เจรจา FTA ไทย-อียู รอบ 2 รุดหน้า ตั้งเป้าเร่งปิดดีลให้ได้ในปี 2568

FTA

พาณิชย์เผยเจรจา FTA ไทย-อียู รอบ 2 รุดหน้าด้วยดี ตั้งเป้าสรุปผลภายในปี 2568 พร้อมนัดเจรจารอบ 3 ที่บรัสเซลส์ ย้ำพร้อมเร่งการเจรจาให้สำเร็จโดยเร็ว เดินหน้าขยายโอกาสทางการค้าการลงทุน

วันที่ 29 มกราคม 2567 นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) รอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 22-26 มกราคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ เพื่อผลักดันการเจรจาให้มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

โดยตั้งเป้าให้ได้ข้อสรุปภายในปี 2568 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ ที่ต้องการเร่งรัดการเจรจา FTA ให้สำเร็จโดยเร็ว เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน ตลอดจนเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล
โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล

ผลการเจรจารอบนี้ ในภาพรวมถือว่าเป็นไปด้วยดี โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงรายละเอียดของแต่ละประเด็น พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนข้อเสนอเพิ่มเติมและสร้างความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น โดยการเจรจารอบนี้ ประกอบด้วย การประชุมระดับหัวหน้าคณะ และการประชุมกลุ่มย่อยระดับผู้เชี่ยวชาญ 19 คณะ ได้แก่

1) การค้าสินค้า 2) กฎถิ่นกำเนิดสินค้า 3) พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 4) มาตรการเยียวยาทางการค้า 5) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) 6) อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) 7) การค้าบริการและการลงทุน 8) การค้าดิจิทัล 9) ทรัพย์สินทางปัญญา 10) การแข่งขันและการอุดหนุน

11) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 12) การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน 13) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 14) รัฐวิสาหกิจ 15) พลังงานและวัตถุดิบ 16) ระบบอาหารที่ยั่งยืน 17) ความโปร่งใสและหลักปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ 18) การระงับข้อพิพาท และ 19) บทบัญญัติเบื้องต้น บทบัญญัติทั่วไป บทบัญญัติสุดท้าย บทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน และข้อยกเว้น

สำหรับฝ่ายไทยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมประชุมในประเด็นที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการต่างประเทศ กรมศุลกากร กรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ทั้งนี้ กรมเตรียมเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมการประชุมสรุปผลความคืบหน้าการเจรจาครั้งที่ 2 ต่อไป สำหรับการเจรจารอบที่ 3 อียูจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 ที่กรุงบรัสเซลส์ และจะเจรจาอีก 1 รอบ ในช่วงเดือนตุลาคม 2567 ที่ประเทศไทย

ทั้งนี้ อียูถือเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย โดยในปี 2566 การค้าระหว่างไทยและอียู มีมูลค่า 41,582.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 21,838.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากอียู มูลค่า 19,743.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์