ปตท. จ่อลงทุน Methanol 80 ล้านยูโรดึงคาร์บอนกลับมาใช้ใหม่แนวทางสู่ Net Zero

Methanol

ปตท.เร่งศึกษา Methanol หลังจับมือบริษัท Thyssenkrupp เทคโนโลยีดึงคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาใช้ใหม่ พิจารณาเป็นหนึ่งในแผนลงทุน ใช้เงิน 80 ล้านยูโร ขอเวลาตัดสินใจปลายปีเผยเป็นแนวทางสู่ Net Zero ตามเป้าหมาย คาดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% ในปี 2573

วันที่ 26 มีนาคม 2567 นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในขณะที่พาคณะผู้บริหารและสื่อมวลชนศึกษาดูงาน ณ ประเทศเยอรมนีว่า เยอรมนีมีแนวทางไปสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero ที่ชัดเจน โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีที่จะดึงคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาใช้ใหม่ โดยผ่านกระบวนการผสมกับไฮโดรเจน ซึ่งจะได้รูปแบบของ Methanol

ซึ่งขณะนี้ ได้ศึกษาความเป็นไปได้โครงการหน่วยผลิตเมทานอลจากการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ (CO2-based Methanol) กับทาง บริษัท Thyssenkrupp (ธิสเซ่นครุปป์) ประเทศเยอรมนี ซึ่งมีกำลังการผลิต 100,000 ตัน/ปี ในระยะแรก จากนั้นสามารถขยายได้สูงถึง 2 ล้านตัน/ปี

โดย Methanol ในไทยปัจจุบันยังไม่มีการลงทุน และยังต้องนำเข้าจากตะวันออกกลางเป็นส่วนใหญ่ ในปริมาณ 700,000 ตันต่อปี มูลค่า 10,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากต้องลงทุนโรงงานแบบครบวงจร Capacity 100,000 ตัน ทั้งอิเล็กโทรไลเซอร์ กรีนไฮโดรเจน และผลิตเป็น Methanol อาจต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 80 ล้านยูโร

“ตอนนี้เราศึกษาความเป็นไปได้อยู่ ซึ่งจะศึกษาเสร็จในสิ้นปี 2567 นี้ จากนั้นเราต้องมาดูถึงความคุ้มค่าอีกทีว่าดีมานด์มันมากขนาดไหน แต่ด้วยนโยบายและแนวทางของการไปสู่ Net Zero ของทั้งประเทศเป็นเป้าหมาย แนวทางการเอาคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาใช้หมดโดยไม่ให้เหลือเลย มันจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เราจะทำ หากไซซ์ขนาดนี้ก็ต้องใช้เงิน 80 ล้านยูโร และตั้งโรงงานใกล้โรงแยกก๊าซของเรามี่มีอยู่ในภาคตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นโรงแยกก๊าซแห่งที่ 2, 3, 4 หรือแม้แต่โรง 7 โรงใหม่ของเรา”

โดย Thyssenkrupp Uhde จะสังเคราะห์ Methanol จากไฮโดรเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็น Green Methanol ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ Methanol เป็นสารละลายที่มีลักษณะเป็นน้ำ นำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมเคมี การก่อสร้าง อุตสาหกรรมการผลิตพลาสติก อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ น้ำมันไบโอดีเซล และโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนแนวทางการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization : CCU)

สำหรับแผน Clean Growth ที่จะผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero นั้น ปตท.มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% ในปี ค.ศ. 2030 (2573) เทียบกับปี ค.ศ. 2020 (2563) รวมถึงบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2040  (2583) และบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ภายในปี ค.ศ. 2050 (2593) โดยมีแนวทางการดำเนินงาน 3P เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการของ ปตท. คือ

1.Pursuit of Lower Emissions

การดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด เชื่อมโยงกับเป้าหมาย Clean Growth โดยโครงการที่สำคัญในการบริหารจัดการ

ได้แก่ การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์ การใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานไฮโดรเจน การดำเนินโครงการประหยัดและอนุรักษ์พลังงาน และการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยคาร์บอนเครดิต โดยคาดว่าวิธีดังกล่าวจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 30%

2.Portfolio Transformation

สร้างการเติบโตจากธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy and Beyond) เพิ่มสัดส่วน Green Portfolio และบริหารจัดการ Hydrocarbon Portfolio โดยคาดว่าวิธีดังกล่าวจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 50% การปรับเปลี่ยนการส่งก๊าซให้ลูกค้าในอนาคตจากก๊าซธรรมชาติเป็น LNG ทำให้โรงแยกก๊าซไม่ต้องดำเนินการแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดของ ปตท.

3.Partnership with Nature and Society

การเพิ่มปริมาณการดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีทางธรรมชาติ ผ่านการปลูกและดูแลรักษาป่าไม้และพื้นที่สีเขียว พร้อมวางแผนในการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าวิธีดังกล่าวจะสามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 20%

ซึ่ง ปตท.มีเป้าหมายในการปลูกป่าใหม่เพิ่มเติม โดยการปลูกป่าใหม่ (Reforestation) นั้น กลุ่ม ปตท.ลงนาม MOU การปลูกป่าเพิ่มจำนวน 2 ล้านไร่ (ปตท.ปลูกเอง 1 ล้านไร่ และบริษัทในกลุ่มรวมอีก 1 ล้านไร่) ได้ Kick off โครงการ ณ แปลงปลูกป่า ปตท. ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าวังเพลิง ป่าม่วงค่อมและป่าลำนารายณ์ ตำบลมหาโพธิ อำเภอสระโบสถ์ จังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2566