ลำไยล้านกว่าตันทะลัก “สนธิรัตน์” วิ่งวุ่นหาที่ขายระบายผลผลิต

ในการประชุมร่วมกับพาณิชย์จังหวัดภาคเหนือและจังหวัดที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตลำไยภาคเหนือ ในฤดูกาลผลิตปี 2561/2562 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้บูรณาการร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมมาตรการดูแลตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางเชิงรุกครั้งแรก เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาลำไย มุ่งหวังที่จะช่วยให้เกษตรกรไม่ขาดทุน

บูรณาการกระตุ้นตลาด

โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ทำหนังสือประสานไปยังกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอความร่วมมือให้เชื่อมโยงตลาดจัดพื้นที่จำหน่ายทั่วประเทศ

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เชื่อมโยงตลาดลำไยไปยังผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรด บมจ.ปตท., บางจาก ตลาดกลางสินค้าเกษตร เช่น ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท เพื่อให้ผู้ประกอบการจัดสรรพื้นที่ให้เกษตรกรวางจำหน่ายผลผลิต เพื่อให้ชาวสวนมีจุดจำหน่าย

“ปีนี้จะต้องทำให้เกษตรกรต้องมีกำไรจากการประกอบการ ซึ่งปัจจุบันราคาผลผลิตลำไยได้ปรับตัวสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา เช่น ลำไยเกรด C ในปีก่อนขายได้กิโลกรัมละ 1 บาท แต่ปีนี้ขายได้กิโลกรัมละ 3 บาท ลำไยเกรด B ปีก่อนขายได้ กก.ละ 2- 3 บาท ปีนี้มีโอกาสจะขายได้ กก.ละ 8 บาท โดยมีบริษัท เนเชอรัล เบฟ จำกัด ตกลงทำสัญญารับซื้อลำไยลูกร่วง เพื่อนำไปสกัดแปรรูปเป็นสินค้านวัตกรรม โดยในปีแรกมีแผนจะซื้อถึง 10,000 ตัน”

สำหรับการแก้ไขปัญหาผู้ประกอบการรวบรวมผลไม้ (ล้ง) ที่มีบางรายเอาเปรียบเกษตรกรนั้น ทางกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน เพิ่มการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด หากมีพฤติกรรมที่เอารัดเอาเปรียบเกษตรกรก็จะมีการดำเนินการตามกฎหมาย

แคมเปญร่วมไปรษณีย์ไทย

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมได้ทำความร่วมมือร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด สหกรณ์ประตูป่า จ.ลำพูน และสหกรณ์จอมทอง จ.เชียงใหม่ เพื่อกระตุ้นตลาดโดยให้ประชาชนสามารถสั่งซื้อลำไยสด ขนาดบรรจุ 3 กก. และขนาด 5 กก.ได้ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ ทางไปรษณีย์จะดำเนินการจัดส่งให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไปเป็นระยะเวลา 2 เดือน เพื่อให้ทันกับช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด

อินโดฯสกัดนำเข้าลำไย

ในส่วนของตลาดส่งออกนั้น ปัจจุบันติดปัญหาจากกรณีที่อินโดนีเซียออกมาตรการจำกัดการนำเข้าสินค้าพืชสวนปี 2561 ครอบคลุมสินค้า 28 รายการ เพื่อไม่ให้มีการนำเข้าไปตรงกับช่วงฤดูเก็บเกี่ยวของอินโดนีเซียช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อพืชสวนไทย โดยเฉพาะ “สินค้าลำไย” ได้รับผลกระทบสูงที่สุด เพราะในปี 2560 ที่ผ่านมาไทยส่งออกลำไยสด 726,413 ตัน เป็นการส่งออกไปยังตลาดอินโดนีเซียเป็นอันดับที่ 3 สัดส่วน 13.48% รองจากเวียดนามที่มีสัดส่วน 55.68% และจีน 24.93%

ที่ผ่านมาภาครัฐได้เดินหน้าแก้ไขปัญหานี้ทุกวิธี ทั้งยังได้เชื่อมโยงตลาดลำไยเพื่อขยายตลาดส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ เช่น อินเดีย รัสเซีย ยุโรป เพื่อทดแทนการส่งออกไปอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ไทยยังได้บรรลุความตกลงกับ Tmall เพิ่งจะเข้ามาช่วยรับซื้อผลผลิตลำไยรถลากปริมาณ 10,000 ตัน ไปจำหน่ายให้กับอาลีบาบาช่วยให้มีช่องทางการส่งออกได้มากขึ้น

ดึงผู้นำเข้าต่างชาติ

นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 17-20 กรกฎาคมนี้ จะมีคณะผู้นำเข้าจากตลาดที่มีศักยภาพทั้งอินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเจรจากับผู้ผลิต และผู้ส่งออกลำไยและผลิตภัณฑ์ลำไย 15-20 ราย จากจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน โดยคาดว่าจะมีการสั่งซื้อทันทีประมาณ 3,000 ตัน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้จัดสัมมนาให้ความรู้เกษตรกรในการผลิตสินค้าเพื่อส่งเสริมการส่งออกลำไยไปยังตลาดคู่ค้าเอฟทีเอ ซึ่งมีทั้งหมด 12 ฉบับ ที่ให้มีการลดภาษีนำเข้าเป็น 0% ทั้งจีน และญี่ปุ่น

ชี้ผลผลิตลด-ราคาดี

นายสมหมาย คำมาสาร ประธานสภาเกษตรกร จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปีนี้กระทรวงพาณิชย์ออกมาตรการรักษาเสถียรภาพลำไยได้รวดเร็วขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ระดับราคาผลผลิตลำไยในปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อน โดยขณะนี้ลำไยเกรด AA กก.ละ 21-22 บาท จากปีก่อน กก.ละ 12 บาท จึงมีกำไรจากต้นทุนการผลิต กก.ละ 14 บาท

ข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดว่า ผลผลิตลำไยปี 2561/2562 จะออกสู่ตลาดปริมาณ 1.134 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนที่มี 1.14 ล้านตัน โดยจะออกสู่ตลาดในเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ ซึ่งในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่มีผลผลิต 130,000 ตัน ซึ่งจำหน่ายเป็นลำไยสด 30% และเป็นลำไยอบแห้ง 70%

“ปริมาณผลผลิตในปีนี้มีแนวโน้มที่จะลดลงจากปีก่อน เพราะฝนมาเร็วในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังออกดอก จึงกระทบต่อการติดผลลำไย ประกอบกับกระทรวงพาณิชย์ออกมาตรการเร็ว น่าจะทำให้ปีนี้ราคาสูงกว่าปีที่ผ่านมา แต่ก็ต้องติดตามในช่วงเดือนสิงหาคมซึ่งผลผลิตออกมามากที่สุด”

อย่างไรก็ตาม ขอให้รัฐเข้ามาดูแลบริหารจัดการลำไยตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ โดยเฉพาะเรื่องล้ง เพราะหากอยู่ในมือของจีนทั้ง 100% อาจส่งผลกระทบต่อราคารับซื้อลำไย ดังนั้น รัฐบาลควรเข้ามาดูแลให้เกิดความสมดุล