พณ.ไฟเขียวงบต่อเนื่อง3ปี ยกเครื่องSMEsProactive

พาณิชย์อัดงบ 500 ล้านบาท ยกเครื่องโครงการ SMEs Pro-active ต่ออีก 3 ปี ด้านสมาพันธ์เอสเอ็มอีชี้ติดล็อกเงื่อนไขโครงการ

นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรมได้รับจัดสรรงบประมาณ 500 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs Pro-active Program) ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี นับจากปีงบประมาณ 2562-2564 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันได้มากขึ้น

ล่าสุดกรมได้ปรับหลักเกณฑ์เพิ่มเติมในการเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น นิติบุคคลที่เป็นผู้ผลิตและหรือผู้ส่งออกสินค้าไทยที่มีประสบการณ์การส่งออก โดยมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังมูลค่า 500 ล้านบาท จากเดิมย้อนหลัง 5 ปี และมูลค่าส่งออก 200 ล้านบาทนับจากปีที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมทั้งยกเลิกหลักเกณฑ์เดิมบางเรื่องเกี่ยวกับกำหนดลักษณะกิจกรรมที่จะให้การสนับสนุน เพื่อเข้าร่วมแสดงสินค้า-บริการในต่างประเทศ ซึ่งเป็นงานที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือหน่วยงานอื่นของภาครัฐ ไม่ได้นำผู้ประกอบการเข้าร่วมจัดแสดงสินค้า-บริการ ออก เพื่อเปิดกว้างให้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมมากขึ้น และยกเลิกการพิจารณากิจกรรมรายตลาด กลุ่มสินค้า และเพิ่มกิจกรรมสร้างโอกาสทางการค้าและเครือข่ายทางธุรกิจในต่างประเทศ ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อกิจกรรม เช่น กิจกรรมการเจรจาการค้า กิจกรรมสร้างเครือข่าย กิจกรรมการนำเสนอผลงาน เพื่อขายและระดมทุน เป็นต้น

ทั้งนี้ ได้ปรับสัดส่วนวงเงินสนับสนุนและจำนวนสิทธิ์ในการเข้าร่วมกิจกรรมใหม่ด้วย โดยได้แบ่งกลุ่มเอสเอ็มอีออกเป็น กลุ่ม A ซึ่งจะได้รับสิทธิ์เข้าร่วมงาน 4 ครั้ง, B ซึ่งจะได้รับสิทธิ์เข้าร่วมงาน 3 ครั้ง, C ซึ่งจะได้รับสิทธิ์เข้าร่วมงาน 2 ครั้ง, และ D ซึ่งจะได้รับสิทธิ์เข้าร่วมงาน 1 ครั้ง แต่วงเงินสนับสนุนทุกกลุ่มจะได้รับเท่ากัน ครั้งละไม่เกิน 200,000 บาท

นายณพพงศ์ ธีระวร ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า ยังมองว่าโครงการนี้ยังจำกัดคุณสมบัติของผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการมากเกินไป โดยเฉพาะเรื่องการปรับเพิ่มคุณสมบัติให้สำหรับผู้ประกอบการที่สามารถส่งออกเฉลี่ยได้ 500 ล้านบาท ถือเป็นมูลค่าสูงเกินไป ควรใช้ระดับเดิมที่ 200 ล้านบาท จะเหมาะสมกว่า และยังขาดความชัดเจนว่ามูลค่าส่งออกดังกล่าวเป็นมูลค่าเฉลี่ยต่อปี หรือมูลค่าเฉลี่ยส่งออกรวม ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอาจจะเกิดความสับสนได้ อีกทั้งระดับมูลค่าส่งออกที่สูงนั้นหมายความว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายนั้นมีความเข้มแข็งสามารถแข่งขันได้ด้วยตนเองแล้ว ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการการสนับสนุนอาจจะขาดโอกาสได้

Advertisment

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ต้องการให้ปรับเงื่อนไขเพื่อช่วยเอสเอ็มอีที่ไม่ได้อยู่ในสังกัด หน่วยงาน หรือองค์กร ที่หลักเกณฑ์ในโครงการระบุไว้ด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ไม่ได้อยู่ในสังกัดดังกล่าวได้มีโอกาสเข้าถึงความช่วยเหลือจากโครงการบ้าง