บิ๊กตู่ผวาสึนามิเศรษฐกิจรากหญ้า สั่งแท็กทีมอุ้มคนจน-เติมเงินสูงวัย

“บิ๊กตู่” ผวาเศรษฐกิจรากหญ้าอ่วม กำลังซื้อชะลอตัว ติดกับดักหนี้ ค่าครองชีพพุ่ง รายได้ลดกฎระเบียบใหม่อุปสรรคหารายได้ สั่งทุกกระทรวงระดมมาตรการเติมเงินคนจน-คนแก่ 10 ล้านคนชี้ช่องโหว่บัตรคนจน เกษตรกร, ชาวนาไร้สิทธิ ก.พาณิชย์จับมือไทยเบฟ-เบทาโกร-ซี.พี.ช่วยขายผลผลิต ก.เกษตรฯเตรียมอุ้มราคายางอีก2 หมื่นล้าน เผยตัวเลขอัดฉีดรากหญ้าสารพัดโครงการ 6.4 แสนล้าน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับการรายงานข้อมูลด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนระดับฐานรากทั่วประเทศ ซึ่งระบุว่า “เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้นเท่ากับรัฐบาลที่ผ่านมา ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่มองว่า รัฐบาลเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไม่ดี แม้ว่ารัฐบาลได้ออกมาตรการหลายอย่างเพื่อเพิ่มรายได้ให้ผู้มีรายได้น้อย แต่ก็ยังไม่ได้ผล เงินยังไม่หมุนลงไปถึงมือชาวบ้านอย่างทั่วถึง”

ต้นทุนค่าครองชีพพุ่งรายได้ลด

ทั้งนี้ ผลที่ทำให้รายได้เกษตรกร เศรษฐกิจระดับฐานรากยังไม่ฟื้น มาจากราคาพืชผลที่ไม่ดีขึ้น แต่กลับตกลงอย่างมาก เช่น ราคาข้าว, อ้อย, ยางพารา, มะพร้าว โดยรัฐบาลไม่ได้มีการแทรกแซงราคา และไม่สามารถช่วยให้ผลผลิตของเกษตรกรแข่งขันในตลาดการส่งออกได้

แหล่งข่าวกล่าวว่า ประชาชนในระดับฐานรากส่วนหนึ่ง เชื่อมั่นว่ารัฐบาลสามารถออกมาตรการ หรือบริหารให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้ด้วยการออกมาตรการเพื่อผู้มีรายได้น้อย แต่ยังคงครอบคลุมเฉพาะกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรผู้มีรายได้น้อย 11.4 ล้านคน นอกจากนี้ ต้นทุนในการผลิตและค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก็สูงขึ้น เช่น ราคาน้ำมัน, ก๊าซหุงต้ม, ราคาปุ๋ย, ค่าขนส่ง และค่าแรงงาน

ภาพรวมกำลังซื้อน้อยลง ประกอบกับรูปแบบการค้าสมัยใหม่มีคู่แข่งมากขึ้น ประชาชนมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ส่งผลให้การจ่ายโดยรวมฝืดเคืองทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย สะเทือนเศรษฐกิจระดับมหภาค และการลงทุนภาคเอกชน

กฎระเบียบใหม่อุปสรรคหารายได้

อีกทั้งยังมีกฎเรื่องการปลูกพื้นที่ใช้น้ำน้อย ลดพื้นที่ปลูกข้าว และข้อกำหนดใหม่ ๆ ในอาชีพประมง รายย่อย รายกลาง ไม่สามารถออกเรือหาสินค้ามาขายได้ และไม่มีทุนในการปรับปรุงเรือให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล สินค้าและอาชีพต่าง ๆ มีการเก็บภาษีที่เข้มงวด และมีหลายรายการที่ซ้ำซ้อน

ปลื้มบัตรคนจน-บัตร 30 บาท

แหล่งข่าวบอกด้วยว่า สำหรับนโยบายที่ยังครองใจผู้มีรายได้น้อย เช่น โครงการรถเมล์ฟรี, บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค, การขึ้นทะเบียนเกษตรกร, กองทุนหมู่บ้าน, บัตรคนจนหรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, ธงฟ้าประชารัฐ, เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและไร้ดอกเบี้ยของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, ออมสิน, และธนาคารอาคารสงเคราะห์ แม้ว่าจะมีขั้นตอนมากมายและใช้เวลาการอนุมัติยาวนาน โดยกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากธนาคารและสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ส่วนใหญ่กู้เงินเพื่อลงทุนในการประกอบอาชีพ ซื้อปุ๋ย และใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

เหลื่อมล้ำชาวนาไม่ได้บัตรคนจน

ส่วนนโยบายประชารัฐ หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประชาชนเห็นว่าทำให้มีรายได้เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่มีกลุ่มผู้ที่ได้สิทธิเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้ยากจนจริง ๆ ได้สิทธิเพราะมีช่องว่างของกฎระเบียบ เช่น เป็นผู้ไม่มีรายได้ในระบบภาษี, ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน, ไม่ได้มีชื่อเป็นเจ้าของกิจการ ขณะที่ชาวนา เกษตรกร ที่มีรายได้น้อยกลับไม่ได้สิทธิในการครอบครองบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน อีกทั้งมีร้านค้าบางแห่งเอาเปรียบนำของที่มีคุณภาพต่ำมาขาย และคิดค่าบริการ ค่ารูด-ค่าเครื่อง ทำให้ชาวบ้านไม่ได้ใช้เงินเต็มจำนวน

สำหรับมาตรการบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตร 30 บาทรักษาทุกโรค ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นโครงการที่ดีมาก ช่วยให้ชาวบ้านได้รับค่ารักษาพยาบาลฟรี แก้ปัญหาตรงจุด

สั่งเติมเงินคนแก่ 10 ล้านคน

แหล่งข่าวกล่าวถึงผลสำรวจว่า “สำหรับโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ชาวบ้านมองว่าเป็นการนำเงินที่ได้จากรัฐบาลเพื่อทำโครงการของหมู่บ้าน ทำให้เกิดการจ้างงาน มีรายได้เพิ่ม แต่ยังขาดการติดตามผลงาน และมีการทุจริตในบางโครงการ”

ดังนั้น หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ กระทรวงที่ใกล้ชิดประชาชน เร่งปรับปรุงมาตรการด้านเศรษฐกิจสำหรับผู้มีรายได้

น้อยให้ดีขึ้น เน้นการช่วยเหลือด้านค่าครองชีพและลดต้นทุนการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น หามาตรการจ่ายเงินและสวัสดิการเพิ่มเติมให้คนชราที่มีกว่า 10 ล้านคน การประกันราคาพืชผลทางการเกษตร, ควบคุมไม่ให้พ่อค้าคนกลางเอาเปรียบประชาชน, ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้ลดลง เช่น กลุ่มก๊าซหุงต้ม, ปุ๋ยเคมี และเร่งรัดโครงการลงทุนภาครัฐให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

กำลังซื้อรากหญ้าชะลอตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง โดยครึ่งปีแรกขยายตัวที่ 4.8% และในเดือนกรกฎาคม 2561 ขยายตัวต่อเนื่อง ผลจากการส่งออกเติบโตในเกือบทุกตลาด การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวชัดเจนขึ้น รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดี เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเป็น “เศรษฐกิจสองความเร็ว” คือในส่วนของยอดพีระมิด (กลุ่มรายได้สูง) มีสปีดที่รวดเร็ว แต่กลุ่มฐานราก (รายได้น้อย) มีสปีดต่ำ

การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่พบว่าการเติบโตถูกขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายของกลุ่มผู้มีรายได้สูงเป็นหลัก โดยหมวดสินค้าคงทนและหมวดบริการที่สะท้อนถึงการใช้จ่ายของผู้มีรายได้สูง โดยเฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถยนต์เชิงพาณิชย์และรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่มีอัตราการขยายตัวสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะรายได้ของผู้มีรายได้สูงเติบโตต่อเนื่องตามเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันที่สะท้อนถึงการใช้จ่ายของผู้มีรายได้น้อย มีการขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และมีแนวโน้มลดลงด้วย

แม้ว่ารัฐบาลได้พยายามอัดมาตรการช่วยผู้มีรายได้น้อย แต่กำลังซื้อของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังไม่ดีขึ้น ปัญหาสำคัญก็คือภาวะหนี้ของแต่ละครอบครัว ซึ่งสะท้อนจากหนี้ครัวเรือนของไทยที่อยู่สูงระดับ 80% ต่อจีดีพีต่อเนื่องเป็นเวลานาน

คลังรับ ศก.กระจุกตัว

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจภาพรวมของไทยเติบโตที่ระดับ 4.8% แต่ก็มีหลายคนบอกว่ายังไม่กระจายไปสู่ระดับล่าง ซึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง เพราะด้วยระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นทุกแห่งในโลก แต่รัฐบาลเข้าไปช่วยคนที่ด้อยให้มีโอกาสเท่าเทียม ช่วยให้พ้นความยากจนได้ เพราะไม่อย่างนั้นช่องว่าง (gap) จะยิ่งห่างออกไปเรื่อย ๆ

การที่เศรษฐกิจโตสูงก็จะทำให้โอกาสที่คนซึ่งยากจนจะมีโอกาส จะพ้นความยากจน

พาณิชย์รับลูกกระตุ้นรากหญ้า

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว แต่จำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นในช่วงโค้งสุดท้ายของปี โดยหัวใจสำคัญ 3 มาตรการ คือ 1.ดูแลรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร ซึ่งจะมุ่งให้กลไกตลาดทำงาน แต่ก็จำเป็นต้องมีมาตรการดูแลเพื่อให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่เหมาะสมด้วย

“ล่าสุดได้มีการหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายกฤษฎา บุญราช) จะสร้างความร่วมมือในการกำหนดแผนดูแลราคาสินค้าเกษตรอย่างเป็นรูปธรรม โดยกระทรวงเกษตรฯจะจัดทำเป้าหมายการผลิตสินค้าเกษตร นำร่องผลิตสินค้าเกษตรหลังนา จากนั้นจะส่งเสริมประสิทธิภาพ-ลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ทำการตลาดนำการผลิต (demand driven) เชื่อมโยงสู่ตลาดด้วยการดึงเอกชนซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตร เช่น ไทยเบฟเวอเรจ เบทาโกร ซี.พี. เข้ามาร่วมรับซื้อผลผลิต เมื่อมีตลาดรองรับจะทำให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่เหมาะสม” รมว.พาณิชย์กล่าว

มาตรการที่ 2 จะสร้างกลไกร้านธงฟ้าประชารัฐ ช่วยให้ผู้ผลิตสินค้าเกษตร/สินค้าชุมชนมีช่องทางการจำหน่าย เพิ่มสัดส่วนจำนวนสินค้ากลุ่มนี้ในร้านธงฟ้าประชารัฐมากขึ้น เร่งยกระดับร้านธงฟ้าประชารัฐเป็นเอาต์เลตถาวร 10,000 แห่ง พัฒนาไปสู่การใช้ระบบอีคอมเมิร์ซ และมาตรการที่ 3 จะเร่งผลักดันและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหม่ โดยใช้ระบบธุรกิจแฟรนไชส์เข้ามาช่วยส่งเสริมให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมีอาชีพมีรายได้ที่มั่นคง

“มั่นใจว่าแนวทางเหล่านี้จะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้ตามเป้าหมาย แต่ห่วงความเข้มแข็งของกำลังซื้อเศรษฐกิจฐานราก”

ต่อประเด็นที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า อัตรการขยายตัวทางเศรษฐกิจเติบโตกระจุกอยู่ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่ไม่ได้กระจายลงสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากเท่าที่ควร นายสนธิรัตน์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่แน่นอนว่า ถ้าเศรษฐกิจเติบโตรายใหญ่ย่อมมีการเติบโตในสัดส่วนมากกว่ารายเล็กอยู่แล้ว แต่ต้องดูสัดส่วนของปริมาณหรือมูลค่าในส่วนของเอสเอ็มอีโตตามไปด้วยอยู่ในสัดส่วนเท่าไร

อุ้มราคายางอีก 2 หมื่นล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือราคายางพาราด้วยการใช้งบประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยจะจ่ายชดเชยชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนไว้ ไร่ละ 1,500 บาท ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

“กฤษฎา” ชงเอกชนซื้อข้าวโพด

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สนับสนุนเกษตรกรเปลี่ยนการปลูกข้าวรอบ 2 มาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ภายในระบบประชารัฐ 2 ล้านไร่ โดยได้เจรจากับเอกชน อาทิ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน), บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน), บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (มหาชน) และกลุ่มเซ็นทรัล เพื่อขอความร่วมมือให้มาช่วยรับซื้อ เพิ่มช่องทางตลาดให้ชาวไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สามารถจำหน่ายได้ในราคาต้นทุนบวกกำไร 30% เป็นอย่างต่ำ โดยเป็นราคาข้าวโพดฝักแห้ง กก.ละ 8 บาท เพื่อให้เกษตรกรสามารถลืมตาอ้าปากได้ ซึ่งทุกบริษัทยินดีให้ความร่วมมือรับซื้อ

โดยกระทรวงเกษตรฯเชิญข้าราชการ ทั้งเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ สหกรณ์จังหวัด และกรมชลประทาน มีบทบาทในการคัดเลือกพื้นที่และรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการปลูกพืชหลังนา เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการ และเตรียมการชี้แจงเงื่อนไขการรับซื้อกับเกษตรกรให้ทราบเงื่อนไขตามพันธสัญญา เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย

สำหรับโครงการนี้ รัฐบาลจะเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนเงินกู้เพื่อการลงทุน วงเงิน 2,000 บาท/ไร่ อัตราดอกเบี้ย 0.01% ยืนยันไม่เพิ่มหนี้สินให้เกษตรกร แต่จะลดหนี้เกษตรกร ส่วนมาตรการจูงใจ คือการเป็นพี่เลี้ยงจนจบโครงการตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน ไปถึงเกษตรกรขายผลผลิตได้ การันตีกำไรต่อไร่ของผลผลิตที่เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ