ภูมิธรรม รับ 3 ข้อเสนอผู้เลี้ยงกุ้ง เร่งแก้วิกฤตลดต้นทุนอาหารสัตว์-เจรจาเอฟทีเอ ดันส่งออก

ผู้เลี้ยงกุ้งไทย ส่งหนังสือถึง “ภูมิธรรม เวชยชัย” ช่วยแก้ไขปัญหากุ้งไทย พร้อมยื่น 3 ข้อเสนอให้หน่วยงานกระทรวงพาณิชย์ช่วยเหลือการส่งออก ลดต้นทุน การเจรจาการค้าเสรีกับยุโรป

วันที่ 8 พฤษภาคม 2567 นายเอกพจน์ ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยว่า วันนี้ตนเองและตัวแทนจากสมาคมผุ้เลี้ยงกุ้งทะเลไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เข้ายื่นหนังสือ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยมีนายยรรยง พวงราช ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับมอบและร่วมประชุมหารือ เพื่อหาทางออกให้กับผู้เลี้ยงและผู้ส่งออกกุ้งที่ประสบปัญหาโรคตายด่วน ผลผลิตลด มีผลต่อการแข่งขันของไทย

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมกุ้งไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสําคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ จากการเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้น ๆ ที่มีมูลค่ามากกว่าแสนล้านบาท ได้รับการยอมรับในตลาดต่างประเทศว่าเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานสูง โดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศกว่า 90% และมีผู้เกี่ยวข้องภายในอุตสาหกรรมประมาณ 2,000,000 คน โดยในปี 2553 มีผลผลิตกุ้งได้สูงสุดถึง 640,000 ตัน และมีมูลค่าการส่งออกสูงกว่า 100,000 ล้านบาท

เอกพจน์ ยอดพินิจ

อย่างไรก็ตาม หลังจากประสบปัญหาโรคตายด่วน และโรคอื่น ๆ ตั้งแต่ปลายปี 2554 ผลผลิตกุ้งไทยเหลือต่ำกว่า 3 แสนตัน และจนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องโรค ทำให้ไม่สามารถเพิ่มผลผลิต และต้นทุนสูง เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมกุ้งโลก ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมกุ้งไทย

ทั้งนี้ จึงได้มีการหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา และขอเสนอแนวทางเพื่อขอให้ภาครัฐเร่งดําเนินการ ดังนี้

Advertisment

1.การส่งเสริมการตลาด ส่งเสริมการบริโภคในประเทศ ให้จัดหาสื่อประชาสัมพันธ์การบริโภคกุ้ง โดยจัดหาสื่อ ประชาสัมพันธ์ในพื้นที่สนามบินในจังหวัดท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ สถานีรถไฟฟ้า โดยทำแคมเปญส่งเสริม “การบริโภคกุ้งไทย” เป็นจุดขายให้กับนักท่องเที่ยว และผู้บริโภคชาวไทย รวมถึง ร่วมกับภัตตาคาร ร้านอาหาร หรือโรงแรม ในการจัดการส่งเสริมการบริโภคกุ้ง

การส่งออก จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ขยายส่วนแบ่งในตลาดเดิม และเปิดตลาดใหม่ โดยเฉพาะตลาดจีนที่มีความเชื่อมั่นในสินค้ากุ้งไทย และมีโอกาสในการขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งสินค้ากุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และสินค้ากุ้งต้ม โดยขอให้จัดสรรงบประมาณในการจัดบูทเพื่อร่วมงานแสดงสินค้า อาทิ งาน China Fisheries & Seafood Expo 2024 (Qingdao), World Seafood Shanghai(SIFSE), Fishery & Seafood Expo -Fishex Guangzhou เพื่อให้ผู้ส่งออกและเกษตรกรนําสินค้าไปจัดแสดง

เร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป โดยขอให้สินค้ากุ้ง ได้แก่ ก้งสด แช่เย็นแช่แข็ง (พิกัด 03061792) และกุ้งแปรรูป (พิกัด 16052110, 16052190 และ 16052900) เป็นรายการสินค้าที่ต้องการให้สหภาพยุโรป ยกเว้นอากร (ลดภาษีเป็น 0%) ทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ โดยสินค้าให้สองรายการเป็นสินค้าที่ถูกสหภาพยุโรปตัดสิทธิ GSP ตั้งแต่ปี 2557

ทำให้ต้องเสียภาษีในอัตราที่ 12 และ 20% ตามลำดับ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งที่ได้สิทธิ GSP และประเทศที่ได้รับการยกเว้นภาษี สหภาพยุโรปเป็นตลาดสําคัญของสินค้ากุ้ง มีการนําเข้าปีละประมาณกว่า 700,000 ตัน

Advertisment

และในช่วงที่ประเทศไทย ได้รับสิทธิ GSP สหภาพยุโรปนำเข้าจากประเทศไทยเฉลี่ยปีละ 50,000 ตัน จากข้อมูล สถิติการนำเข้าสินค้ากุ้งของสหภาพยุโรปปี 2553 สหภาพยุโรปนำเข้ารวม 748,000 ต้น แต่นําเข้าจากประเทศไทยประมาณ 64,000 ต้น หลังจากที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP ทำให้ไทยส่งออกกุ้งทั้งสองรายการไปยังตลาดสหภาพยุโรปแทบไม่ได้ โดยสหภาพยุโรปนำเข้ากุ้งทั้งสองรายการจากไทย เฉลี่ยปีละประมาณ 2,000 ตัน (ปี 2566 นําเข้าจากไทย 1,152 ตัน)

ในขณะที่สหภาพยุโรปนำเข้ากุ้งสามอันดับแรก ได้แก่ เอกวาดอร์ อินเดีย และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีความตกลงการค้าเสรี และได้รับการยกเว้นภาษี ทำให้ไทยเสียเปรียบในด้านการแข่งขันโดยสิ้นเชิง

2.การลดต้นทน ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบการผลิตอาหารกุ้ง ปัจจุบันไทยพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบ โดยเฉพาะ วัตถุดิบหลัก ได้แก่ กากถั่วเหลือง และปลาป่น โดยกากถั่วเหลืองมีอัตราภาษีนำเข้าในอัตรา 2% นอกจากนี้ ในปี 2567 รัฐบาลเปลี่ยนแปลงประกาศการนำเข้ากากถั่วเหลืองจากคราวละ 3 ปี เป็น 1 ปี ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนและขาดความต่อเนื่องในการนําเข้า

สำหรับการนำเข้าปลาป่น รัฐบาลอนุญาตให้นำเข้าเฉพาะปลาป่นที่มีโปรตีนสูงกว่า 60% โดยมีอัตราภาษีสูงสุดที่ 15% สำหรับปลาป่นนำเข้าจากประเทศเปรู ซึ่งเป็นแหล่งผลิตหลักของโลก ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถนำเข้าปลาป่นจากแหล่งที่มีต้นทุนการผลิตมาใช้ได้ จึงขอเสนอให้ปรับลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองและปลาป่น เป็น 0 รวมถึงอนุญาตให้นำเข้าคราวละ 3 ปีเช่นเดิม

3.การแก้ปัญหาโรคกุ้ง เนื่องจากโรคกุ้งเป็นปัญหาหลักที่ทําให้การเลี้ยงไม่ประสบความสําเร็จ และส่งผลทําให้ต้นทุนสูงจนไม่สามารถแข่งขันได้ จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยในหลายด้านทั้งสาเหตุและแนวทางการจัดการเพื่อแก้ปัญหา การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านจุลินทรีย์ที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อการวิจัยและคัดเลือกสายพันธุ์จุลินทรีย์หี่เหมาะสมสำหรับใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแต่ละพื้นที่

เพื่อแก้ปัญหาเรื่องโรคและการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ, ผลิตจุลินทรีย์เพื่อจำหน่ายให้กับเกษตรกร รวมถึงฝึกอบรมให้ความรู้ทางวิชาการกับเกษตรกรและผู้ที่สนใจ เกี่ยวกับการใช้จุลินทรีย์อย่างถูกต้อง และได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งการดําเนินการตามที่กล่าวมาจำเป็นต้องมีงบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง จึงใคร่ขอให้พิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อดําเนินการในส่วนนี้

ทั้งนี้ หากแก้ปัญหาทั้งหมดนี้ที่นำเสนอมาแล้วข้างต้น จะสามารถเพิ่มผลผลิตกุ้งและลดต้นทุนการผลิตให้สามารถกลับมาแข่งขันในตลาดโลกได้อีกครั้ง เนื่องจากกุ้งไทยยังคงมีจุดแข็งในเรื่องคุณภาพ ความปลอดภัยอาหาร ปราศจากสารตกค้าง และมีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ รวมถึงความสามารถของห้องเย็นแปรรูปส่งออกที่มีศักยภาพในการผลิต ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทำให้กุ้งไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก และกลับมาเป็นสินค้าส่งออกหลักที่นำรายได้เข้าประเทศได้ปีละมหาศาลต่อไป