รู้หรือไม่ ถังเก็บสารเคมีต้องมีระบบตรวจจับ-แจ้งเตือนสารเคมีรั่วและสายล่อฟ้า

เปิดวิธีการเก็บสารเคมี ของโรงงานอุตสาหกรรม ที่ถูกต้อง พ.ร.บ.โรงงาน 2535 กำหนดให้ภาชนะบรรจุวัตถุอันตราย หากอยู่กลางแจ้งต้องมีสายล่อฟ้า เขื่อนกั้น และทุกแห่งต้องมี “ระบบตรวจจับและแจ้งเตือนสารเคมีรั่วไหล”

วันที่ 10 พฤษภาคม 2567 รายงานข่าวระบุว่า จากเหตุเพลิงไหม้ถังเก็บวัตถุดิบสารไพโรไลสีส แก๊สโซลีน ของ บริษัท มาบตาพุดแทงค์เทอร์มินัล จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด (สทร.) ถนนไอ 8 ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง เมื่อันที่ 9 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 ราย เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งขณะนี้ยังไม่สอบสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ดังกล่าว รวมถึงเหตุการณ์เพลิงไหม้ของโรงงานอุตสาหกรรมที่เกิดจากสารเคมี ในช่วงที่ผ่านมา

ซึ่งหากดูใน พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ได้มีการออกวิธีปฏิบัติสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภท ที่มีการใช้สารเคมีเป็นส่วนสำคัญในการผลิต จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของการเก็บสารเคมี ที่ต้องมีมาตรฐานในการจัดการสารเคมีทั้งเรื่องอุปกรณ์และการซ่อมบำรุง ที่ต้องได้มาตรฐานการป้องกันการระเบิดระดับนานาชาติ และนั่นหากมีความละเลยทั้งอุปกรณ์ที่ใช้งานมานาน

และขาดการดูแลซ่อมบำรุง ทำให้อุปกรณ์เสื่อมหรือชำรุดได้ รวมถึงการไม่มีระบบตรวจจับและแจ้งเตือนสารเคมีรั่วไหล หรือความผิดพลาดจากการปฏิบัติงาน การซ่อมบำรุงที่ไม่ได้มาตรฐาน ก็ย่อมเป็นสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ และระเบิดเช่นกัน

ขณะเดียวกัน อุปกรณ์ที่สวมใส่ของบุคลากรก็สำคัญมากเช่นกัน เพื่อป้องกันอันตรายหรือลดความรุนแรงของการประสบอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นขณะปฏิบัติงาน โดยต้องได้รับ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หรือมาตรฐานขององค์การมาตรฐานสากล เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดการสูญเสียได้

Advertisment

ซึ่งในกฎหมาย ได้มีการจำแนกประเภทการจัดเก็บ เช่น ประเภท 1 วัตถุระเบิด ประเภท 2A ก๊าซอัด ก๊าซเหลว หรือก๊าซที่ละลายได้ภายใต้ความดัน ประเภท 3A ของเหลวไวไฟ ประเภท 4.2 สารที่มีความเสี่ยงต่อการลุกไหม้ได้เอง ประเภท 5 สารออกซิไดซ์ หรือประเภท 10 ของเหลวติดไฟ เป็นต้น และยังมีข้อกำหนดในสถานที่จัดเก็บ เช่น จัดเก็บในอาคาร นอกอาคาร ถัง แท็งก์

ตาม ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2565 จึงมีข้อกำหนดว่าในกรณีที่โรงงานมี “ภาชนะบรรจุวัตถุอันตราย” เช่น วัตถุไวไฟ วัตถุระเบิด วัตถุเคมี หรือของเหลวอื่นใด ที่อาจทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม ที่มีขนาดของภาชนะบรรจุตั้งแต่ 25,000 ลิตรขึ้นไป

ต้องมั่นคงแข็งแรง เป็นไปตามมาตรฐานที่ยอมรับ โดยมีคำรับรองของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และต้องสร้างเขื่อน หรือกำแพงคอนกรีตโดยรอบ ให้มีขนาดที่สามารถจะกักเก็บปริมาณของวัตถุดังกล่าวได้ทั้งหมด

เว้นแต่กรณีที่มีภาชนะบรรจุมากกว่า 1 ถัง ให้สร้างเขื่อนที่สามารถเก็บกักวัตถุอันตรายนั้น เท่ากับปริมาตรของถังเก็บขนาดใหญ่ที่สุดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของวัตถุที่บรรจุได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในกรณีเมื่อเกิดวิบัติแก่ภาชนะดังกล่าว และต้องจัดให้มีวัตถุหรือเคมีภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการระงับ หรือลดความรุนแรงของการแพร่กระจายได้อย่างเหมาะสมและเพียงพอ

Advertisment

ในกรณีที่ภาชนะบรรจุนั้นตั้งอยู่ในที่โล่งแจ้ง ต้องมีสายล่อฟ้าให้เป็นไปตามหลักวิชาการและภาชนะบรรจุที่อาจเกิดประจุไฟฟ้าสถิตได้ในตัว ต้องต่อสายดิน ที่สำคัญจะต้องระบบตรวจจับและแจ้งเตือนสารเคมีรั่วไหล

ทั้งนี้ ยังมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมให้โรงงานที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ต้องจัดทำ “รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)” โดยล่าสุดได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 27 (2563) ออกตามความใน พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ลงวันที่ 19 มี.ค. 2563 โดยให้โรงงานที่มีสารมลพิษหรือสารเคมีตามที่รัฐมนตรีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไม่ว่าจะเกิดจากการผลิต การครอบครอง หรือการใช้ หรือเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงาน ต้องจัดทำรายงานข้อมูล ดังต่อไปนี้

1.ปริมาณการผลิต การครอบครอง และการใช้สารมลพิษหรือสารเคมี 2.การเคลื่อนย้ายสารมลพิษหรือสารเคมีออกนอกโรงงาน 3.ขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อควบคุมการปลดปล่อยสารมลพิษหรือสารเคมี

4.คุณลักษณะเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง 5.การตรวจสอบประสิทธิภาพระบบป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ 6.การปลดปล่อยสารมลพิษหรือสารเคมีและการตรวจสอบสภาพแวดล้อม 7.ข้อมูลอื่นตามที่รัฐมนตรีกำหนด