พีทีรุกเพิ่มสถานีชาร์จ ปรับโมเดลใหม่บริการครบวงจร

PTG เปิดแผนปี’67 เล็งผุดสถานีชาร์จอีวีครบวงจรเกือบ 100% นำร่อง 2 ทำเล พร้อมตั้งเป้ายอดขายน้ำมันโต 10-12% ลุยขยายสาขาปั๊มน้ำมัน ปั๊มรายได้ธุรกิจน็อนออยล์ Auto LPG-Gas Shop และกาแฟพันธุ์ไทย แง้มเตรียมปิดดีล 2-3 ดีล “ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม” หลังทุ่มลงทุนไป 1.3 พันล้านบาทในไตรมาส 1

นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2567 บริษัทปรับแผนขยายการลงทุนสถานีให้บริการจุดชาร์จอีวีร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EleX by EGAT) เพิ่มอีก 200 สถานี (400 หัวชาร์จ) จากปี 2566 ที่มี 50 สถานี รวมเป็น 250 สาขา

พิทักษ์ รัชกิจประการ
พิทักษ์ รัชกิจประการ

“เหตุผลที่เร่งเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จเพิ่มขึ้น เพราะจำนวนรถที่เข้าชาร์จในสถานีปัจจุบัน เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และ 2) เราเห็นว่าในช่วงปีใหม่มีปัญหาเยอะในเรื่องการรอคิวชาร์จ และมีปัญหากันในช่วงปีใหม่ ซึ่งเราก็ยังไม่รู้ว่าจะมีปัญหาอีกหรือไม่ในช่วงสงกรานต์ ดังนั้นเราจะเร่งเพิ่มให้เป็น 250 สาขา ทั้งยังได้ออกแบบสถานีชาร์จโมเดลใหม่ให้เป็นสถานีบริการอีวีครบวงจรเต็มรูปแบบ แบบมีส่วนเสริมเป็นบริการน้ำมันนิดหน่อย เป็นติ่งติดไว้ เพราะผมยังเชื่อว่าถึงอย่างไรการใช้น้ำมันยังไม่หมด อีก 7-10 ปี ตระกูลเบนซินไปก่อน ส่วนตระกูลดีเซลจะช้ากว่า แต่ถึงจะให้มาอย่างไรก็ ไม่มีทางหมด”

“รูปแบบสถานีบริการต้องเตรียมช่องชาร์จกี่ช่องชาร์จและต้องใช้กำลังไฟฟ้าเท่าไร เท่าที่ประเมินหากให้บริการรถบรรทุก คาดว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าเป็นเมกะวัตต์ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ต้องเตรียมพร้อมหารือร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยจะต้องเป็นสถานีที่เข้าไปอยู่ใกล้ ๆ การไฟฟ้า เพื่อป้องกันไฟฟ้าไม่เพียงพอ นอกจากเรื่อง Physical จะมีการทำแอปพลิเคชั่นเพื่อให้บริการด้วย”

ส่วนเป้าหมายปี 2567 บริษัทยังคงประมาณการเติบโตของปริมาณการจำหน่ายน้ำมันไว้ที่ 10-12% จากปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจไทย การขยายตัวจากมาตรการยกเว้นวีซ่าให้นักท่องเที่ยว และการขยายระยะเวลาพำนักสำหรับฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยว โดยบริษัทยังคงวางเป้าการขยายสถานีบริการปี 2567 ที่ 2,251 สถานี ส่วนธุรกิจ Nonoil วางเป้าเติบโต 40-50% แบ่งเป็น LPG 30-40%

โดยจะขยายสถานีบริการ Auto LPG และ Gas Shop เป็น 788 สาขา จากเดิมที่มีอยู่ 573 สาขาในปี 2566 ร้านกาแฟพันธุ์ไทยเป้าขยาย 400 สาขา ในย่านธุรกิจกำลังซื้อสูง หัวเมืองเศรษฐกิจ ศูนย์การค้า สถานที่ราชการ โรงพยาบาล และมหาวิทยาลัย นอกจากนี้จะขยาย Touchpoints 961 เพิ่มขึ้น 329 Touchpoints

“ปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจขณะนี้ยังรอผลสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายต่าง ๆ ทั้งค่าการตลาด การปรับลดสูตรน้ำมันไบโอดีเซล รวมถึงเรื่องการจำหน่ายน้ำมันยูโร 5 ซึ่งทางสถานีบริการก็มีการจัดจำหน่ายปกติเช่นเดียวกันทุกแห่ง โดยขณะนี้เตรียมพร้อมปรับเปลี่ยนหัวจ่ายแล้ว คาดว่าจะเริ่มได้วันที่ 1 พ.ค. 2567 แต่ยอมรับว่ามีต้นทุนจากน้ำมันยูโร 5 ที่ถูกผลักมาที่สถานีบริการบางส่วนประมาณ 10 -15 สตางค์/ลิตรเราต้องแบกรับไว้ไม่สามารถส่งผ่านไปที่ผู้บริโภคได้”

สำหรับภาพรวมการดำเนินงานปี 2566 มีกำไรสุทธิ 966 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้รวม 198,811 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากธุรกิจ Oil รายได้ 185,123 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.9% จากปริมาณการจำหน่ายน้ำมันของปี 2566 ผ่านทุกช่องทางเติบโต 12.1% ปริมาณ 5,960 ล้านลิตร นับเป็นสถิติที่สูงที่สุดได้อีกครั้ง นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท และสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันผ่านช่องทางสถานีบริการได้กว่า 20%

ในส่วนของธุรกิจ Nonoil มีรายได้เติบโต 44.4% จากธุรกิจก๊าซ LPG 8,350 ล้านบาท เติบโต 46.3% ธุรกิจกาแฟพันธุ์ไทยเติบโต 54.1% ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้จ่ายเงินปันผล งวดปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.35 บาท รวมเป็นเงินปันผลทั้งสิ้นไม่เกิน 584.5 ล้านบาท และกำหนดวันจ่ายเงินปันผล ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 โดยการใช้สิทธิดังกล่าวต้องรอการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ในวันที่ 26 เมษายน 2567

นายรังสรรค์ พวงปราง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่า ตอนนี้บริษัทกำลังออกแบบและหาพื้นที่สถานีชาร์จอีวี 100% สิ่งนี้ต้องมีการออกแบบ ไม่ใช่จะไปตั้งที่ไหนก็ได้ ต้องดูระหว่างเมืองที่มีอัตราการใช้สูง เช่น 2-3 ที่ ต้องเมืองใหญ่ เช่น นครราชสีมา คือ มีสถานีชาร์จและมีพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่ให้คนที่มาใช้บริการสามารถพักใช้บริการอื่น เช่น มีกาแฟพันธุ์ไทย หรือร้านอาหารอื่น เพราะเท่าที่ดูพฤติกรรมการใช้บริการ คันหนึ่งจะใช้เวลาชาร์จที่ 30-45 นาทีโดยประมาณ พื้นที่แห่งหนึ่งน่าจะไม่ต่ำกว่า 2 ไร่ ซึ่งงบฯลงทุนในแต่ละสถานีนั้นขึ้นอยู่กับค่าที่ดิน เพราะเฉพาะหัวจ่ายคาดว่าจะใช้เงินลงทุนแห่งละ 2 ล้านบาท อีก 200 สาขารวม 800 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมการลงทุน 5,000-6,000 ล้านบาท ซึ่งเฉพาะในช่วงต้นปีนี้ บริษัทได้ลงทุนไปแล้ว 1,300 ล้านบาท ในการร่วมทุนกับ บริษัท ไพศาล แคปปิตอล จำกัด 825 ล้านบาท และโครงการวัตถุดิบสำหรับโรงไฟฟ้าขยะกับ บริษัท ไทยไพบูลย์ อีควิปเม้นท์ จำกัด อีก 103 ล้านบาท เฟสแรก การจัดการกระบวนการเสร็จก็ลงภายในปีนี้และทยอยลงทุนเฟสที่เหลืออีก 400 ล้านบาท ให้ครบในปี 2568 ซึ่งทำให้งบฯลงทุนในส่วนของน็อนออยล์ เหลืออีก 2,000 ล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาหาข้อสรุปในดีล 2-3 ดีล จะเป็นธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม

“การลงทุนนี้เป็นไปตามเป้าหมาย เพิ่มสัดส่วนธุรกิจน็อนออยล์ให้ได้ 30% ในปี 2568 นอกจากธุรกิจนี้แล้ว บริษัทยังลงทุนโรงไฟฟ้าเริ่มเดิน ปัจจุบัน 4.5 เมกะวัตต์ แต่ขณะนี้มีอยู่ออนแฮนด์ที่เข้ามาเสนอ 30-40 เมกะวัตต์ แต่ไม่ได้เน้นเรื่องนี้ เพราะคิดว่าต่อไปจะเหมือนกับชีวมวล และธุรกิจน็อนออยล์มากพอสมควร”

ในส่วนของภาพรวมปีนี้ ยอดขายน้ำมันน่าจะเติบโต 10-20% ปัจจัยที่ส่งผลต่อธุรกิจคือ นโยบายพลังงาน ถ้าเกิดเข้ามาอิงประชานิยมมาก จะกระทบทุกภาคส่วนในระยะยาว การตรึงดีเซลต้องคลายตัวนิดหนึ่ง ต้องบาลานซ์สมดุลรัฐ เอกชน ถ้าอิงประชาชนอย่างเดียว ประชาชนก็จะอ่อนแอรอความช่วยเหลือ รัฐแบกอ่วม ต้องบาลานซ์ เพดานดีเซลขยับได้ 32 บาท เพื่อผ่อนคลาย พยายามให้ทุกฝ่ายไปด้วยกันให้ได้หมด