ไฟป่าอุทยานออบหลวง จ.เชียงใหม่-จ.แม่ฮ่องสอน วอดกว่า 3.3 แสนไร่

ไฟป่าอุทยานออบหลวง

GISTDA เผยจุดความร้อนไทยวานนี้ลดลงพบ 850 จุด พบมากสุดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ล่าสุดดาวเทียมชี้เป้าพื้นที่เผาไหม้เขตอุทยานออบหลวง จ.เชียงใหม่ และ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน เสียหายแล้วกว่า 335,000 ไร่

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA รายงานข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) และจากดาวเทียมอีกหลายดวง เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ไทยพบจุดความร้อนทั้งประเทศ 850 จุด

ซึ่งข้อมูลจากดาวเทียมยังระบุอีกว่าจุดความร้อนที่พบส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 230 จุด ตามด้วยพื้นที่เกษตร 210 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 205 จุด พื้นที่เขต ส.ป.ก. 118 จุด แหล่งชุมชนและอื่น ๆ 84 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 3 จุด สำหรับจังหวัดที่พบจำนวนจุดความร้อนสูงสุด ได้แก่ เพชรบูรณ์ 55 จุด

ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านพบจุดความร้อนมากสุดอยู่ที่พม่า 2,247 จุด ตามด้วยกัมพูชา 955 จุด ลาว 933 จุด และเวียดนาม 109 จุด

ส่วนความคืบหน้าสถานการณ์ไฟป่าในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบหลวง อุทยานแห่งชาติแม่โถ และอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ที่กำลังเกิดไฟป่าลุกลามและขยายพื้นที่เป็นบริเวณกว้างอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ข้อมูลจากภาพดาวเทียม Landsat-8 ของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.48 น. แสดงภาพพื้นที่เผาไหม้บริเวณรอยต่อ อำเภอฮอด อำเภอจอมทอง และอำเภอแม่แจ่ม ของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีพื้นที่ถูกเผาไหม้แล้วกว่า 194,000 ไร่ ในส่วนของพื้นที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน พบพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้แล้วกว่า 141,000 ไร่

ซึ่งจากภาพแสดงให้เห็นถึงจุดความร้อนที่เกิดขึ้นของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 (จุดสีฟ้า 39 จุด) และวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 (จุดสีแดง 16 จุด) รวมพื้นที่ความเสียหายทั้งหมด 335,000 ไร่ซึ่งสาเหตุหลักของการเกิดไฟป่ายังคงมาจากการจุดไฟเผาเพื่อหาของป่า ล่าสัตว์ รวมถึงการเผาพื้นที่เกษตรก่อนเตรียมการเพาะปลูก และการเผาหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น

ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวจะใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าตรวจสอบในพื้นที่จริงร่วมกับจังหวัด เพื่อนำไปสู่การวางแผนฟื้นฟู ป้องกัน และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ในการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน อันจะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยว และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืน