล้วก็ cloud service มาตั้งในประเทศไทยให้มากขึ้น ที่ผ่านมาเรามี Amazon Web Service (AWS) ที่ประกาศลงทุนในไทยเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ แล้วก็คงทราบกันดีว่าจากท่านนายกฯได้พบกับ Google Microsoft เพื่อชวนให้มาลงทุนในประเทศไทยด้วย
อีกด้านคือการทำให้ไทยเป็น “ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ” ในช่วง 4 ปีข้างหน้า จะชักจูงบริษัทชั้นนำไม่น้อยกว่า 100 ราย ให้มาตั้งฐาน Reginal head quarter (RHQ) จ้างงานโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10,000 คน แนวทางคือ มุ่งไปที่บริษัทที่มีฐานผลิตในไทยก่อน ร่วมงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมสรรพากร จัดทำระบบ HQ BIZ Portal เพิ่มข้อมูลที่น่าสนใจในการลงทุนและนำออกแบบมาตรการสนับสนุนที่เชื่อมโยงกัน เช่น Long-Term Resident Visa (LTR) ที่ให้สิทธิพิเศษภาษีแค่ 17% การรายงานตัวจากทุก 90 วัน ก็ให้ 1 ปี
อาวุธใหม่ พลังงานสะอาด
ในส่วนของวาระเรื่อง Green นั้นถือเป็นวาระที่สำคัญที่สุด ตอนนี้บริษัทชั้นนำต่าง ๆ ทั่วโลกมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) และลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) สิ่งที่ BOI จะทำเพิ่มคือ จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อออกมาตรการสนับสนุนการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต รวมถึงการผลักดันสร้างกลไกการให้บริการพลังงานสะอาดด้วย
“ทราบดีว่า หลายบริษัทมีเป้าหมายการใช้พลังงานสะอาดถึงขนาดที่ต้องใช้พลังงานสะอาด 100% ในกิจการภายในปีที่กำหนดเลย ฉะนั้นเรื่องนี้จะเป็นอาวุธใหม่ของประเทศไทย คือถ้าเราสามารถมีกลไกทำให้นักลงทุนมั่นใจได้ว่ามาตั้งฐานในเมืองไทยแล้วเราจะสามารถจัดหาพลังงานสะอาดให้กับภาคธุรกิจได้จะเป็นอาวุธใหม่ในการดึงดูดการลงทุนของประเทศไทย” นายนฤตม์กล่าว
ส่วนวาระการพัฒนาเทคโนโลยี จะใช้เป้าหมายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ว่า จะสร้างบริษัทที่ใช้ Innovation Driven Enterprise (IDE) 1,000 บริษัทให้มียอดขาย 1,000 ล้าน โดยสิ่งที่ทำเพิ่มเติมคือ จะออกมาตรการที่ส่งเสริมให้เกิดการเอาผลงานวิจัยที่ภาครัฐหรือว่าเอกชนทำร่วมกับรัฐเข้ามาช่วยต่อยอดเชิงพาณิชย์ จะออกมาตรการส่งเสริมให้เกิดการตั้ง R&D center ในไทยมากขึ้น จะดึง Incubator (ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ) ระดับโลกให้มาตั้งฐานในเมืองไทย เพื่อปั้นสตาร์ตอัพไทยและสนับสนุน deep tech โดยผ่านกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
ส่วนเรื่อง Talent เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรม จะใช้กลยุทธ์ทั้งสร้าง (Build) และซื้อ (Buy) จากสิ่งที่ทำเพิ่มเติมคือ จะเปิดส่งเสริมกิจการศูนย์ช่วย recruit Talent จากทั่วโลกเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยและจะให้วีซ่า-ใบอนุญาตทำงาน การทำโปรแกรม Upskill-Reskill ระยะสั้นหลักสูตรเข้มข้น BOI จะใช้เงินกองทุนเพิ่มขีดความสามารถไปช่วยซัพพอร์ตสำหรับการเทรนนิ่งกลุ่มนี้ด้วย
ที่ผ่านมา BOI มีมาตรการส่งเสริม “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ให้กิจการสถานฝึกฝนวิชาชีพและ “ยกเว้น” ภาษีให้บริษัทแม่ 5 ปี สำหรับบริษัทที่ตั้งสถาบันการศึกษาและพัฒนาบุคลากร และกรมสรรพากรช่วยหักลดหย่อนภาษีช่วยประมาณ 1.5 -2.5 เท่า สำหรับองค์กรที่ช่วยเรื่องการอบรมบุคลากร
นอกจากนี้ BOI ตั้งเป้าว่า อยากจะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่เป็น cluster base BOI จะมี Top up incentives ให้ ซึ่งยังต้องหารือกันเพราะมาตรการนี้อาจจะใช้เวลามากกว่า 3 เดือน โดยจะเชื่อมโยงกับ เขตเศรษฐกิจชายแดน ที่มีทั้งจังหวัดสระแก้ว ตาก และสงขลา เพื่อกระจายการลงทุนให้ทั่วถึง คือไม่ให้กระจุกแค่ภาคตะวันออกและภาคกลาง
สุดท้ายเป็นเรื่องการอำนวยความสะดวกการลงทุน (Ease of Investment) สิ่งที่จะทำเพิ่มเติมคือ จะปรับหลักเกณฑ์และกระบวนงานของ LTR และ Smart Visa ให้มีความดึงดูดกลุ่ม Talent ยิ่งขึ้นและจะปรับกระบวนการอนุมัติให้สะดวกรวดเร็วขึ้น โดยตั้งทีมเพื่อทำเรื่องนี้แล้วก็จะจับมือกับคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) แล้วก็หน่วยงานต่าง ๆ ในการลดอุปสรรคของภาคธุรกิจ