ช่วย SMEs ตกเกณฑ์ประชารัฐ กสอ.ผนึก 3 แบงก์ปล่อยกู้เกิน 15 ล้าน ดอก 4%

กสิกรฯ ไทยพาณิชย์ กรุงไทย โดดแจมกองทุนช่วย SMEs หลังหารือกระทรวงอุตสาหกรรม ออกแพ็กเกจสินเชื่อพิเศษ 4% เก็บตกรายที่ค้างจากรัฐวงเงินขอมากกว่า 15 ล้านบาท พร้อมดึงทั้ง 9 มาตรการพัฒนารายย่อยขึ้น platform ขายสินค้าผ่าน e-Commerce ให้เห็นรูปธรรม

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 8 ส.ค. 2561 นี้จะเริ่มลงนามความร่วมมือ (MOU) กับทางธนาคารกสิกรไทยเป็นรายแรก ซึ่งจะเป็นการออกแพ็กเกจสินเชื่อใหม่ขึ้นมาสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ตกค้างจากคุณสมบัติยื่นขอของกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ และส่วนหนึ่งคือรายที่ผ่านการเข้าอบรมหลักสูตรกับทาง กสอ. เป็นการการันตีเรื่องของคุณสมบัติอย่างหนึ่งว่า SMEs เหล่านี้สามารถเขียนแผนธุรกิจเองได้ จะได้พิจารณาเป็นพิเศษมากกว่ารายที่ยังไม่มีแผนใด ๆ

นอกจากนี้ กสิกรฯจะมีออปชั่นพิเศษคือ การให้ SMEs เข้าสู่ K-Plus หรือขึ้น platform e-Commerce เพื่อเปิดโอกาสให้ SMEs ไทยมีช่องทางซื้อขายสินค้าเพิ่ม โดยได้ทดลองทำตลาดมาตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่าน เช่น เงาะกระป๋องนาสาร ทำยอดขายสูงถึง 20 ล้านบาท นี่จึงเป็นครั้งแรกที่รัฐจับมือกับทางกลุ่มของธนาคารเอกชนของไทย หลังจากนี้จะเริ่มขยายความร่วมมือกับ 2 แห่ง คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ และแบงก์รัฐธนาคารกรุงไทย รูปแบบเพื่อออกแพ็กเกจสินเชื่อ SMEs เช่นกัน

สำหรับความแตกต่างระหว่างสินเชื่อของธนาคารกับกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ (วงเงิน 10,000 ล้านบาท) อัตราดอกเบี้ย 1% นั้น ทางธนาคารกรุงไทยได้เสนอว่า รายที่ขอกองทุนไม่เข้าเกณฑ์ของกองทุนกำหนด และวงเงินกู้เกิน 15 ล้านบาท กรุงไทยจะรับพิจารณาทั้งหมดและเสนออัตราดอกเบี้ยที่ 4% (ต่ำกว่าสินเชื่อที่แบงก์ปล่อยกว่าปกติ) รวมถึงโปรโมชั่นที่จูงใจ

“ยอมรับที่ผ่านมาการช่วยเหลือ SMEs ถือว่าไม่สุด เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2560 จึงต้องหากองทุนช่วยเหลือ SMEs ขึ้นมา และเมื่อรายที่ไม่ผ่านเอกชนก็ขอเข้ามาช่วย นี่ถือเป็นความร่วมมือใหม่กับกลุ่มของธนาคารไทย 3 แห่ง อย่างการเจรจากับธนาคารกสิกรฯเราใช้เวลาเพียง 3 เดือนในการตกลงที่เอกชนต้องการเข้ามาช่วย SMEs ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ยังรอเจรจา คาดว่าจะตกลงร่วมกันอีกไม่นาน และธนาคารกรุงไทยก็ชัดเจนแล้วว่าแพ็กเกจจะเป็นแบบไหนน่าจะลงนาม MOU รายถัดไป”

นอกจากนี้ ผู้ที่ผ่านการอบรมจากโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ entrepreneurs creations หรือ NEC ของ กสอ.จะได้รับการพิจาณาสินเชื่อเป็นพิเศษ เนื่องจาก NEC เป็นการอบรมผู้ประกอบการให้รู้จักถึงการบริหารจัดการธุรกิจ วางแผนการดำเนินธุรกิจ จัดทำแผนธุรกิจเพื่อให้สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้จริง ตั้งแต่การให้ความรู้พื้นฐาน ซึ่งโครงการดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน ใช้เวลา 16 ปี มีจำนวนผู้ผ่านการอบรมกว่า 75,000 ราย สามารถจัดตั้งธุรกิจได้แล้ว 30,515 ราย เกิดมูลค่าการลงทุนกว่า 30,500 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 88,892 ราย ดังนั้น NEC จึงถือเป็นผลงานของ กสอ. ที่สามารถสร้าง start up ขึ้นมาได้ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่เรียน NEC ก็จะต่อยอดในด้านการพัฒนา ช่วยเหลือจนกว่าจะประสบความสำเร็จ โดยการเอามาเชื่อมกับ 9 มาตรการของกระทรวงฯเพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม อาทิ การใช้ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) เข้ามาให้บริการเป็นที่ปรึกษาแนะนำเชิงลึก ให้โครงการพี่ช่วยน้อง (big brother) ชี้แนะการทำตลาดและเพิ่มมูลค่าการผลิต ยกระดับพัฒนาศักยภาพชุมชนผ่านหมู่บ้านสร้างสรรค์ (CIV) เพื่อผลักดันการแปรรูปผลิตผลการเกษตร สินค้าต่าง ๆ ให้เป็นที่ต้องการของตลาดเป็นต้น

ซึ่งโครงการ NEC ดังกล่าว สำหรับปี 2561 กองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ของ กสอ. ได้ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบของโครงการ จากหน่วยร่วมดำเนินงานโครงการในทุกภูมิภาค จำนวนทั้งสิ้น 66 ราย และมีผู้ประกอบการที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกให้ได้รับรางวัล NEC Award ประจำปี 2561 จำนวน 6 ราย คือ บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์โคซี่ จำกัด, บริษัท บ้านเพลิน ฟู้ด จำกัด, บริษัท ฟูลเกิ้ล จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัดแก้วมณีสมุนไพร, บริษัท แม่สอดบรรจุภัณฑ์ จำกัด และบริษัท ป.เกรียบกุ้งอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด ทั้งหมดนี้มีศักยภาพ ในกระบวนการบริหารจัดการทั้งในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ มีความแตกต่างตอบสนองความต้องการของลูกค้า การผลิตที่มีมาตรฐานสามารถควบคุมต้นทุนมีการบริหารจัดการภายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ และบริหารจัดการด้านการเงิน/บัญชีอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐในส่วนที่กระทรวงอุตสาหกรรมรับผิดชอบนั้น วงเงิน 20,000 ล้านบาท ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือกองทุนแรก 10,000 ล้านบาทจะให้ความช่วยเหลือ SMEs รายทั่วไป ขณะนี้มียอดคำขอ 4,075 ราย วงเงิน 21,115 ล้านบาท อยู่ระหว่างวิเคราะห์ 50 ราย วงเงิน 214.91 ล้านบาท อนุมัติแล้ว 1,779 ราย วงเงิน 7,499.78 ล้านบาท ทำสัญญาแล้ว 1,429 ราย วงเงิน 5,864.61 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 2,703 ราย วงเงิน 3,097.45 ล้านบาท

ส่วนโครงการฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสำหรับ SMEs-คนตัวเล็ก (ไมโคร SMEs) วงเงิน 8,000 ล้านบาท มียอดคำขอ 8,697 ราย วงเงิน 13,105.54 ล้านบาท อยู่ระหว่างวิเคราะห์ 553 ราย วงเงิน 578.16 ล้านบาท อนุมัติแล้ว 1,228 ราย วงเงิน 1,113.69 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 550 ราย วงเงิน 483.64 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 2,000 ล้านบาทใช้เพื่อบริหารจัดการกองทุน