“สมคิด”โชว์GDPโต 5%ดึงญี่ปุ่น หมื่นบริษัทปักธงEEC เชื่อมโลก

“สมคิด” โชว์จีดีพีไทยทะลุ 5% ต่างชาติลงทุน 5 เดือน 500 โครงการ 6 หมื่นล้าน ยั่วน้ำลายนักธุรกิจญี่ปุ่นหมื่นบริษัทใช้ไทยฐานลงทุนเชื่อมเอเชีย-ตอ.กลาง บีโอไอให้สิทธิ์เพิ่มในอีอีซีสูงสุด 50% อัพเดตลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ 2.2 ล้านล้านบาท รับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถากับนักลงทุนญี่ปุ่น 800 คนที่เมืองนาโกยา ในหัวข้อ”Thailand as a Key Driver of Regional Economic Growth” ในโอกาสโรดโชว์เศรษฐกิจไทยและแพ็กเกจโครงการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นและชักจูงนักลงทุนญี่ปุ่นร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม-พาณิชย์ จัดโดยสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

ญี่ปุ่นเชื่อมั่นไทยพุ่งจีดีพีทะลุ 5%

นายสมคิดกล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยโชคไม่ดีมีความขัดแย้งทางความคิด เกิดความผันผวนทางการเมือง ส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ชะงัก แต่ขณะนี้ตัวเลขเศรษฐกิจหลายดัชนีเพิ่มขึ้นนักท่องเที่ยวคาดการณ์เพิ่มขึ้น 40 ล้านคน จาก 35 ล้านคนในปีที่ผ่านมา การลงทุนจากต่างประเทศ 5 เดือนแรก 300 โครงการ กว่า 6 หมื่นล้านบาท ความเชื่อมั่นอยู่ในระดับดีมาก จีดีพีขยายตัว 4-5% และจะไม่ใช่ข้อจำกัดอีกต่อไป และผลสำรวจของเจโทรพบว่านักลงทุนญี่ปุ่นเชื่อมั่นไทยเพิ่มขึ้น จากต้นปี 2560 อยู่ในระดับ 14 สู่ 34 ในปลายปีที่แล้ว ต้นปีนี้ 36 ล่าสุดเพิ่มเป็นระดับ 40 การไต่อันดับเพิ่มขึ้นในอัตราเช่นนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อน

นายสมคิดแจ้งให้นักลงทุนญี่ปุ่นทราบว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มุ่งมั่นปฏิรูป เปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เกิดโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ ในเขตอีอีซี รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณลงทุนทุกด้าน พร้อมมาตรการทางภาษี และการสร้างเมืองใหม่ ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมามูลค่าการลงทุนในอีอีซีสูงกว่า 6 แสนล้านบาท

ขณะที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวโดยลำดับ จากโต 0.9% เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เป็น 3.9% ในปีที่ผ่านมา และในไตรมาส 1 ปีนี้ 4.8% ที่น่าสนใจคือ ช่วง 2 เดือนของไตรมาส 2 ดัชนีเศรษฐกิจทุกตัวขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ การส่งออกที่สูงกว่า 13%

โชว์ลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ล้านล้าน

แม้การเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ในระดับที่น่าพอใจยิ่ง แต่ประเทศไทยเชื่อมั่นว่าเรายังมีศักยภาพอีกมากที่จะเติบโตได้ รัฐบาลจึงเริ่มลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ด้วยงบฯลงทุนนับล้านล้านบาท ทั้งด้านคมนาคมทางบก รถไฟ สนามบิน ท่าเรือ พลังงาน ไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล มุ่งเน้นการยกระดับมูลค่าผลผลิตในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอีอีซีรองรับการเป็นศูนย์กลางการผลิตให้เป็น transshipment port พัฒนาระบบโลจิสติกส์ภายใต้ความร่วมมือแบบหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐ-ภาคเอกชน PPP (public-private-partnership)

ถ้าไม่มีญี่ปุ่น ไทยมีวันนี้ไม่ได้

นายสมคิดกล่าวด้วยว่า “พัฒนาการทางเศรษฐกิจของไทยในรอบ 30 ปีนี้ก้าวไปไกลมาก แต่มันไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยหากปราศจากความร่วมมือและสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น และจากความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างนักธุรกิจญี่ปุ่นและไทย ครั้งนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ไทยจะยกระดับตนเองให้ก้าวกระโดดไปอีกระดับหนึ่ง หากไทยสามารถขับเคลื่อนได้ตามเป้าหมาย ก้าวสู่จุดที่ดีกว่าและเหนือกว่าในอดีต”

“ผมในฐานะของรองนายกฯที่ดูแลเศรษฐกิจไทย ที่มีส่วนริเริ่มและร่วมกับญี่ปุ่นในการสร้าง JTEPA รองนายกฯที่ดูแลนักลงทุนจากญี่ปุ่นกว่า 7,000 บริษัท ตลอดช่วงเวลาตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว ผมมาญี่ปุ่นตั้งใจมาที่นาโกยา จังหวัดไอจิอีกครั้ง ก็เพื่อมาให้ข้อมูลและรายงานสภาพการณ์ล่าสุดของพัฒนาการในประเทศไทย และมาเพื่อเชื้อเชิญท่านทั้งหลายให้ไปเยี่ยมเยียนอีอีซีสักครั้ง”

พร้อมกันนี้ นายสมคิดยังได้ย้ำนโยบายของรัฐบาลไทยว่า จะกระชับความสัมพันธ์กับระดับท้องถิ่นของญี่ปุ่นซึ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากท้องถิ่นของญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีเอกลักษณ์ จึงได้เลือกเดินทางเยือนจังหวัดมิเอะและจังหวัดไอจิเป็นจังหวัดที่ 2 และ 3 ต่อจากการเยือนจังหวัดฟูกูโอกะเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อเชิญชวนบริษัทขนาดใหญ่รวมทั้งธุรกิจเอสเอ็มอี และสตาร์ตอัพของจังหวัดไอจิ ในสาขาที่มีศักยภาพและสอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย เช่น ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนอากาศยานและอวกาศไปลงทุนในอีอีซีจากที่ปัจจุบันมีบริษัทของจังหวัดไอจิที่ลงทุนในไทยกว่า 300 บริษัท 440 สาขา มีมูลค่าลงทุน 1 ใน 3 ของมูลค่าลงทุนทั้งหมดของญี่ปุ่นในไทย รวมทั้งให้พิจารณาจัดตั้งสำนักงานปฏิบัติการในภูมิภาคไทย ซึ่งสามารถใช้เป็นฐานส่งออกจากไทยไปยังเอเชียหรือตะวันออกกลางได้

“อุตตม” หวังธุรกิจเพิ่มหมื่นบริษัท

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในหัวข้อการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ Thailand 4.0 และเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกว่า มีความหวังเป็นอย่างยิ่งจะได้ต้อนรับนักลงทุนญี่ปุ่นรายใหม่ ๆ จากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 7,000 รายให้เพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่นราย โดยเฉพาะการเข้าไปลงทุนในเขตอีอีซีปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นในพื้นที่อีอีซี 1,016 บริษัท คาดว่าการลงทุนในพื้นที่อีอีซีจะสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี

ขณะที่มีหลายอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นที่สนใจของผู้ประกอบการทั้งไทยและญี่ปุ่น จึงมีโอกาสมากที่จะร่วมลงทุนกันซึ่งเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลใช้ในการปฏิรูปเศรษฐกิจ คือ ความร่วมมือแบบหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐ-ภาคเอกชน หรือ PPP ซึ่งเอกชนจะเป็นผู้นำในการต่อยอดและยกระดับเทคโนโลยีการวิจัยและพัฒนาอย่างครบวงจรรวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จึงขอเน้นว่า ประเทศไทยเปิดโอกาสและมุ่งหวังร่วมมือเป็นหุ้นส่วนกับนานาชาติในการปรับโครงสร้างปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย 4.0 บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันที่ยั่งยืน หรือ win-win โดยเฉพาะกับประเทศญี่ปุ่น

“กอบศักดิ์” หั่นขั้นตอนลงทุน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยจะตัดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคการลงทุนให้เหลือน้อยลง ปัจจุบันคู่มือที่นักลงทุนต้องใช้ทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัดมีมากถึง 700,000 คู่มือ จะตัดให้เหลือ 6,000 คู่มือเท่านั้น ส่วนแบบใบขออนุญาตต่าง ๆ จะเหลือเพียง 1,000 แบบเท่านั้น เอื้อให้นักลงทุนทำธุรกิจได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น เช่น การลงทุนในอีอีซีจะลดขั้นตอนเหลือเพียง 8-10 เดือนเท่านั้น จาก 40 เดือนในการลงทุนแบบ PPP

“ไทยจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรวม 56 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 65,628 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.2 ล้านบาทเช่น ระบบขนส่งมวลชน รถไฟฟ้า 11 สายสนามบิน 4 แห่ง ทางด่วน มอเตอร์เวย์ รถไฟไฮสปีด 4 เส้นทาง ท่าเรือ 5 แห่ง เป็นต้น”

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการ บีโอไอกล่าวว่า ให้สิทธิพิเศษสำหรับการลงทุนในอีอีซีมากที่สุด หวังว่านักธุรกิจจะสนใจและยื่นเข้ารับการส่งเสริมการลงทุนในสาขาที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น ทั้งด้านอากาศยาน ไบโอเทค หากลงทุนในเขตอีอีซีจะได้สิทธิพิเศษเพิ่มจากปกติสูงสุด 50% ระยะเวลาลงทุน 3-5 ปี