“ธนินท์”เทหมดหน้าตัก ยุทธศาสตร์ซีพีลงทุนเมือง-อาหาร

“ธนินท์ เจียรวนนท์” เปิดยุทธศาสตร์ก้าวใหม่เครือเจริญโภคภัณฑ์ ลงทุนโปรเจ็กต์ยักษ์หลายแสนล้านเมืองใหม่ “แปดริ้ว” เชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจอีอีซี จับมือพันธมิตรทั่วโลกทั้ง “จีน-ญี่ปุ่น-ฝรั่งเศส-อิตาลี” สู้ศึกไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน แก้ปมเซเว่นฯขย่มร้านโชห่วย วางแผนจับมือโชห่วย 2 แสนราย ยกระดับร้านค้าจัดระบบ-ขนส่ง-ป้อนสินค้าพร้อม ปูพรมแฟรนไชส์ร้านอาหาร 5 หมื่นแห่งทั่วประเทศ หวังต่อยอดขายวัตถุดิบอาหาร 

การปรับเปลี่ยนของกระแสโลกแบบพลิกองศา ผลพวงจากดิจิทัลดิสรัปชั่น ทำให้องค์กรธุรกิจไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง ล่าสุด เจ้าสัว “ธนินท์ เจียรวนนท์” แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ฉายภาพทิศทางและวิสัยทัศน์ในการนำพาอาณาจักรธุรกิจ ซึ่งครอบคลุมหลากหลายสาขาครบวงจรทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งขยายฐาน ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจหลักเดิมอย่างการเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตร อาหาร ธุรกิจค้าปลีก ฯลฯ และการขยับรุกธุรกิจใหม่สอดรับกับนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้โมเดล “ไทยแลนด์ 4.0” ของรัฐบาล อย่างการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ฯลฯ ด้วยการแปรวิกฤตให้เป็นโอกาส แม้จะท้าทายและวางเดิมพันค่อนข้างสูง

ซี.พี.ลุยเมืองใหม่ “ฉะเชิงเทรา”

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) เปิดเผยว่า กลุ่ม ซี.พี.มีแผนลงทุนหลายแสนล้านบาท เพื่อสร้างโครงการเมืองใหม่ที่อำเภอแปดริ้ว จังหวัดฉะเชิงเทรา บนพื้นที่ 10,000 ไร่ ในคอนเซ็ปต์เมืองอัจฉริยะ (smart city) ที่มีการวางผังเมืองและระบบสาธารณูปโภคครบถ้วน รวมทั้งบริการด้านอื่น ๆ ของเมืองให้มารวมกันอยู่ในจุดเดียว เช่น โรงพยาบาล, มหาวิทยาลัย, ศูนย์การค้า เป็นต้น เนื่องจากอยู่ไม่ห่างจากกรุงเทพมหานคร

“ฉะเชิงเทราจะเป็นโครงการทดลองในการเชื่อมต่อกับอีอีซี ซึ่งจะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าระบบรางเชื่อมต่อเข้ามายังสถานีมักกะสัน เพื่อให้การเดินทางเข้ามาถึงกรุงเทพฯทำได้ภายใน 20 นาที โดยมีรถไฟจะออกทุก 1 หรือ 2 นาที”

ขณะเดียวกันภายในเมืองจะใช้ระบบ zero waste หรือการรีไซเคิลขยะให้เป็นศูนย์ เช่น การรีไซเคิล การผลิตไฟฟ้า การแปรรูป ส่วนถนนจะทำเป็น 3 ชั้น ชั้นบนที่อยู่บนพื้นเป็นสวนสาธารณะ ชั้นกลางเป็นถนนและทางรถไฟ ชั้นล่างสุดเป็นส่วนของระบบสาธารณูปโภค เช่น ขยะ ท่อน้ำเสีย ท่อบริการของระบบไฟฟ้า-ประปา และมีศูนย์การค้าใหญ่อยู่กลางเมืองรวมเอาไว้ที่เดียว

จ้างสหรัฐ-อังกฤษออกแบบ

“แนวคิดเมืองใหม่ คือ รถต้องไม่ติด หรือคนสามารถเดินไปทำงานได้ ถึงทำข้างบนเป็นสวนสาธารณะ ต้องรองรับประชากรได้ไม่ต่ำกว่า 300,000 คน เพื่อให้ธุรกิจและบริการคุ้มทุน เมืองยิ่งใหญ่จะยิ่งดี เพราะจะคุ้มค่าในการลงทุนสาธารณูปโภค ขณะนี้อยู่ระหว่างให้สถาปนิก และที่ปรึกษาจากสหรัฐและอังกฤษ ออกแบบและวางแผนอยู่”

นายธนินท์เห็นว่า เมืองใหม่ในอีอีซีควรมี 3 แห่ง คือ แปดริ้ว พัทยา และระยอง (ตามลำดับ) และน่าจะมีประมาณ 20 แห่งทั่วประเทศ รองรับประชากรให้ได้ 6 ล้านคน อย่างไรก็ตาม กลุ่ม ซี.พี.จะไม่ลงทุนคนเดียว แต่จะชวนนักธุรกิจทั้งไทยและต่างประเทศมาร่วมลงทุนด้วย

ผนึกพันธมิตรทั่วโลกชิงไฮสปีด

สำหรับโครงสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน นายธนินท์กล่าวว่า ขณะนี้มีพันธมิตรทั้งจากจีน และญี่ปุ่นร่วมลงทุน โดยกำลังดูพาร์ตเนอร์ในประเทศไทยว่าจะเป็นเจ้าไหน รวมทั้งมีการคุยกับฝรั่งเศส และอิตาลีไว้ด้วย แต่ที่อยากได้เพิ่มเติม คือ สหรัฐ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันธมิตรที่จะร่วมดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงกับกลุ่ม ซี.พี. จะมีพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนจากต่างประเทศ ตั้งแต่การรถไฟฝรั่งเศส, การรถไฟจีน, ฮิตาชิ จากญี่ปุ่น, กลุ่ม Ansaldo ของอิตาลี (ที่ฮิตาชิเทกโอเวอร์และเปลี่ยนชื่อเป็น Hitachi Rail Italy) ส่วนกลุ่มนักลงทุนไทย อยู่ระหว่างการเจรจากับกลุ่ม ช.การช่าง

ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการลงทุนเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท หากรวมกับการลงทุนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในบริเวณสถานีมักกะสัน ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนอีกไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท รวมค่าสัมปทานที่ต้องจ่ายให้รัฐ 50,800 ล้านบาท (ระยะเวลา 50 ปี) เบ็ดเสร็จจะต้องใช้เงินเกือบ 5 แสนล้านบาท

ชูเกษตรโมเดลใหม่

ขณะเดียวกัน นายธนินท์ได้กล่าวถึงคอนเซ็ปต์การเกษตรรูปแบบใหม่ มี 2 เรื่อง 1.นาที่ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง และต้องอยู่ในเขตชลประทาน กั้นคันดินให้สูง 1.50 เมตร ปรับพื้นข้างล่างที่เป็นดินเหนียวให้แน่น น้ำซึมไม่ได้ แล้วลงดินซุยสำหรับปลูกข้าวหนาประมาณ 50-60 ซม. เพราะรากข้าวยาวแค่นั้น ซึ่งปกติแมลงจะมากินข้าว 2 ช่วง คือ ตอนเป็นต้นอ่อนกับตอนออกดอก ช่วงนั้นให้ไขน้ำเข้าให้ท่วมมิดข้าว เพราะปกติข้าวทนจมน้ำได้ 8 ชม. ขณะที่แมลงจมน้ำ 1 ชม.ก็ตาย เมื่อเกิน 1 ชั่วโมงแล้ว ให้ระบายน้ำออก จึงแทบไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง หรือไม่ใช้เลยก็ได้

สาเหตุที่ต้องปรับดินเพราะน้ำจะไม่ซึมลงไป และแทร็กเตอร์ลงลุยได้ แต่ต้องทำแปลงใหญ่ถึงจะคุ้ม โดยตอนนี้กำลังทดลองอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร และ 2.ควรลดพื้นที่ปลูกข้าว จากตอนนี้มี 105 ล้านไร่ เพราะเมื่อไรที่จีน และอินเดีย กินข้าวน้อยลง หรือส่งออกมากขึ้นก็จะแย่ และวันนี้พม่ากำลังกลับมา เริ่มพัฒนาที่นาเป็นการใหญ่ เพราะก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 พม่า คือ ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่สุดของโลก อีกทั้งเงื่อนไขการปลูกไม่เป็นรองไทย

ดังนั้นจึงต้องดูพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสม เช่น ภาคกลาง น้ำมาก สวนผลไม้ดีที่สุด แต่ต้องรอ 3 ปี ตรงนี้ต้องคิดว่าจะเสริมรายได้เกษตรกรในช่วงต้นอย่างไร หรือในพื้นที่อื่น ถ้าปลูกข้าวไม่คุ้ม ผลผลิตมีตั้งแต่ 300-1,000 กิโลกรัมต่อไร่ จึงควรไปปลูกอย่างอื่นที่คุ้มกว่า เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิต 1,700 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นต้น

“เรื่องปลูกข้าว ถ้าเจ้าของไม่พร้อมทำเอง ซี.พี.พร้อมสวม โดยจ่ายค่าเช่านาเท่ากับรายได้เดิม +10% แต่ก็จะไม่ทำเอง ใช้วิธีไปหาคนรุ่นใหม่มาทำเกษตรและใช้เทคโนโลยี เพื่อให้เกิดเถ้าแก่ในแต่ละพื้นที่”

ทะลวงจุดอ่อนค้าปลีก

นายธนินท์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเมืองไทยมีโชห่วยมากถึง 600,000 ร้าน เป็นเซเว่นอีเลฟเว่น 11,000 สาขา แม้จะเปิดเต็มที่ก็คงไม่เกิน 20,000 สาขา แม้จะมีพื้นที่อีกมากที่ยกระดับได้ แต่ปัญหาคือร้านเยอะไป จะแย่งกันจนไม่มีใครกำไร จากการสำรวจแล้วคิดว่า ควรมีประมาณ 200,000 ร้านค้า และสิ่งที่ต้องขายเพิ่มคือ ของสด

“สิ่งที่ ซี.พี.จะทำให้ คือ 1.อบรมเจ้าของร้านเดิม 2.ลงตู้แช่ให้ฟรี 3.จัดการเรื่องขนส่งให้ 4.จัดหน้าร้านให้ใหม่ ให้สะอาด และสว่าง เจ้าของทำหน้าที่เช็กสต๊อกให้ดี แต่จะต้องเข้าไปคุยกับในท้องถิ่นด้วย เช่น ถ้าในหมู่บ้านและตำบลมี 3 ร้านแล้ว แต่ร้านเดียวอยู่ได้ ก็ต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วย 2 ร้านที่เหลือให้ปรับเปลี่ยนไปทำอะไรเพิ่มเติม”

แฟรนไชส์ร้านอาหาร-วัตถุดิบซีพี

“ในส่วน ซี.พี. นอกจากปรับโชห่วยยังจะเปิดภัตตาคารและร้านอาหารเพิ่ม 50,000 จุด แต่ไม่ทำเอง จะเป็นรูปแบบแฟรนไชส์ กำลังอบรมคนที่จะเป็นเถ้าแก่และเจ้าของร้าน โดยให้ภัตตาคารรับของจากร้านโชห่วย ช่วยระบายสินค้า อาหารที่ผลิตหลากหลายขึ้น ร้านไม่ต้องทำเอง เอาของสำเร็จไปต้ม ผัด ทอด นึ่ง แต่ให้แตกต่างจากร้านอาหารทั่วไปใน 2 เรื่อง คือ 1. มีบริการดีลิเวอรี่ด้วยมอเตอร์ไซค์, จักรยาน หรือเดินในรัศมี 1 กิโลเมตร และ 2. มีโคเวิร์กกิ้งสเปซในร้าน ให้มานั่งทำงาน สั่งอาหาร สั่งกาแฟได้ด้วย ซึ่งเซเว่นฯต้องปรับ เพิ่มบริการดีลิเวอรี่ด้วย

นายธนินท์กล่าวว่า ในส่วนของ ซี.พี.ก็จะต้องปรับตัวด้วย โดยเฉพาะเรื่องโลจิสติกส์ เพื่อให้รองรับธุรกิจข้างนอกที่เปลี่ยน จากปัจจุบันมีรถขนปุ๋ย, อาหารสัตว์, เมล็ดพันธุ์ และขนสินค้าส่งร้านเซเว่นฯ ฯลฯ มีทั้งหมดประมาณ 18,000 คัน ต่อไปจะเอามารวมเป็นที่เดียว สร้างองค์ความรู้เรื่องการขนส่งและโลจิสติกส์

“ถ้าขยายเพิ่มและรวมกับรถของเถ้าแก่ใหม่ และแฟรนไชส์ด้วย จะมีรถทั้งหมดประมาณ 200,000 คัน ตัวอย่าง เช่น ถ้าถนนเส้นหนึ่งมีฟาร์ม มีโรงแปรรูปอยู่แล้วก็จะมองหาร้านโชห่วย หาทำเลเปิดภัตตาคาร เพื่อให้การขนส่งมีประสิทธิภาพสูงสุด”

ธนินท์ขอเวลา 10 ปีเกษียณ

นอกจากนี้ นายธนินท์กล่าวเพิ่มเติมว่า อีก 10 ปีจะเกษียณ ซึ่งตอนนี้อายุ 79 ปี จะวางมือทั้งหมดตอนอายุ 89 ปี โดยให้สุภกิต (เจียรวนนท์) ที่ตอนนี้เป็นประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ ขึ้นเป็นประธานอาวุโสแทนตัวเอง และให้ ศุภชัย (เจียรวนนท์) ขึ้นจากซีอีโอเป็นประธานกรรมการ ฉะนั้นหน้าที่อีกอย่างหนึ่งใน 10 ปีนี้ก็คือ การเฟ้นหาคนใหม่ที่จะขึ้นมาเป็นซีอีโอของทั้งเครือ จะเป็นมืออาชีพก็ได้ หรือเจียรวนนท์ก็ได้ ที่สำคัญ ต้องทำงานได้ เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

สอดรับนโยบายรัฐบาล

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า แนวคิดการทำเกษตรโมเดลใหม่ของนายธนินท์ อาทิ การปลูกพืชโดยไม่ใช้ยาฆ่าแมลง การสนับสนุนทำเกษตรในพื้นที่ชลประทาน การทำเกษตร ปศุสัตว์ในพื้นที่ที่เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศ สอดคล้องกับนโยบายการเกษตรของรัฐบาลปัจจุบัน ที่กำลังส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ การทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ รวมทั้งการจัดโซนนิ่งพื้นที่ปลูกข้าว หรือพืชอื่น ๆ นอกจากนี้แนวคิดในการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ซึ่งเป็นเรื่องที่ ซี.พี.ศึกษาและมีแผนพัฒนาเป็นโมเดลธุรกิจใหม่เป็นเมืองเกษตรโดยเฉพาะ ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับนโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาล และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ที่ต้องการปฏิรูปภาคการเกษตรตามนโยบายการตลาดนำการผลิต

ล่าสุด ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รองนายกฯสมคิดได้มอบนโยบายให้กระทรวงเกษตรฯขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมภายในระยะเวลา 7 เดือนก่อนมีการเลือกตั้ง อาทิ การกำหนดเป้าหมายชนิดพื้นที่เหมาะสมในการเพาะปลูกให้กับเกษตรกร การเชื่อมโยงแหล่งรับซื้อผลผลิต การสนับสนุนปัจจัยการผลิตอย่างเมล็ดพันธุ์พืช ปุ๋ย เป็นต้น และให้กระทรวงเกษตรฯร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ กับภาคเอกชนรายใหญ่ อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล, บริษัท เทสโก้ โลตัส รวมทั้งเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นต้น