“บิ๊กป้อม” ลั่น ! แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานประมงต้องรอบคอบ เพราะเกี่ยวกับ IUU

วันนี้ (31 สิงหาคม 2561) ที่ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) ครั้งที่ 1/2561 พร้อมย้ำปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคประมง ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) จึงต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ สั่งทุกหน่วยดำเนินการตามมติที่ประชุม โดยให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงาน โดยมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นายวิวัฒน์ ตังหงส์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

“พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังการประชุม กนร. ว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เห็นว่าปัญหาการทำงานของ
คนต่างด้าวและปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมงทะเลเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคประมง ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) จึงต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ

โดยได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการรับทราบและดำเนินการตามมติที่ประชุม โดยมอบหมายให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักในการประสาน ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงนำผลการประชุมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมงทะเล และให้หน่วยงานด้านความมั่นคงสร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจกับแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมงทะเล เพื่อให้การปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมง ซึ่งปัจจุบันขาดแคลนอยู่ประมาณ 53,649 คน ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอใน 3 แนวทาง

แนวทางที่ 1 ขยายระยะเวลาการทำงานให้กับแรงงานประมงทะเลที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและได้รับอนุญาตทำงานตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 กลุ่มที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ จำนวน 11,000 คน ซึ่งระยะเวลาการอยู่ในราชอาณาจักรจะหมดอายุในวันที่ 30 กันยายน 2561 ออกไปอีก 2 ปี ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 ดำเนินการในลักษณะศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) โดยอนุญาตครั้งละ 1 ปี ดำเนินการตั้งแต่ 20 สิงหาคม – 30 กันยายน 2561 ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงาน ณ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ 22 จังหวัดชายทะเล มีหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการคือ (1) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตรวจลงตรา (VISA) ประทับตราอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรครั้งละ 1 ปี ถึงวันที่ 30 กันยายน 2562 และต่ออายุได้อีกถึง 30 กันยายน 2563 (2) สำนักงานจัดหางานจังหวัด รับคำขอและพิจารณาอนุญาตทำงาน ครั้งละ 1 ปี ตามที่แรงงานต่างด้าวได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร โดยออกใบอนุญาตทำงาน (เล่มสีส้ม) ให้กับแรงงานต่างด้าว (3) กรมประมงออกหนังสือคนประจำเรือ (Seabook) ให้กับแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงาน (4) แรงงานต่างด้าวขอรับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรชมพู) ณ สำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่แรงงาน
ต่างด้าวอาศัยอยู่

แนวทางที่ 2 นำเข้าแรงงานจากประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา ซึ่งจากการหารือการนำเข้าแรงงานประมงทะเลกับทางการเมียนมา ปรากฎว่าทางการเมียนมาตอบรับการส่งแรงงานเข้ามา โดยจะนำเข้ามาทางด้านจังหวัดระนอง-เกาะสอง ซึ่งกระทรวงแรงงานได้เตรียมความพร้อมโดยจัดตั้งศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างจังหวัดระนอง ภายในศูนย์ฯ จะมีการดำเนินการในลักษณะศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ประกอบด้วย (1) กระทรวงสาธารณสุขตรวจสุขภาพ ประกันสุขภาพ (2) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตรวจลงตรา (VISA) และประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร (3) กระทรวงแรงงานออกใบอนุญาตทำงาน (4) กรมการปกครองจัดทำทะเบียนประวัติ คาดว่าทางการเมียนมาจะส่งแรงงานเข้ามาทำงานประมงทะเลได้อย่างช้าประมาณเดือนพฤศจิกายน 2561

และ แนวทางที่ 3 มาตรการเร่งด่วนชั่วคราว อนุญาตให้แรงงานที่ถือหนังสือเดินทาง (Passport) หนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) เอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity) เอกสารเดินทาง (Travel Document) ซึ่งเอกสารดังกล่าวยังมีอายุเหลืออยู่ อยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำงานในกิจการประมงทะเล เป็นเวลา 1 ปี โดยใช้หนังสือคนประจำเรือ (Seabook) เป็นใบอนุญาตทำงาน ทั้งนี้ อนุมัติให้กระทรวงมหาดไทยออกประกาศผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขของการอนุญาตให้แรงงานทำงานได้ตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558

“นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนามที่ลักลอบทำงานในประเทศไทยกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และหากประสงค์จะทำงานให้กลับเข้ามาทำงานตามระบบ MOU และเพิ่มประเภทงานให้ทำได้นอกเหนือจากกรรมกรในกิจการก่อสร้างและประมงทะเลเป็นงานกรรมกรในทุกกิจการเช่นเดียวกับแรงงานต่างด้าวกัมพูชา ลาว เมียนมา”