เปิดรายชื่อ ข้าวพันธุ์ใหม่ 10 สายพันธุ์ ปี 2567

ข้าวพันธุ์ใหม่

กรมการข้าว เตรียมคลอดข้าว 10 สายพันธุ์ใหม่ “ข้าวสาลี” แรกในรอบ 10 ปี เสริมความแข็งแกร่งให้เกษตรกรไทย เดินหน้ารุกตลาดข้าวโลก พันธุ์ข้าวไทยไม่แพ้เวียดนาม ด้านเอกชนเฮ รัฐปักหมุนแรกหนุนอุตสาหกรรมข้าว พร้อมเสนอเพิ่มการบริโภคข้าวในประเทศ-พัฒนาข้าวเพื่อสุขภาพ

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการแถลงข่าวประชาสัมพันธ์และเผยแพร่สายพันธุ์ข้าวที่เตรียมรับรองพันธุ์ใหม่ของกรมการข้าว ปี 2567 โดยมีนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เข้าร่วม

ร้อยเอกธรรมนัสเปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญกับงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว จึงได้มอบหมายให้กรมการข้าว วิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องชาวนาในทุกมิติ ซึ่งกรมการข้าวมีการวางแผนการรับรองพันธุ์ข้าวในทุกปี อย่างน้อยปีละ 4-5 พันธุ์ โดยพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ที่จะรับรองพันธุ์นั้นต้องเร่งรัดงานวิจัยพัฒนาให้สามารถทนแล้งและทนน้ำท่วมได้ในพันธุ์เดียวกัน อีกทั้งมีความเหมาะสมในการปลูกแต่ละพื้นที่ในประเทศไทย ตลอดจนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้มีโอกาสแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า

ปล่อยข้าวไทย 10 สายพันธุ์ เสริมทัพเกษตรกรไทย

นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ในปีนี้กรมการข้าวได้รับรองพันธุ์ข้าวที่มีความหลากหลายพันธุ์มากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลือกปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง และตามความสนใจของผู้บริโภค

โดยข้าวที่จะรับรองพันธุ์ทั้ง 10 สายพันธุ์ มีความหลากหลายประเภท ทั้งข้าวขาวพื้นนุ่ม ขาวขาวพื้นแข็ง ข้าวหอมไทย ข้าวเหนียว ข้าวญี่ปุ่น ข้าวพื้นเมือง และข้าวสาลี โดยเฉพาะข้าวสาลีที่ถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่ไทยได้ประกาศสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งข้าวแต่ละประเภทจะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันตามการนำไปใช้ประโยชน์ เพิ่มขึ้นปัจจุบันที่พัฒนาไปแล้วมากว่า 157 สายพันธุ์ และมีสายพันธุ์ข้าวที่หมุนเวียนในตลาดจำนวน 22 สายพันธุ์

“การแข่งขันในต่างประเทศนั้น ข้าวไทยไม่แพงใครในโลก แม้ว่าที่ผ่านมา อายุของข้าวที่ปลูกของต่าประเทศจะสั้นกว่าของเรา 1 สัปดาห์ แต่ผมว่า ณ วันนี้ไม่ได้แตกต่างกันมาก รวมถึงคุณภาพการหุงต้มและคุณภาพการผลิตต่อไร่ของเราก็ดีกว่า ซึ่งเราสามารถทำได้โดยไม่ต้องพึ่งวิทยาการสมัยใหม่

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า

แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องใช้ระยะการปรับปรุงพันธุ์ยาวนาน 8-10 ปี ซึ่งปีนี้ก็ได้ส่งนักวิจัยจำนวน 18 คน ไปศึกษาการวิจัยแบบสมัยใหม่ที่ประเทศจีนและประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อมาปรับปรุงกระบวนการพัฒนาสายพันธ์ุข้าว รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งทุนทรัพย์ เครื่องมือ ห้องทดลองและห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งสามารถลดระยะเวลาการพัฒนาพันธุ์ลงได้เหลือ 2-3 ปี เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพและสามารถกระจายให้พี่น้องเกษตรกรตามภารกิจหลักของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้กรมการข้าวเป็นผู้ดำเนินการ”

นอกจากนี้เตรียมหารือกับนายกสมาคมผู้ส่งออกเพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวไปประกวด ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้ตั้งชื่อของแต่ละสายพันธุ์ แต่คาดว่าไม่เกิน 15 มีนาคม 2567 จะประกาศรายชื่อพันธุ์ออกมา และเตรียมขยายพันธุ์เพิ่มอีก 6-7 สายพันธุ์ในปี 2568 โดยจะคละกันทุกประเภท ส่วนงบการวิจัยน่าจะอยู่ประมาณ 100-200 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

“วันนี้เรามีเมล็ดพันธุ์แต่ละสายพันธุ์ประมาณ 4 ตัน ซึ่งจะได้ผลผลิตอย่างน้อยสายพันธุ์ละ 40 ตัน รวมแล้วจะมีผลผลิตข้าว 1,600 ตัน โดยจะเริ่มจำหน่ายให้กับพี่น้องเกษตรกรประมาณช่วงกันยายน-ตุลาคม ไม่ต้องรอถึง 2 ปีแค่ฤดูกาลเดียวก็ได้ใช้แล้ว ขณะนี้ก็มีบางตัวที่เริ่มลงแปลงข้าวไปแล้ว หรือรอการเก็บเกี่ยวบ้างก็มีเพื่อที่จะได้ขยายพันธุ์ไป โดยพี่น้องเกษตรกรสามารถซื้อผ่านตัวแทนจำหน่ายของกรมการข้าว ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน หรือทางเว็บไซต์ของกรมการข้าว

ขณะนี้ก็มีบางตัวที่เริ่มลงแปลงข้าวไปแล้ว หรือรอการเก็บเกี่ยวบ้างก็มีเพื่อที่จะได้ขยายพันธุ์ไป ปีหน้า 6-7 พันธุ์ ให้ผลผลิตสูงและทดทานต่อโรคและแมลง กระจาย 100 กว่าล้าน อว.เป็นผู้พิจารณา

พันธุ์ข้าวไทยสู้เวียดนาม

พันธุ์ข้าวจากเวียดนามที่ปลูกในไทยส่วนใหญ่เป็นการลักลอบนำเข้ามา ซึ่งจะได้ผลผลิตน้อยกว่าพันธุ์ข้าวของกรมการข้าว อย่างเมื่อไม่นานมานี้ก็ได้มีพี่น้องเกษตรกรบางส่วนร้องเรียนเรื่องผลผลิตว่าปลูกไปแล้ว 22 ไร่ แต่กลับได้ปริมาณข้าวเพียง 4 ตัน

รวมถึงเมื่อข้าวออกรวงได้ที่ ขั้วของพันธุ์ข้าวเวียดนามจะไม่เหนียวทำให้เวลาเก็บเกี่ยวข้าวจะร่วง เนื่องจากสภาพอากาศของบ้านเราและเวียดนามแตกต่างกัน ที่เวียดนามอากาศจะมีความหนาวเย็น ขณะที่อากาศบ้านเราจะแปรปรวน ร้อนแล้วก็แล้งหรือไม่ก็น้ำมาก ซึ่งเมล็ดพันธุ์ข้าวเวียดนามที่ลอบนำเข้านี้ไม่ได้ผ่านการทดสอบกับสภาพอากาศเหมือนพันธุ์ของกรมการข้าวที่มั่นใจได้ว่าขั้วของข้าวจะต้องเหนียว ซึ่งนี่คือปัญหาในการปลูก

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า

ทว่า ทำไมเกษตรกรไทยจะต้องปลูกข้าวเวียดนามด้วย นั่นเพราะปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยา หรือกลุ่มลานมันขายเมล็ดพันธุ์ให้ก็ต้องรับซื้อ พอเขาปล่อยสินเชื่อไปก็จำเป็นต้องซื้อเพราะส่วนหนึ่งเขาต้องเอามาผสมกับเมล็ดพันธุ์ข้าวไทยขายอยู่แล้ว แม้ข้าวเวียดนามจะนุ่ม แต่คุณภาพไม่ดีเท่าเพราะท้องไข่ค่อนข้างเยอะ ที่ข้าวเวียดนามฮิตเพราะคนไทยเริ่มหันมากินข้าวนิ่มจากเดิมที่นิยมกินข้าวแข็ง โชคดีที่กรมการข้าวได้พัฒนาพันธุ์ข้าวนุ่มไว้บ้าง อาทิ พันธุ์คลองหลวง 72

เอกชนปลื้ม ปักหมุดหนุนอุตสาหกรรมข้าว

นายยงยุทธ พฤกษ์มหาดำรง นายกสมาคมข้าวถุงไทย กล่าวว่า การพัฒนาสายพันธุ์ในครั้งนี้ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของอุตสาหกรรมข้าวไทยและการแข่งขันในต่างประเทศ เพราะเมื่อปีที่ผ่านมา อินเดียผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกประกาศลดการส่งออกลง ทำให้การส่งออกข้าวของไทยเพิ่มขึ้น หากไทยพัฒนาศักยภาพพันธุ์ข้าวก็จะเป้นจุดสำคัญและจุดเปลี่ยนที่ทำให้ข้าวไทยไปตลาดโลก

นอกจากนี้ควรจะสนับสนุนให้คนไทยหันมารับประทานข้าวกันเพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจุบันคนไทยบริโภคข้าว 70 กิโลกรัมต่อคนต่อปี จากเดิมที่ 100 กิโลกรัมต่อคนต่อปี จึงต้องอาศัยความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อประชาสัมพันธ์หลักโภชนาการและกระตุ้นให้คนไทยหันมาบริโภคข้าวกันมากขึ้น ส่วนกระทรวงเกษตรในอนาคตควรพัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อสุขภาพ เช่น ข้าวที่มีน้ำตาลน้อย ข้าวที่มีโปรตีนสูง ซึ่งตอนนี้กำลังเป็นที่นิยมในตลาด เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมข้าวไทยและสนับสนุนการแข่งขันในระดับโลก

เปิดรายชื่อ 10 ข้าวพันธุ์ไทยใล่าสุด

1.ข้าวสายพันธุ์ กข103 (หอมชัยนาท 72) เป็นข้าวหอม ไวต่อช่วงแสง ให้ผลผลิตสูงและมีเสถียรภาพดี โดยให้ผลผลิต 596 กิโลกรัมต่อไร่ และมีศักยภาพให้ผลผลิตได้สูงสุด 875 กิโลกรัมต่อไร่ นอกจากนี้ยังค่อนข้างต้านทานต่อโรคไหม้ และโรคขอบใบแห้งในเขตภาคกลาง

ซึ่งเหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาอาศัยน้ำฝนในเขตภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง ทั้งในพื้นที่ลุ่มและที่ดอน แต่มีข้อระวังคือ ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคไหม้และอ่อนแอต่อโรคขอบใบแห้งในเขตภาคเหนือตอนล่าง โดยเฉพาะจังหวัดพิษณุโลก รวมถึงค่อนข้างอ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและเพลี้ยกระโดดหลังขาว

2.ข้าวเจ้าสายพันธุ์ กข109 (หอมคลองหลวง 72) เป็นข้าวเจ้าพื้นนุ่ม ไม่ไวต่อช่วงแสง มีศักยภาพการให้ผลผลิต 957 กิโลกรัมต่อไร่ โดยให้ผลผลิตเฉลี่ย 780 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อข้าวสุกจะมีกลิ่นหอม เนื้อสัมผัสค่อนข้างเหนียวและนุ่ม เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับเกษตรกรใช้ปลูก ในพื้นที่นาชลประทานภาคกลางภาคเหนือตอนล่าง และภาคเหนือตอนบนที่เป็นพื้นที่ส่งเสริมให้ปลูกข้าวหอมไทย แต่ค่อนข้างอ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล อ่อนแอต่อโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง

3.ข้าวเจ้าสายพันธุ์ กข111 (หอมพัทลุง 72) เป็นเจ้าหอมพื้นนุ่ม ไม่ไวต่อแสง โดยให้ผลผลิตเฉลี่ย 598 กิโลกรัมต่อไร่และมีศักยภาพการให้ผลผลิตสูง 1,086 กิโลกรัมต่อไร่ เหมาะสำหนับปลูกในพื้นที่นาชลประทานภาคใต้ แต่มีข้อควรระวัง คือ อ่อนแอต่อโรคไหม้ ขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ควรหลีกเลี่ยงการปลูกพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไหม้ ขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเป็นประจำ

4.ข้าวสายพันธุ์ กข105 (เจ้าพระยา 72) ข้าวเจ้าพื้นแข็ง ไม่ไวต่อแสง ให่ผลผลิตสูง (เฉลี่ย 870 กิโลกรัมต่อไร่) และมีศักยภาพให้ผลผลิต 1,176 กิโลกรัมต่อไร่ เหมาะแก่การเพาะปลูกในพื้นที่นาชลประทานภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง โดยค่อนข้างต้านทานโรคขอบใบแห้งและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล  แต่อย่างไรก็ตามค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคไหม้

5.ข้าวสายพันธุ์ กข107 (พิษณุโลก 72) ข้าวเจ้าพื้นแข็งหอม ไม่ไวแสง มีศักยภาพให้ผลผลิต 1,070 กิโลกรัมต่อไร่ ทนน้ำท่วมฉับพลันปานกลาง พื้นที่แนะนำ เหมาะกับพื้นที่นาชลประทานในเขตภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง และค่อนข้างต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล แต่อ่อนแอต่อโรคไหม้ โรคขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดหลังขาว

6.ข้าวสายพันธุ์ กข24 (สกลนคร 72) เป็นข้าวเหนียวไวต่อแสงลำต้นเตี้ย ต้านทานการหักล้มได้ดี ให้ผลผลิตเฉลี่ย 663 กิโลกรัมต่อไร่ และมีศักยภาพการให้ผลผลิตสูงสุด 1,002 กิโลกรัมต่อไร่ แนะนำให้ปลูกในพื้นที่นาน้ำฝนภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีการระบาดของโรคไหมแต่ปลูกได้เฉพาะฤดูนาปี โดยสามารถต้านทานต่อโรคไหม้ในระยะกล้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่อ่อนแอต่อโรคไหม้คอรวง ขอบใบแห้ง แมลงบั่ว และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

7.ข้าวเหนียวสายพันธุ์ กข26 (เชียงราย 72) เป็นข้าวเหนียวไม่ไวต่อแสง ให้ผลผลิตเฉลี่ย 780 กิโลกรัมต่อไร่ ศักยภาพการให้ผลผลิต 1,152 กิโลกรัมต่อไร่ เหมาะกับพื้นที่นาชลประทานภาคเหนือตอนบน สามารถต้านทานต่อโรคไหม้ระยะกล้าในภาคเหนือตอนบน แต่อ่อนแอต่อโรคไหม้คอรวง ขอบใบแห้ง แมลงบั่ว เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและเพลี้ยกระโดดหลังขาว

8.ข้าวเจ้าสายพันธุ์หอมหัวบอน 35 (กระบี่ 72) เป็นข้าวไร่ ไวต่อช่วงแสง มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย คือ Gamma Oryzanol และ Total antioxidant ค่อนข้างสูง เหมาะกับการปลูกในสภาพไร่แซมยางพาราและปาล์มน้ำมันที่ปลูกใหม่ อายุ 1-3 ปี ในภาคใต้ แต่มีข้อจำกัดอ่อนแอต่อโรคขอบใบแห้งและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

9.ข้าวสายพันธุ กขจ1 เป็นข้าวญี่ปุ่นประเภทข้าวเจ้าจาปอนิกาไม่ไวต่อช่วงแสง มีศักยภาพการให้ผลผลิตสูงถึง 953 กิโลกรัมต่อไร่ โดยให้ผลผลิตเฉลี่ย 755 กิโลกรัมต่อไร่ มีคุณภาพการหุงต้มและรับประทานดี เหมาะปลูกในพื้นที่นาชลประทานในเขตภาคเหนือตอนบน และภาคเหนือตอนล่าง

10.ข้าวสายพันธุ์ กขส1 (สะเมิง 72) เป็นข้าวสาลีนมปัง ข้าวสายพันธุ์ผลผลิตสูง 441 กิโลกรัมต่อไร่ และมีศักยภาพให้ผลผลิตสูงถึง 569 กิโลกรัมต่อไร่ คุณภาพของโปรตีนเหมาะสมสำหรับทำแป้งขนมปังและขนมปัง เหมาะปลูกในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน แต่อย่างไรก็ตาม หากการปลูกล่าช้า อาจทำให้เกิดโรคใบจุดสีน้ำตาล