ธุรกิจต่างด้าวแห่ลงทุน EEC “ญี่ปุ่น” ครองแท่นเบอร์ 1

คอลัมน์ DATA

รัฐบาลให้ความสำคัญกับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาเชิงพื้นที่ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่รัฐบาลต้องการยกระดับเขตเศรษฐกิจพิเศษสู่ world class economy zone รองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมคลัสเตอร์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (S-curve) โดยได้มุ่งเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนใน EEC อย่างต่อเนื่อง

“นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งดำเนินการ เพื่อกำหนดแนวทางส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการและธุรกิจเพื่อรองรับการขยายตัวและการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่ EEC อย่างเร่งด่วน โดยมีความร่วมมือใน 2 ด้าน การส่งเสริมกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี กลุ่มชุมชน และสตาร์ตอัพ กลุ่มเป้าหมายในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจโลจิสติกส์ เพื่อพัฒนาศักยภาพสร้างมาตรฐานธุรกิจเทียบเท่าสากล เน้นส่งเสริมให้ใช้นวัตกรรม การบริการรูปแบบใหม่ พร้อมทั้งการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอำนวยความสะดวก แนะนำการประกอบธุรกิจอย่างถูกต้อง สำหรับนักลงทุนชาวต่างชาติที่ต้องการลงทุนในพื้นที่ EEC ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542

ทั้งนี้ สถิติการขออนุญาตประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวฯ ช่วงไตรมาส 1/2561 มีจำนวน 36 ราย มูลค่า 760 ล้านบาท เพิ่มสูงกว่าช่วงปี 2560 ทั้งปีมีจำนวน 25 ราย เม็ดเงินลงทุน 226 ล้านบาท โดยนักลงทุนสัญชาติ “ญี่ปุ่น” ยังครองอันดับ 1 มาอย่างต่อเนื่อง ส่วนประเภทธุรกิจที่ขออนุญาตสูงสุดจะเป็นธุรกิจให้บริการแก่บริษัทในเครือ ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจให้เช่าพื้นที่