พาณิชย์ ยันปัญหาส่งออกน้ำปลาไปสหรัฐ เพียงการสุ่มตรวจสินค้าตามกฎระเบียบ

บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์

พาณิชย์ ยันปัญหาส่งออกน้ำปลาไปสหรัฐ เพียงการสุ่มตรวจสินค้าตามกฎระเบียบของการนำเข้า ขณะนี้บริษัทที่มีปัญหาได้ส่งหนังสือชี้แจงไปแล้ว พร้อมรอฟังผลหากไม่มีปัญหาสามารถส่งออกได้ปกติ มั่นใจไม่ได้กระทบส่งออกน้ำปลายี้ห้ออื่น ยังเป็นปกติทั้งตลาดสหรัฐและยุโรป

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงกรณี USFDA ของสหรัฐฯ ได้สุ่มตรวจสินค้านำเข้าจากทั่วโลกมากกว่า 1000 รายการตามปกติ ซึ่งในเดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา มีน้ำปลาไทยเพียง 1 รายที่ถูกกักกันอยู่ในบัญชี Import alert #16-120 โดยทาง USFDA ได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมทางด้านกระบวนการผลิตจากบริษัทดังกล่าว และทางบริษัทฯ ได้ส่งเอกสารชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมกลับไป เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จและเห็นความชัดเจนช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 นี้ อย่างไรก็ดี การส่งออกน้ำปลาไทยยังไม่ได้ถูกมาตรการห้ามนำเข้า การส่งออกรายการน้ำปลาอื่นยังเข้าได้ปกติ และหาชี้แจงชัดก็เชื่อว่าสามารถนำเข้าไป และหากต้องการเอกสารเพิ่มก็สามารถจัดส่งเพิ่มเติมได้

ทั้งนี้ การออกมาตรการ กฎระเบียบในการนำเข้าของแต่ละประเทศ มีเป็นเรื่องปกติและมีการสุ่มตรวจอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ผลิตจะต้องศึกษาข้อมูลของแต่ละประเทศก่อนดำเนินการส่งออก และปัจจุบันการส่งออกน้ำปลาไทยก็ยังส่งออกไปในหลายประเทศได้โดยไม่มีปัญหา เช่น ยุโรป อย่างไรก็ดี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า น้ำปลาไทยถูกจัดอยู่ในบัญชี Import alert #16-120 เพียง 4 บริษัทเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ได้ส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้ทาง USFDA เสร็จสิ้นและสามารถนำเข้าไปยังสหรัฐฯได้ตามปกติแล้ว

ซึ่งในกรณีล่าสุดที่เป็นประเด็นนั้น มีเพียงบริษัทเดียว ที่ถูกกักกัน แต่ไม่ได้ถูกห้ามนำเข้า โดยบริษัทได้ส่งข้อมูลชี้เเจงเพิ่มเติมให้ทาง USFDA ซึ่งประเด็นที่ต้องชี้แจงในครั้งนี้คือเรื่องกระบวนการคัดเลือกวัตถุดิบ คาดว่าจะใช้เวลาในการชี้แจงข้อมูลแล้วเสร็จภายใน 3 เดือนหลังจากนี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีน้ำปลาไทยที่เป็นที่นิยมในสหรัฐหลายยี่ห้อผ่านมาตราฐานของสหรัฐฯ และได้วางจำหน่ายอยู่อีกเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ประเทศไทยมีการผลิตและส่งออกน้ำปลาไปทั่วโลก โดยมีมูลค่าการส่งออกต่อปีประมาณ 55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2560 ซึ่งตลาดหลักในการส่งออกของไทยยังคงเป็นสหรัฐฯ มีมูลค่าการส่งออกระหว่างมกราคม – กันยายน 2561 มากถึง 8.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกมากถึงร้อยละ 20 ของการส่งออกจากทั่วโลก รองลงมาคือ เมียนมา 4.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ร้อยละ 10) ญี่ปุ่น 3.89. ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ร้อยละ 8.8) ออสเตรเลีย 2.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สปป.ลาว 2.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ด้านนายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งเกิดขึ้นกับน้ำปลาตราคนแบกกุ้ง เนื่องจากสหรัฐอเมริกามีกฎระเบียบ 21 CFR Part 123 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 18 ธันวาคม 2540 ซึ่งกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ปลาและการประมงทุกประเภท ที่มีแหล่งกำเนิดในต่างประเทศหรือในสหรัฐต้องได้รับการจัดเตรียม บรรจุและเก็บรักษาให้เป็นไปตามข้อกำหนด HACCP หากผู้ผลิตรายใดไม่ปฎิบัติตามอาจถูกกักกันการนำเข้าสินค้าโดยไม่ต้องมีการตรวจตัวสินค้าจนกว่าจะมีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าได้ดำเนินการตามข้อแนะนำของการแจ้งเตือนดังกล่าวแล้ว

ซึ่งล่าสุด ได้ออกคำเตือนในบัญชีแจ้งเตือนสินค้าที่ถูกกักกันการนำเข้า หรือ Import Alert กับน้ำปลาตราปลาหมึก ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมประมง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ หรือ มกอช. อยู่ระหว่างการช่วยเหลือเอกชน และเจรจาผลักดันให้USFDA ยกเลิกหรือผ่อนผันการกักสินค้าน้ำปลาจากผู้ประกอบไทย ขณะที่ผู้ประกอบการยินดีให้มีการตรวจสินค้าเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสารปนเปื้อนตามที่กังวล

อย่างไรก็ตาม นอกจากน้ำปลาตราปลาหมึกที่ถูกแจ้งเตือนแล้ว ยังมีน้ำปลาอีก 3 ยี่ห้อ ที่ถูกเตือนเช่นเดียวกัน ได้แก่ น้ำปลาตราพูนสินและทิพรส ซึ่งถูกแจ้งเตือนตั้งแต่ปี 2557 ส่วนน้ำปลา ของหจก.ไซ่ง่อน ปิดกิจการไปแล้วตั้งแต่ปี 2553 ทั้งนี้นอกจากน้ำปลาไทยแล้ว ยังมีน้ำปลาที่ผลิตจากเวียดนาม 1 ราย คือ ตันฮา ฟิซซอส (Thanh Ha Fish Sauce) ซึ่งถูกเตือนตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2561 ทั้งนี้การแจ้งเตือนของ USFDA ส่งผลให้น้ำปลายี่ห้อที่ถูกกักไม่สามารถนำเข้าได้ในขณะนี้จนกว่าจะมีการนำเอกสารชี้แจงให้เห็นถึงกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย ยังย้ำว่าไม่ต้องกังวลว่าน้ำปลาจะขาดแคลน เนื่องจากปัจจุบันไทยมีการส่งออกน้ำปลาไปสหรัฐมากกว่า 10 ยี่ห้อ

 

อ่าน >> “ปลาหมึก/ทิพรส” ถูก US แบน สงสัยวิธีผลิตน้ำปลาร้านอาหารไทยระส่ำ