กกร. หั่น GDP ไทยปี’67 โตสุดได้แค่ 2.7% หลังส่งออกดิ่ง ผวาค่าแรง 400 บาท ทุบซ้ำ

เกรียงไกร เธียรนุกุล
เกรียงไกร เธียรนุกุล

กกร. ประเมิน GDP ปี 2567 โตลดลงในกรอบ 2.2-2.7% จาก 2.8-3.3% ผลจากเศรษฐกิจโลกทรุดกระทบจากสงครามระหว่างประเทศ ฉุดส่งออกไทยไตรมาส 1/67 ร่วง ทำทั้งปีเหลือแค่ 0.5-1.5% แนะรัฐออกมาตรการภาษีอัพสกิลแรงงาน หากอยากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท

วันที่ 8 พฤษภาคม 2567 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลัง การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ในฐานะประธานที่ประชุมว่า เศรษฐกิจไทย GDP มีแนวโน้มขยายตัวได้ที่ 2.2-2.7% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่คาดการณ์ไว้ 2.8-3.3% เนื่องจากภาคการส่งออกมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้เพียง 0.5-1.5% ต่ำกว่าประมาณการเดิมเช่นกัน จากที่คาดไว้ 2-3% ตามทิศทางการค้าโลกที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์

นอกจากเรื่องภูมิรัฐศาสตร์แล้วปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้า ได้แก่ 1.ความผันผวนของค่าเงิน ตามการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มนโยบายการเงินสหรัฐ 2.การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 ที่เริ่มเบิกจ่ายได้จะช่วยหนุนการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้

GDP และส่งออกที่ลดลงเป็นผลมาจากการค้าโลกในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตได้น้อยกว่าที่คาดไว้เดิม กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์การค้าโลกปี 2567 จากเดิมที่คาดว่าจะโตได้ 3.3% เหลือ 3% และปรับลดคาดการณ์การส่งออกของประเทศ Emerging Markets จากเดิมโตได้ 4.1% เหลือ 3.7% ซึ่ง IMF ประเมินว่าความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั้งรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-อิหร่านที่ยกระดับขึ้นจะกระทบต่อปริมาณการค้าโลก

Advertisment

ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวถือเป็นปัจจัยลบต่อแนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทยในระยะข้างหน้า ทำให้คาดว่าการส่งออกจะเติบโตได้น้อยกว่าที่คาดไว้เดิม ขณะที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัวจากการส่งออกสินค้าและการผลิตที่ฟื้นตัวได้ช้า มูลค่าการส่งออกสินค้าในไตรมาสแรกของปีลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากปัญหาเชิงโครงสร้างและการค้าโลกที่เติบโตได้จำกัด ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่องในไตรมาสแรก

ส่วนภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่นักท่องเที่ยวจากยุโรปและตะวันออกกลางมีแนวโน้มลดลงจากผลกระทบของสงคราม อย่างไรก็ตาม คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีจะยังอยู่ที่ราว 35 ล้านคนตามที่คาดไว้เดิม เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากเอเชียมีการฟื้นตัวที่ค่อนข้างดี

อย่างไรก็ตาม กกร. เห็นว่าการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการมีมาตรการสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ และเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

Advertisment

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ส่วนการปรับขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำ ทั่วประเทศ 400 บาท หากสูงเกินกว่าความเป็นจริง จะเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทย เพราะเศรษฐกิจไทยมีความผันผวนทั้งจากค่าเงินบาท ราคาพลังงาน มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และสงครามการค้าระหว่างประเทศ กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ

จะเห็นได้จาก ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมีนาคม 2567 ที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 และอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) อยู่ที่ 62.39% ซึ่งลดลง 4.47% แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของภาคอุตสาหกรรม

“เราไม่เห็นด้วยกับการปรับ ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศ แต่ควรใช้กลไกจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) เป็นผู้พิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ อัตราเงินเฟ้อ อัตราการเจริญเติบโตของ GDP ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และประสิทธิภาพของแรงงาน หรือปรับตามทักษะฝีมือแรงงาน (Pay By Skills) ดังนั้น รัฐควรมีมาตรการทางภาษี ด้าน UP-Skill & Re-Skill และ New Skill”