นิคมจีนอมตะ 1.5 หมื่นไร่เกลี้ยง จ่อขยาย 2,000 ไร่รับชิ้นส่วน-อีวี

ไทยเนื้อหอม ทุนไฮเทคแห่ลงทุน “นิคมอมตะ” ควานหาที่เพิ่ม 2 พันไร่รับทุนจีน หลังกวาดยอดขายนิคมไทย-จีนเต็มแล้ว 1.5 หมื่นไร่ ตั้งเป้าปี’67 อัพยอดขายทะลุ 4 พันไร่ พร้อมลุยปั๊มน้ำ-ไฟฟ้าคาร์บอนต่ำ ตอบโจทย์นักลงทุนรักษ์โลก ประเดิมโซลาร์โฟลตติ้งบนบ่อสำรองน้ำแล้ง เฟสแรก 19.5 MW สู่เป้า 70-80 MW ใน 2 ปี นิคมอมตะวีอีเอ็นลุยเวียดนาม 4 นิคมโต 40%-เตรียมเปิดอีก 2 นิคมลาวเกาะเส้นทางรถไฟจีน-ลาว

ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางภายหลังการฟื้นตัวจากโควิด และปัญหาจีโอโพลิติกส์ทั่วโลกดันให้นักลงทุนโกลบอลขยับย้ายฐาน เป็นอานิสงส์ให้ปี 2566 “อมตะ คอร์ปอเรชัน” ทำยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมได้ 1,800 ไร่สร้างรายได้นับหมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% และมีกำไรถึง 1,900 ล้านบาท มาถึงปีนี้ “วิกรม กรมดิษฐ์” ประธานกรรมการบริหาร วางเป้าหมายให้เพิ่มยอดขายให้ได้ 4,000 ไร่ พร้อมลุยโจทย์ใหม่ พัฒนาระบบสาธารณูปโภคทั้งน้ำและไฟฟ้าคาร์บอนต่ำเพื่อดึงดูดการลงทุนทั่วโลก

ดร.วิวัฒน์ กรมดิษฐ์
ดร.วิวัฒน์ กรมดิษฐ์

ทุนจีนบุกเต็มแล้ว-รอเทสลา

ดร.วิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคนิควิศวกรรม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีก่อนบริษัทมียอดขาย 1,800 ไร่ แต่ปีนี้เป้าหมาย 4,000 ไร่ โดยแนวโน้มนักลงทุนปีนี้จะมีมาเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะนักลงทุนจีน

ซึ่งเดิมบริษัทได้พัฒนานิคมอมตะซิตี้ ระยอง เพื่อรองรับนักลงทุนจีน ที่เรียกว่านิคมไทย-จีน มีพื้นที่ 15,000 ไร่ ตอนนี้ขายหมดแล้วและอยู่ระหว่างการจัดหาพื้นที่เพิ่มอีกประมาณ 2,000 ไร่ เพื่อรองรับนักลงทุนจีน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์

“ความยากของการพัฒนาที่ดินนิคม คือ การหาพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่เชื่อมต่อกัน อย่างกรณีของเทสลาซึ่งให้ความสนใจเข้ามาลงทุนขอเป็นคลัสเตอร์ เหมือนที่โตโยต้า บ้านโพธิ์ ซึ่งไม่อยู่ในนิคม 1,000 กว่าไร่ จำนวนที่เทสลาขอ 2,000 ไร่ การจะไปหาพื้นที่ขนาดใหญ่อย่างนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย

ตอนนี้เรามีที่ออฟเฟอร์ให้เขาตรงสมาร์ทซิตี้ แต่มีเพียง 1,500 ไร่ ต้องไปเพิ่มข้าง ๆ แต่ไม่เชื่อมติดเป็นแปลงเดียวกัน ซึ่งการที่จะมีที่ดินขนาด 1,000-2,000 ไร่แปลงเดียวยากมาก แต่เงื่อนไขเทสลาต้องหาพื้นที่อยู่ในอีอีซี เพื่อจะได้รับมาตรการส่งเสริมการลงทุน”

ชูพลังงานหมุนเวียนตอบโจทย์

ดร.วิวัฒน์กล่าวว่า ทิศทางการเข้ามาของนักลงทุนขณะนี้ ลูกค้าส่วนใหญ่มองหาพลังงานหมุนเวียน (Renewable) เช่น เลโก้ ตอนมาลงทุนที่นิคมอมตะก็ขอพลังงานสีเขียว 30% ซึ่งแนวโน้มนักลงทุนจะทยอยเพิ่มสัดส่วนการใช้รีนิวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อาจจะไม่ใช่ลดเป็นศูนย์ในปีเดียว ดังนั้น เป็นหน้าที่ของนิคมที่จะต้องมุ่งพัฒนาสาธารณูปโภครองรับไม่ใช่แค่ไฟฟ้าสีเขียว ขณะเดียวกันก็ต้องมีน้ำเพียงพอด้วย

“เราเพิ่งเปิดโซลาร์โฟลตติ้งบนเนื้อที่ 750 ไร่ ที่บ่อเก็บน้ำในนิคมอมตะที่ จ.ชลบุรีโดยเราขุดดินจากบ่อไปถมที่ในนิคม ส่วนที่เป็นบ่อเก็บน้ำสำรองเพื่อใช้น้ำแล้งสำรองไว้ถึง 14 เดือน และการทำโซลาร์โฟลตติ้งทำให้เราได้ประโยชน์ทั้งไฟฟ้า และยังช่วยลดความระเหยของน้ำที่เก็บไว้ด้วย ปีนี้เราวางโครงการเพิ่ม 19.5 เมกะวัตต์ แต่เป้าหมาย 70 เมกะวัตต์ต้องทำให้ได้ใน 2 ปี ซึ่งจะทำให้มีบ่อน้ำสำรองเพียงพอสำหรับ 36 เดือนด้วย”

ดร.วิวัฒน์กล่าวว่า ตอนนี้ต้นทุนการติดตั้งแผงโซลาร์ถูกลงและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น จากเดิมแผงขนาด 1 เมตร คูณ 2 เมตร ผลิตได้ 340 กิโลวัตต์ แต่ตอนนี้ทำได้ 500 กิโลวัตต์ เงินลงทุนลดลงครึ่งหนึ่งจาก 6,000-7,000 บาท เหลือ 3,000-4,000 บาท ระยะเวลา 7 ปีก็คืนทุนแล้ว

ขณะเดียวกันก็ได้พัฒนาระบบบำบัดและดูแลน้ำเสียในนิคมเป็นศูนย์ Zero Waste โดยปกตินิคมชลบุรีจะใช้น้ำ 50,000 คิว/วัน น้ำที่เหลือ 30,000 คิว นำไปส่งต่อให้โรงไฟฟ้าใช้จนเข้มข้นขึ้นแล้วเอาไปรดต้นไม้ โดยจะต้องบำบัดให้ไม่มีกลิ่น ซึ่งระบบนี้ทำให้การปลดปล่อยน้ำเสียเป็นศูนย์

ชวลิต ทิพพาวนิช
ชวลิต ทิพพาวนิช

อมตะ ยู ร่างแผน 7 ปี

นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ ยู จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อมตะ ยู ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 โดยดึง 14 บริษัทในอมตะมารวมกัน ดูแลธุรกิจเกี่ยวกับสาธารณูปโภค ทั้งน้ำและไฟฟ้าที่มีคาร์บอนต่ำ เพื่อสร้างความยั่งยืนของลูกค้า นับเป็น New Chapter ของอมตะ แผนในช่วง 1 ปีแรกขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผนธุรกิจ 7 ปี 2024-2030 โดยหวังว่าจะสามารถสร้างการเติบโตได้สองเท่าจากปัจจุบัน

สำหรับพื้นที่ดูแลมีทั้งหมด 7 คอมเพล็กซ์ คือ ในไทย 5 แห่ง คือ อมตะซิตี้ ชลบุรี 1 อมตะซิตี้ ระยอง 1 ส่วนที่ขยายใหม่จะมีในชลบุรี 2 ที่ คือ อมตะสมาร์ทซิตี้ และอมตะชลบุรี 2 ที่ อ.บ้านบึง และอีกที่จะเป็นระยอง 2 หนองระลอก และในลาวอีก 2 พื้นที่

“ปีนี้นักลงทุนเข้ามาเพิ่มขึ้น เป็นไปตามปัจจัยจีโอโพลิติกส์โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐ และจีน ฉะนั้นจะเป็นโอกาสการขายพื้นที่ให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ตามมาด้วย การใช้บริการน้ำไฟ และสาธารณูปการต่าง ๆ โจทย์ใหม่ลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่ม Global Player ต้องการน้ำไฟที่เป็นโลว์คาร์บอน

ตอนนี้เราทำโฟลตติ้งโซลาร์ 19.5 เมกะวัตต์ ติดตั้งแล้ว 50% บนบ่อน้ำเฟสแรก เสร็จน่าจะประมาณปลายปี 2567 ยังมีส่วนที่ทำอีก 2-3 เรื่อง คือ ทำใบอนุญาตขาย คาดว่าในไตรมาส 1-2 ปีหน้า ส่วนค่าไฟฟ้ารีนิวในนิคมขึ้นอยู่กับสัญญา PPA เช่น สัญญาสั้นหรือยาว และใช้อ้างอิงสูตรราคาอย่างไร”

ส่วนน้ำในพื้นที่นิคมอมตะ มีบ่อน้ำสำรองเพียงพอไม่ต่ำกว่า 14 เดือน สำหรับผู้ประกอบการในนิคมเดิมและพื้นที่ขยายด้วย และมีแผนชัดเจนและมั่นใจว่าจะสามารถดูแลลูกค้าให้มีความมั่นคงได้ และในอนาคตจะมีแผนขยายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีพื้นที่เก็บน้ำมากขึ้น

สมหะทัย พานิชชีวะ
สมหะทัย พานิชชีวะ

อมตะเวียดนามโต 40%

นางสมหะทัย พานิชชีวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ วีเอ็น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2567 ตั้งเป้าหมายเพิ่มยอดขายที่ดินในนิคมอมตะเวียดนามไว้ที่สูงสุด 40% ปัจจุบัน อมตะมี 4 โครงการในเวียดนาม กระจายอยู่ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รวมพื้นที่ 3,000 เฮกตาร์

โดยภาคใต้เน้นอุตสาหกรรมไฮเทค ภาคเหนือรองรับได้ทุกอุตสาหกรรม ส่วนภาคกลางเน้นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานมาก เน้นความสะดวกด้านโลจิสติกส์ ขณะที่ภาคใต้และภาคกลางห่างจากท่าเรือน้ำลึกประมาณ 30 กม. และห่างจากสนามบิน 30-35 กม.

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจนิคมในเวียดนามก็มีการแข่งขันสูง มีจำนวนมากกว่า 400 แห่ง ที่เข้าไปลงทุนพัฒนานิคม โดยอมตะเป็นหนึ่งในสองรายของคนไทยที่เข้าไปลงทุน ส่วนที่เหลือจะเป็นญี่ปุ่น 2 ราย

“เทรนด์ปีนี้ นักลงทุนที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามก็มุ่งหาพลังงานหมุนเวียนเช่นกัน ซึ่งนิคมต้องเตรียมพร้อม แต่เวียดนามมีความเข้มแข็งด้านพลังงานลม ตอนนี้กำลังทำสายส่งขนาดใหญ่แก้ปัญหาไฟดับคาดว่าจะสร้างเสร็จในปีนี้ จะส่งไฟจากใต้ไปเหนือแก้ไฟดับได้ แต่ยังรอความชัดเจนว่ารัฐบาลจะอนุญาตให้ Direct Power Agreement

เช่น โซลาร์ฟาร์มนอกนิคมต้องส่งไฟฟ้ามาขาย แต่ผู้ผลิตต้องการขายไฟโดยตรงให้กับโรงงาน โดยผ่านกริดของการไฟฟ้าเวียดนาม เรื่องนี้คาดว่าจะเป็นไปได้ ปีนี้จะชัดเจน นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังประกาศให้ปี 2050 เป็นคาร์บอนนิวทรัล”

อมตะลาวจ่อเปิดปลายปี

นายวรงค์ ตั้งประพฤทธิ์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมตะ ซิตี้ ลาว จำกัด กล่าวว่า บริษัทก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2563 มุ่งพัฒนาและบริหารจัดการโครงการเมืองอัจฉริยะและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอยู่ทางตอนเหนือของลาวติดกับชายแดนจีนและสถานีรถไฟลาว-จีน ปัจจุบันอมตะที่ลาวดำเนินโครงการ 2 โครงการคือ อมตะสมาร์ท และอีโคซิตี้ นาหม้อ และอมตะสมาร์ท และอีโคซิตี้ นาเตย คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2567 จุดแข็ง คืออยู่ติดสถานีรถไฟจีน-ลาว