กรมเจรจาฯ เปิดแผนลุย FTA 3 ฉบับครึ่งปีหลัง ขยายโอกาสทางการค้าไทย

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ลุยเจรจาจัดทำ FTA ครึ่งปีหลัง เร่งเครื่องเจรจา EFTA , EU และเกาหลีใต้ เดินหน้าอัปเกรด FTA อาเซียนกับคู่เจรจา ทั้งจีน อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ พร้อมใช้เวที JTC กับประเทศคู่ค้าสำคัญ แก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้า

วันที่ 8 พฤษภาคม 2567 นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงแผนการทำงานครึ่งปีหลัง ของปี 2567 ว่า กรมได้เร่งรัดการเจรจา FTA กับคู่ค้าสำคัญให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน ตามวิสัยทัศน์ของกรม “ขับเคลื่อนการเจรจาการค้าเชิงรุก เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ ครอบคลุม 80% ของการค้าไทยกับโลก ภายในปี 2570

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมี FTA 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ และล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 ไทยได้ร่วมลงนาม FTA กับศรีลังกา ซึ่งนับเป็น FTA ฉบับที่ 15 ของไทย และยังได้ผลักดันการเจรจาจัดทำ FTA ฉบับใหม่ ได้แก่ ไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) และไทย-สหภาพยุโรป (อียู) และการอัปเกรด FTA ที่มีอยู่เดิม ในกรอบอาเซียนกับคู่เจรจา ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน ให้กับผู้ประกอบการไทย

นอกจากนี้ กรมยังได้เปิดเจรจา FTA กับตลาดใหม่ๆ อาทิ เกาหลีใต้ ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ไทยและเกาหลีใต้ ได้ร่วมลงนามเอกสารขอบเขต (TOR) สำหรับการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (EPA) ไทย-สาธารณรัฐเกาหลี ถือเป็นการนับหนึ่งในการเริ่มต้นการเจรจา FTA ระหว่างกัน

Advertisment

รวมทั้งได้ร่วมลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงที่จะเริ่มเจรจาจัดทำ FTA ไทย – บังกลาเทศ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และสร้างแต้มต่อให้ภาคเอกชนไทยเข้าสู่ตลาดบังกลาเทศและเอเชียใต้

สำหรับการทำงานในช่วงครึ่งปีหลัง กรมมีแผนเข้าร่วมการประชุมสำคัญ อาทิ การประชุมหารือทวิภาคีด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ณ กรุงเทพฯ การประชุมคณะกรรมการเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA-TNC) ครั้งที่ 10 ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม การประชุมเจรจาจัดทำ FTA ไทย – EU รอบที่ 3 ณ ประเทศเบลเยียม

การประชุมเจรจาจัดทำ FTA ไทย – EFTA รอบที่ 10 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม FTA อาเซียน – แคนาดา ครั้งที่ 8 ณ กรุงเทพฯ การประชุมเจรจายกระดับ FTA อาเซียน – จีน (ACFTA) รอบที่ 9 ณ กรุงเทพฯ และการประชุมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย – เกาหลี ครั้งที่ 1 ณ กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ กรมยังมีแผนใช้เวทีการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ระดับรัฐมนตรี กับประเทศคู่ค้าสำคัญ เพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้า และกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยในปีนี้ มีแผนจะประชุม JTC กับประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ ภูฏาน มาเลเซีย สหราชอาณาจักร และจีน

Advertisment

นางสาวโชติมา กล่าวอีกว่า กรมยังประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการ “โคนมไทยก้าวไกล ขยายตลาดส่งออกได้ด้วย FTA” ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 โดยได้ผลักดันให้สหกรณ์โคนมและผู้ประกอบการนมโคแปรรูป ส่งออกผลิตภัณฑ์นมไปยังตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อสูง รวมทั้งจะนำสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปที่มีศักยภาพทั่วไทย

ร่วมออกบูธแสดงและจำหน่ายในงาน “FTA Fair นำสินค้าไทย สู่ตลาดการค้าเสรี” ซึ่งในปีนี้จะจัดขึ้นเป็นปีที่ 6 ระหว่างวันที่ 12 – 18 สิงหาคม 2567 ณ เซนทรัล พลาซา แกรนด์ พระราม 9 กรุงเทพฯ ซึ่งจะช่วยเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

ขณะเดียวกัน กรมยังได้จับมือกับหน่วยงานพันธมิตร อาทิ สภาเกษตรกรแห่งชาติ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และ ศอ.บต. ลงพื้นที่พบปะเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ผู้ประกอบการ SMEs ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อนำผลสำเร็จจากการเจรจา FTA ไปชี้ช่องโอกาสและลู่ทางการใช้ประโยชน์จาก FTA ในการทำตลาดต่างประเทศ

โดย กรมมีแผนจะลงพื้นที่ในต่างจังหวัด อาทิ ลำปาง ยะลา จันทบุรี และราชบุรี เพื่อขยายการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปในพื้นที่ ทั้งอัญมณี และเครื่องประดับ โกโก้ ผลไม้ พริกไทย กล้วยหินแปรรูป มะพร้าวน้ำหอม และกุ้งก้ามกราม ซึ่งจะช่วยสร้างแต้มต่อทางการค้าและเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

นอกจากการเจรจาจัดทำ FTA แล้ว กรมยังให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับหรือคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ในภาคการผลิต ทั้งเกษตรและอุตสาหกรรม และภาคบริการ โดยได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุน FTA แบบถาวร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.กองทุนช่วยเหลือฯ โดยพิจารณาตามความคิดเห็นที่ได้รับ รวมถึงการจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้องและหลักเกณฑ์ในการใช้เงินกองทุน เพื่อประกอบการเสนอ ครม. ตามกระบวนการตรากฎหมายต่อไป

นอกจากนี้ กรมยังมีศูนย์บริการข้อมูล FTA Center ณ ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรี (FTA) อัตราภาษี พิกัดศุลกากร ข้อมูลผู้นำเข้า-ส่งออก และสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยให้บริการข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัยที่สุด

และยังสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านทางเว็บไซต์ http://ftacenter.dtn.go.th หรือ Call Center 0 2507 7555 ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในการใช้ประโยชน์จาก FTA ถือเป็นหนึ่งกลไกที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก