ชาวนาอีสานแชมป์ เก็บข้าวเข้ายุ้งฉางชะลอการขาย 2.2 ล้านตัน สินเชื่อพุ่ง 2.5 หมื่นล้าน

ข้าว นาข้าว
Photo by Andhika Y. Wiguna on Unsplash

ปิดจ็อบ โครงการสินเชื่อชะลอการขาย 28 ก.พ. 67 เกษตรกรแห่ฝากเก็บข้าวเข้ายุ้งฉาง 2.2 ล้านตัน คิดเป็น 73% จากเป้าหมาย 3 ล้านตัน วงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท “ภาคอีสานแชมป์” ใช้สิทธิ์เก็บข้าวสูงสุด เหลือภาคใต้ทยอยเก็บสิ้นสุดโครงการ ก.ค. 67

วันที่ 2 มีนาคม 2567 ฝ่ายกิจการนโยบายรัฐ กลุ่มงานบริหารจัดการข้าว รายงานผลการดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก ปี 2566/2567 ตามมติคณะรัฐมนตรี 7 พฤศจิกายน 2666 ถึงปัจจุบัน (28 กุมภาพันธ์ 2567) มี เกษตรกรเข้าร่วม 294,926 ราย คิดเป็นปริมาณข้าว2,210,882 ตัน มูลค่า 25,057.65 ล้านบาท ซึ่งนับว่ามีความสำเร็จมากถึง 73.70% จากเป้าหมายการดำเนินการ 3 ล้านตัน

โดยหากแยกเป็นประเภทเกษตรกรจะพบว่า ผู้ที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 294,926 รายนั้น แบ่งเป็น เกษตรกร 294,827 ราย จำนวนเงินกู้ 22,265 ล้านบาท ส่วนกลุ่มสถาบันเกษตรกรมีจำนวน 99 ราย วงเงินกู้ 2,791 ล้านบาท

ภาคอีสานใช้สิทธิ์สูงสุด

ทั้งนี้หากแยกเป็นรายภาค จะพบว่า เกษตรกรที่ใช้สิทธิสูงสุดดังนี้

1. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 205,799 ราย เป็นเงิน 17,375ล้านบาท มีปริมาณข้าว 1.49 ล้านตัน

2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 68,323 ราย เป็นเงิน 5,404 ล้านบาท ปริมาณ 488,030 ตัน

3. ภาคเหนือตอนบน 16,114 ราย เป็นเงิน 919 ล้านบาท ปริมาณข้าว 87,640 ตัน

4. ภาคเหนือตอนล่าง 3,551 ราย เป็นเงิน 1,072 ล้านบาท ปริมาณข้าว 114,438 ตัน

5. ภาคตะวันออก 1,114 ราย เป็นเงิน 84 ล้านบาท ปริมาณข้าว 8,191 ตัน

6. ภาคตะวันตก 17 ราย เป็นเงิน 98 ล้านบาท ปริมาณข้าว 10,747 ตัน

7. ภาคกลาง 6 ราย เป็นเงิน 103 ล้านบาท ปริมาณข้าว 11,470 ตัน

ทั้งนี้ ยังคงเหลือเกษตรกภาคใต้ตอนบนและตอนล่าง ซึ่งผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดหลังจากที่ภาคอื่นๆ เก็บเกี่ยวหมดแล้ว

เงื่อนไขชะลอการขาย

สำหรับโครงการชะลอขายข้าว นั้นเป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก โดยให้เก็บฝากไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรก่อน ในช่วงที่ผลผลิตออกมาปริมาณมาก เพื่อป้องกันไม่ราคาตลาดตกต่ำ โดยรัฐเข้าไปให้ความ่ช่วยเหลือด้านการเงินกับเกษตรกร ในระหว่างที่รอการขาย

ซึ่งระยะเวลาในการดำเนินโครงการ จะเริ่มตั้งแต่ 7 เมษายน 2566-31 ธันวาคม 2567 โดยการจ่ายเงินกู้จะเริ่มตั้งแต่ 7 พฤศจิกายน 2566 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 ยกเว้นภาคใต้ที่จะถึง 31 กรกฎาคม 2567 ทั้งนี้ ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้เสร็จสิ้นไม่เกิน 5 เดือนนับจากที่ได้รับเงินกู้ โดยกำหนดให้ยกเว้นอัตราดอกเบี้ย 0%

โดยเกษตรกรจะมีสิทธิ์ได้รับเงินกู้ไม่เกิน 300,000 บาท ส่วนสถาบันเกษตรไม่เกิน 300 ล้านบาท และไม่เกินวงเงินกู้หรือค้ำประกันที่นายทะเบียนเห็นชอบในปีล่าสุด และแบ่งได้เป็นกลุ่มเกษตรกรจะให้ไม่เกิน 20 ล้านบาท ส่วนวิสาหกิจชุมชน ไม่เกิน 5 ล้านบาท

ลุยชัยนาท

ก่อนหน้านี้ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีมอบเงินค่าฝากเก็บรักษาคุณภาพข้าว ให้กับสมาชิกและเกษตรกรทั่วไป “โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67” ณ สำนักงานสหกรณ์การเกษตรมโนรมย์จำกัด อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท

ระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกปีการผลิต 2566/67 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ประกอบด้วย โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่าย และช่วยให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าว โดยไม่ต้องเร่งขายข้าวเปลือกในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากแก้ปัญหาราคาตกต่ำ เป็นการดูดซับปริมาณข้าวออกสู่ตลาด

และโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกรปีการผลิต 2566/67 เพื่อสนับสนุนสหกรณ์การเกษตร ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนและศูนย์ข้าวชุมชนที่ประกอบธุรกิจรวบรวมข้าวจากเกษตรกรสมาชิก และเกษตรกรทั่วไปได้มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอในการดำเนินธุรกิจ

โดยสหกรณ์การเกษตรมโนรมย์ จำกัด ได้เข้าร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการการขายข้าวเปลือก จำนวน 731 ราย จำนวนข้าวเปลือก 11,111 ตัน มูลค่า 137,570,804 ทำให้สมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรทั่วไปได้รับค่าฝากเก็บรักษาคุณภาพข้าว จำนวน 5,555,500 บาท ในวันนี้

อีกทั้งเข้าร่วมโครงการสินเชื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร รวบรวมข้าวเปลือกจากสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรทั่วไป จำนวนข้าวเปลือก 101,983 ตัน มูลค่า 1,094,714,000 บาท และได้จำหน่ายข้าวเปลือกที่รวบรวมได้ 80,183 ตัน เป็นมูลค่า 823,314,000 บาท โดยมีภาคเอกชนเป็นพันธมิตรในการค้าขับเคลื่อนงานแบบบูรณาการร่วมกัน

“รัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น ซึ่งเชื่อมั่นว่ามาตรการดังกล่าวนี้ จะเป็นการช่วยเหลือพี่น้องชาวนา และเป็นการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก เพื่อให้เกษตรกรรวมทั้งสถาบันเกษตรกรได้ชะลอการขายข้าวเปลือกเอาไว้ก่อนเพื่อรอราคาไม่ต้องรีบขายไปพร้อมกัน ป้องกันราคาข้าวตกต่ำ”

นอกจากนี้ กระทรวง ยังได้เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายสำคัญคือ การลดต้นทุนการผลิต โดยเร่งศึกษาโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง อีกทั้ง ได้มีการเปิดตัวสายพันธุ์ข้าว 10 สายพันธุ์ใหม่ เพื่อให้พี่น้องชาวนาได้รับผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการใช้พันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่ ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ลดความเสียหายจากการทำลายของโรค และแมลงศัตรูข้าว สามารถลดต้นทุนการผลิตข้าว

ทั้งหมดนี้ตอบโจทย์นโยบายลดต้นทุนการผลิตของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ และเป็นสิ่งที่ผมอยากเห็นพี่น้องชาวนาไทยได้หลุดพ้นจากความยากจน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น