เปิดมุมมอง ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา ชี้อนาคตค้าชายแดนเปลี่ยน

กริช ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา ห่วงความไม่สงบภายในเมียนมา หวั่นบานปลายส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดน ซึ่งมีสัดส่วนถึง 80% ชี้มีโอกาสต้องปรับเส้นทางขนส่ง การเก็บภาษี-ค่าธรรมเนียมนำเข้า จะเป็นอย่างไร

วันที่ 14 เมษายน 2567 นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา เปิดเผยถึงผลกระทบการค้าชายแดนไทย-เมียนมา จากสถานการณ์ปะทะทางฝั่งเมียวดี ประเทศเมียนมา ว่า เหตุการณ์ปะทะ 2 วันนับจากทหารพันธมิตรฝ่ายต่อต้าน ได้บุกยึดฐานทัพที่สุดท้ายของฝ่ายรัฐบาลนั่นคือฐาน 275 ได้สำเร็จ ส่งผลให้มีทหารที่ถูกโจมตี เข้ามาปักหลักอยู่ที่สะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 อยู่จำนวนหนึ่ง โดยเข้าใจว่าทหารกลุ่มนี้ได้ยื่นขอลี้ภัยเข้ามาที่ฝั่งไทยแล้ว

แต่ต่อมาได้ยกเลิกไม่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย สิ่งที่น่ากังวลใจ สำหรับนักธุรกิจและพ่อค้าชายแดน คือเหตุการณ์จะบานปลายต่อไปอีกหรือไม่ และอนาคตการค้าจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการค้าชายแดนไทย-เมียนมา และการค้าผ่านแดนที่จะส่งออกไปยังประเทศที่ 3 เช่น จีน เป็นต้น รวมไปถึงปัญหาการขนส่งทั้งขายไปและขาเข้า ที่อาจจะต้องชะลอตัว จากเหตุความไม่สงบในเมียนมา

ห่วงค้าชายแดนเปลี่ยน

นายกริช กล่าวอีกว่า หลังจากนี้คงต้องจับตาดู ตามที่ฝ่ายพันธมิตรต่อต้านรัฐบาล โดยกระเหรี่ยงหลายฝ่าย ว่าจะดำเนินการควบคุมดูแล มิให้ส่งผลกระทบมายังการค้าระหว่างประเทศของไทย-เมียนมา จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งก็มีหลากหลายความเป็นไปได้ในอนาคต เช่น การค้ายังคงสามารถดำเนินต่อไปได้เหมือนเดิม

แต่คำถาม คือ จะต้องดำเนินการชำระภาษีนำเข้าให้แก่ฝ่ายใด ซึ่งในอดีตช่วงที่ผ่านมา วิธีการชำระภาษีนำเข้า ผู้นำเข้าจะต้องไปขออนุญาตนำเข้าจากภาครัฐ อันหมายถึงการขอใบอนุญตนำเข้าที่กรุงเนปิดอร์ จากนั้นก็จะชำระภาษีที่กรุงเนปิดอร์ให้แล้วเสร็จ จึงนำใบชำระภาษีนั้น พร้อมทั้งใบไอดีส่งมายังด่านเมียวดี ทางด่านก็จะจัดเก็บค่าธรรมเนียมแล้ว จึงสามารถนำเข้าสินค้าได้ แต่ในอนาคตการนำเข้าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป นี่คือปัญหาใหญ่

ปัญหาอีกอย่างหนึ่ง คือ ปัญหาการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนำเข้า ในอดีตเคยมีช่วงระยะเวลาหนึ่ง ที่การนำเข้าจากทางทะเลกับการนำเข้าทางชายแดน มีความเหลื่อมล้ำทางด้านอัตราภาษีศุลกากร รัฐบาลในยุคหนึ่งจึงใช้วิธีการแก้ไขปัญหาด้วยการให้ “ราคาสินค้าที่ศุลกากรยอมรับ” หรือที่เรียกว่า “Tariff Accept Price” แตกต่างกัน

ตัวอย่างเช่น หากนำเข้าทางท่าเรือ ก็จะแพงกว่าเข้าทางชายแดน 20% ทำให้เกิดความไม่แตกต่างกันของทั้งสองเส้นทาง ซึ่งก็ได้ผลที่ดีมาก แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บ ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเกิดผลตามมาอย่างไร

หากการปิดด่านชายแดนที่แม่สอด-เมียวดี เนิ่นนานวัน ผู้ประกอบการก็คงต้องหาช่องทางอื่น ในการทำการค้าระหว่างประเทศแน่นอน ซึ่งก็เป็นที่น่าหนักใจว่า ที่ผ่านๆมาประเทศไทยได้เปรียบประเทศคู่แข่งอื่นๆในด้านโลจีสติก ก็คงจะไม่มีอีกต่อไป หรือเราสามารถหาช่องทางด่านชายแดนอื่นๆที่สะดวกต่อการขนส่ง มาลดภาระต่อไป ซึ่งนั่นจะทำให้โฉมหน้าของการค้าชายแดนปรับเปลี่ยน ตัวเลขการค้าชายแดนที่อำเภอแม่สอด ที่เคยมีมากถึงระดับแสนล้าน อาจจะต้องถูกแบ่งปันไปก็เป็นได้ครับ

สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นได้ หากผู้ประกอบการได้ปรับเปลี่ยนการนำเข้าและส่งออกสินค้า โดยใช้วิธีการขนส่งทางทะเล และถ้ารัฐบาลเมียนมาได้มีการปรับลดภาษีนำเข้าเล็กน้อย เพื่อให้เกิดการใช้การนำเข้าทางเรือ ซึ่งนั่นก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้การนำเข้าอย่างถูกกฎหมายมากขึ้น และเมื่อดำเนินการไปช่วงเวลาหนึ่ง อาจจะทำให้เกิด “New Normal” เกิดขึ้นกับการนำเข้า การหลบเลี่ยงภาษีของการค้าชายแดน ก็จะลดลงอย่างแน่

ตัวเลขค้าชายแดน

สำหรับการค้าระหว่างประเทศระหว่างไทย-เมียนมา มีการทำการค้าระหว่างกันเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่เกือบ 80% เป็นการค้าชายแดน ซึ่งการค้าชายแดนนี้ จะมีด่านสำคัญๆอยู่เพียง 3 แห่ง คือ แม่สอด-เมียวดี แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก และระนอง-เกาะสอง ในจำนวนนี้ด่านแม่สอด-เมียวดีเป็นตัวเลขการค้าที่ใหญ่ที่สุด

โดยทุกปีจะมีตัวเลขรวมประมาณกว่า 1 แสนล้านบาท เช่น ปี 2564 มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 84,603 ล้านบาท มูลค่าการนำเข้า 22,882 ล้านบาท และรวมมูลค่าการค้า 107,485 ล้านบาท

ปี 2565 มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 105,426 ล้านบาท มูลค่าการนำเข้า 26,652 ล้านบาท และรวมมูลค่าการค้า 132,078 ล้านบาท

ปี 2566 มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 93,736 ล้านบาท มูลค่าการนำเข้า 13,311 ล้านบาท และรวมมูลค่าการค้า 107,047 ล้านบาท