นายกฯเศรษฐา ถกนักธุรกิจจีน โชว์แพ็กเกจบีโอไอ หนุนลงทุน EV

นายกฯพบนักธุรกิจจีน โชว์แพ็กเกจลงทุนรถยนต์ EV

วันแรกในจีน นายกรัฐมนตรี ดึงนักธุรกิจ-รัฐวิสาหกิจจีนที่ผลิตอุปกรณ์ขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดในโลก เชิญชวนลงทุน 5 อุตสาหกรรมหัวหอก-รถยนต์ EV

วันที่ 17 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ในการเข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Coperration-BRF) ครั้งที่ 3 และการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 16-19 ตุลาคม 2566 ตามคำเชิญของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน

เมื่อเวลา 09.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปักกิ่ง Mr. Zhu Hexin, Chairman CITIC Group Corporation เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี โดย CITIC เป็นบริษัทใหญ่ของจีนที่ดำเนินธุรกิจ ทั้งในส่วนของการบริการทางการเงินแบบครบวงจร และใช้เทคโนโลยีระดับสูง กลุ่ม CITIC ได้รับการจัดอันดับอยู่ใน Fortune’s Global 500 เป็นเวลา 15 ปีติดต่อกันนับตั้งแต่ปี 2552 และอยู่ในอันดับที่ 100 ในปี 2566 โดย CITIC สนใจลงทุนใน PPP Projects ขนาดใหญ่ของไทย มีความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนในไทยในหลากหลายธุรกิจ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขอเชิญชวนให้ CITIC มาร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสาตร์ 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมกลุ่ม BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy (โดยเฉพาะเกษตร อาหาร การแพทย์ และพลังงานสะอาด) อุตสาหกรรมยานยนต์ (โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (โดยเฉพาะต้นน้ำและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ) อุตสาหกรรมดิจิทัลและสร้างสรรค์ และการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ตลอดจนเชิญชวนให้มาตั้ง Regional Headquarter โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่

ขณะที่ฝ่ายบริษัท CITIC ระบุว่า มีความประสงค์ขยายความร่วมมือกับไทยในอีกหลายด้าน บริษัทมีธุรกิจครอบคลุมและมีบริษัทในเครือจำนวนมาก และมีศักยภาพการแข่งขันระดับโลก รวมทั้งด้านพลังงานสะอาดที่ไทยสนใจ ไทยและ CITIC จะร่วมมือกันเพื่อต่อยอดและให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยความเชื่อมั่นและความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล บริษัทต้องการขยายความร่วมมือและการลงทุนในไทย โดยเฉพาะสาขาที่ไทยสนใจ เช่น พลังงานสะอาด การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม

Advertisment

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขอชวนมาขยายธุรกิจด้านการเงินในไทย ซึ่ง CITIC มีธุรกิจเกี่ยวข้องการเงินอยู่ด้วยแล้ว เช่น บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ มีใบอนุญาตทางการเงินการธนาคารครบถ้วนและอยู่ในอันดับต้น ๆ ในจีน จึงมีศักยภาพที่จะลงทุนในไทยได้ จะได้หารือในขั้นตอนต่อไป โดยไทยส่งเสริมการผลิตรถยนต์ EV

“จึงขอเชิญบริษัทเข้ามาลงทุนลักษณะ supply chain เช่น ล้อแม็ก ให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยไทยสนับสนุนมาตรการและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนที่น่าสนใจด้วยมาตรการของ BOI และเพื่อการพัฒนาขอเสนอให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันการลงทุนในไทยให้เกิดผล” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังหารือกับนาย Zhu Hexin, Chairman บริษัท CITIC แล้ว วันเดียวกันนี้ นายกรัฐมนตรีจะหารือกับนาย Sun Yongcai, Chairman บริษัท CRRC Group ดำเนินธุรกิจด้านขนส่งทางราง

จากนั้นหารือกับนาย Xie Yonglin, Executive Director, President and Co-CEO บริษัท Ping An Group ดำเนินธุรกิจประกันภัย, หารือนาย Alain Lam, Vice President, CFO บริษัท Xiaomi ดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยี อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

Advertisment

ต่อด้วยการหารือกับนาย Fan Jiang, CEO บริษัท Alibaba International Digital Commerce Group ดำเนินธุรกิจ e-Commerce และการหารือกับผู้บริหารบริษัท Norinco ดำเนินธุรกิจด้านด้านยุทโธปกรณ์

จากนั้นเวลา 10.00 น.  Mr. Yongcai Sun, Chairman and Executive Director, CRRC Group เข้าเยี่ยมคารวะ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี โดย CRRC Group เป็นรัฐวิสาหกิจจีนที่ผลิตอุปกรณ์ขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสายการผลิตและบริการแบบครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา ออกแบบ การซ่อมแซม และให้บริการทางเทคนิค ซึ่ง CRRC ได้ทุ่มเทเวลาในการสร้างเครือข่ายและขยายธุรกิจไปสู่ขอบเขตที่กว้างขวาง อาทิ การพัฒนาเมืองสีเขียว และพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

โดยผู้บริหารบริษัท CRRC กล่าวขอบคุณรัฐบาลที่สนับสนุน และช่วยเหลือการลงทุน มีความร่วมมือกันมายาวนาน บริการผลิตเครื่องจักรรถไฟที่หลากหลาย สำหรับรถไฟทุกแบบ ครบวงจร พร้อมถ่ายทอดความรู้และทักษะเทคโนโลยีระบบราง ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถไฟรายใหญ่สุดของจีน และมีการเติบโตสูงต่อเนื่อง ทางบริษัทสนใจลงทุนในประเทศไทยในส่วนที่มีศักยภาพ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวเชิญชวนว่า มีโอกาสอย่างมากในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงในสาขาที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ได้แก่ BCG Economy พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุนการลงทุนของบริษัท เพื่อประโยชน์ร่วมกันและเชื่อมั่นว่าบริษัทจะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบรางในไทย แบบครบวงจร สร้างมูลค่าและคุณค่าควบคู่กัน และยินดีร่วมพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รวมทั้งรถไฟเพื่อการขนส่งอื่น ๆ ด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยให้ความเชื่อมั่นต่อการลงทุนจากต่างประเทศด้วยระบบสาธารณูปโภคครบครัน และสิทธิพิเศษการลงทุน จึงอยากเชิญชวนมาตั้งโรงงานในไทย ควบคู่กับการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ไทย ไทยพร้อมด้านแรงงาน และ healthcare ที่จะดูแลนักลงทุน

นอกจากนี้ยังมีความต้องการหัวจักรรถไฟจำนวนมาก สำหรับการขนส่งทางรถไฟของไทย โดยไทยเสนอให้บริษัท CRRC มองภาพระยะยาวการลงทุนในไทย ที่จะดีและเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ อาจพิจารณาตั้งเป็น 2nd Hub ในไทย ทั้งนี้ สำหรับโครงการ Landbridge เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค เพื่อการขนส่งด้านพลังงาน และสินค้า เพื่อย่นระยะเวลาและประสิทธิภาพการขนส่ง สามารถขนส่งไปที่ต่าง ๆ ของโลกได้ง่ายขึ้นมาก

ด้านบริษัท CRRC เปรียบนายกฯ เป็นหัวจักรสำคัญที่จะขับเคลื่อนทั้งการพัฒนาระบบการขนส่งและการพัฒนา ที่จะสำเร็จด้วยดี จึงมีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งต่อศักยภาพของไทยที่จะเป็น hub การขนส่งระบบราง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายทางบริษัทเชิญนายกฯไปทดลองนั่งรถไฟความเร็วสูงด้วยตนเอง

ทั้งนี้ กำหนดการที่น่าสนใจนอกจากพบภาคเอกชนของจีนแล้ว นายกรัฐมนตรีจะได้พบกับ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ในเวลา 17.00 นาฬิกา