ไทยยูเนี่ยน โชว์กำไรสุทธิ Q1 ปี 2567 ขยายตัว 53.9% ทะลุ 1.2 พันล้าน

TU

ไตรมาส 1 ปี 2567 ไทยยูเนี่ยน กวาดยอดขาย 33,220 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7% กำไรสุทธิ พุ่ง 53.9% ทะลุ 1.2 พันล้านบาท ‘อาหารกระป๋อง’ พระเอก ยอดขาย 17,156 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 12.7% สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

วันที่ 8 พฤษภาคม 2567 นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU กล่าวว่า ผลประกอบการประจำไตรมาสแรกปี 2567 ที่เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยยอดขาย 33,220 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7% มีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นเป็น 17.3% จากการเติบโตของกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และกลุ่มสินค้ามูลค่าเพิ่มและธุรกิจอื่น ๆ

ธีรพงศ์ จันศิริ
ธีรพงศ์ จันศิริ

ขณะที่อัตรากำไรสุทธิหลังการปรับปรุงส่วนแบ่งกำไรและผลประโยชน์ทางภาษีจาก Red Lobster แล้ว มีความสามารถในการเติบโตที่ดีมากถึง 53.9% หรือ 1,200 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน ผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของความต้องการสินค้าในกลุ่มธุรกิจหลัก คือ กลุ่มธุรกิจอาหารกระป๋อง กลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง และกลุ่มสินค้ามูลค่าเพิ่มและธุรกิจอื่น ๆ

นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนยังดำเนินโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงินครั้งที่ 3 ตามแผนอย่างต่อเนื่อง และยังมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนในเกณฑ์ที่ดี คือ 0.82 เท่า ณ สิ้นไตรมาสแรก สะท้อนให้เห็นถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัท

“การที่ไทยยูเนี่ยนมุ่งให้ความสำคัญกับธุรกิจหลักในกลุ่มธุรกิจอาหารกระป๋อง, กลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง และโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีอัตราการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ นับเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้กลับมาเติบโตพร้อมสร้างผลกำไรและมูลค่าเพิ่มได้อย่างแข็งแกร่ง

Advertisment

โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ไทยยูเนี่ยนได้แสดงให้เห็นว่าเราสามารถรับมือและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ท้าทายได้รวดเร็วและเป็นอย่างดี ทำให้ธุรกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา และมั่นใจว่าการเดินหน้าในครั้งนี้จะเป็นปัจจัยบวกทำให้ไทยยูเนี่ยนเติบโตอย่างยั่งยืนและแข็งแกร่งในที่สุด”

สำหรับผลประกอบการตามกลุ่มธุรกิจในไตรมาสแรก พบว่า กลุ่มธุรกิจอาหารกระป๋อง มียอดขายเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 12.7% หรือ 17,156 ล้านบาท นับเป็นปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นถึง 12.7% สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เป็นผลจากปริมาณความต้องการสินค้าที่ขยายตัวในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง ยุโรป และสหรัฐอเมริกา เป็นปัจจัยบวกทำให้เติบโต ขณะที่อัตราส่วนกำไรขั้นต้นของธุรกิจอาหารกระป๋อง ปรับตัวลดลงเป็น 16.6% เนื่องจากการปรับราคาขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบในการผลิต

ในส่วนของกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ยอดขายปรับเพิ่มขึ้นถึง 13.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 3,955 ล้านบาท จากการนำกลยุทธ์เพิ่มสัดส่วนการขายสินค้าพรีเมี่ยมและการปรับปรุงราคาสินค้า ส่งผลให้อัตราส่วนกำไรขั้นต้นเติบโตอย่างแข็งแกร่งเป็น 25.7% ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่สองปี 2565

Advertisment

ส่วนกลุ่มสินค้ามูลค่าเพิ่มและธุรกิจอื่น ๆ มียอดขายในไตรมาสแรกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 29.5% และเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปีที่แล้วมีอัตราเติบโตดีขึ้น 10.8% โดยปัจจัยสนับสนุนการเติบโตมาจากการมีสินค้าที่หลากหลาย

ส่วนกลุ่มธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง มียอดขายที่ชะลอตัวลง 17.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการสินค้าในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ชะลอตัว ประกอบกับบริษัทมีการปรับลดขนาดการดำเนินธุรกิจในประเทศสหรัฐอเมริกาลง โดยสัดส่วนธุรกิจของไทยยูเนี่ยนในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา คิดเป็นอัตรา 38.6% ของรายได้รวมทั้งหมด รองลงมาเป็น ยุโรป 29.6% ไทย 10.9% และอื่น ๆ อีก 20.9%

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกำไรสุทธิของบริษัทในไตรมาสที่ผ่านมากับกำไรสุทธิที่ปรับปรุงในช่วงเดียวกันปี 2566 นับเป็นการขยายตัวที่ดีและแข็งแกร่ง โดยปัจจัยสำคัญมาจากภาพรวมของทุกกลุ่มธุรกิจที่เติบโตขึ้น แม้ว่าจะมีผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ลดลง ส่วนแบ่งกำไรที่น้อยลง รวมถึงต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น และมีค่าใช้จ่ายทางด้านภาษีที่มากขึ้นก็ตาม

ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ผ่านมา Japan Credit Rating หรือ JCR ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของไทยยูเนี่ยนจาก A- ไปเป็น A แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ โดยอยู่ในอันดับเดียวกับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอีกด้วย

ขณะเดียวกัน บริษัทยังคงมุ่นมั่นในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับฐานะทางการเงิน ส่งผลให้ไทยยูเนี่ยนมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่เกณฑ์ที่ดี 0.82 เท่า ณ สิ้นไตรมาสแรก ปี 2567 ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับที่บริษัทตั้งเกณฑ์ไว้

และเมื่อต้นปี 2567 ไทยยูเนี่ยนมีมติอนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงินครั้งที่ 3 ในวงเงินไม่เกิน 3,600 ล้านบาท และไม่เกิน 200 ล้านหุ้น เพื่อแสดงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัท สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ถือหุ้น รวมถึงช่วยเพิ่มกำไรต่อหุ้นให้ดีขึ้น โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 บริษัทได้ดำเนินการซื้อหุ้นคืนแล้วจำนวน 86 ล้านหุ้น พร้อมตั้งเป้าว่าจะสามารถทำได้แล้วเสร็จตามกำหนดในเดือนมิถุนายน ปี 2567

นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยน ยังคงเดินหน้าพันธกิจด้านความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสแรกได้ประกาศความสำเร็จ โครงการลดการปล่อยน้ำทิ้งสู่สาธารณะเป็นศูนย์ (Zero Wastewater Discharge) ในฐานะโรงงานอาหารทะเลต้นแบบที่สร้างมาตรฐานด้านการบริหารจัดการน้ำทิ้งในระบบได้สำเร็จเป็นรูปธรรม 100 เปอร์เซ็นต์

ขณะเดียวกันยังได้ร่วมกับ องค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติระดับโลก The Nature Conservancy (TNC) และบริษัท อาโฮลด์ เดอแลซ สหรัฐอเมริกา (Ahold Delhaize USA) หนึ่งในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกระดับโลก เปิดตัวโครงการนำร่องเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการเลี้ยงกุ้ง ตั้งเป้าสร้างการเปลี่ยนแปลงในการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบก้าวกระโดดและยั่งยืน

รวมถึงการที่บริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ได้รับการรับรองมาตรฐานอาหารสัตว์ระดับโลกจากองค์กร Aquaculture Stewardship Council หรือ ASC เป็นแห่งแรกในเอเชีย เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ในการผลิตอาหารสัตว์อย่างยั่งยืนให้กับภูมิภาคนี้

“ผมมั่นใจว่าแผนยุทธศาสตร์องค์กรเพื่อมุ่งสู่ปี 2573 จะช่วยเตรียมความพร้อมและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว เพื่อดูแลสุขภาพที่ดีของผู้คน สัตว์เลี้ยง ควบคู่กับการดูแลโลกใบนี้ จากเป้าหมายปัจจุบันที่ไทยยูเนี่ยนมุ่งสร้าง ‘การมีสุขภาพที่ดีและท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์ หรือ Healthy Living, Healthy Oceans’ นี่จึงนับเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นและใส่ใจกับการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างมีความรับผิดชอบและยั่งยืน” นายธีรพงศ์กล่าว