ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ชี้ 14 ทางรอดยางพาราไทย หลังราคาดิ่งหนัก ชาวสวนหนีตายหันปลูกไม้ผล

ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ชี้ 14 ทางรอดยางพาราไทย หลังราคาดิ่งหนัก ชาวสวนหนีตายหันปลูกไม้ผล เดินหน้าเพิ่มความต้องการใช้ยางในประเทศ 1.2 ล้านตันต่อปี พร้อมเร่งระบายสต็อกเพื่อใช้ภายในลดแรงกดดันราคา ก่อนพ่ายมาเลเซีย

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลวิจัยในหัวข้อ วาระแห่งชาติ ยางพาราไทย : อุปสรรคและทางรอด ว่า ปัญหาราคายางตกต่ำเกิดจากภาวะดีมานต์-ซัพพลาย

โดยในปี 2560 ที่ผ่านมาไทยผลิตยางพาราได้ 4.5 ล้านตันสูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 3 ล้านตัน ประกอบกับไทยยังมีสต๊อกยางเก่าเหลืออีก 2 แสนตัน ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้ราคายางลดลง ขณะเดียวกันต้นทุนการผลิตยางของไทยปรับสูงขึ้น เพราะผลผลิตต่อไร่น้อยเพียง 224 กก.ต่อไร่ เฉลี่ย กก.ละ 63 บาท แต่ขายได้เพียง กก.ละ 43 บาททำให้เกษตรกรขาดทุน เกษตรกรโดยเฉพาะภาคใต้หันไปปลูกพืชเกษตรชนิดอื่น เช่น ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน

ขณะที่ทิศทางราคายางในปีหน้ายังมีแนวโน้มทรงตัว จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางในตลาดโลกลดลง แต่ประเทศผู้ผลิตยางหลายประเทศเพิ่มการผลิตยาง และสต็อกโลกมีปริมาณมากถึง 1 ล้านตัน

“อุตสาหกรรมยางพาราเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศไทยสร้างรายได้และการจ้างงานให้กับเกษตรกรกว่า 6 ล้านคน และแรงงานในอุตสาหกรรมกว่า 200,000 คน ไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำยางข้นอันดับ 1 และเป็นศูนย์กลางการผลิตล้อยางที่ใหญ่กว่ามาเลเซีย มาเลเซียต้องนำเข้าน้ำยางจากไทย แต่กับให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมยางพารา เป็น 1 กิจกรรมเศรษฐกิจหลักในจำนวน 12 สาขา ที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้สำเร็จในปี 2020 มาเลเซียลดพื้นที่ปลูกแต่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาพันธุ์ยางใหม่ๆ ที่ลดระยะเวลาให้กรีดยางได้เพียง 6 ปี จากเดิม 7 ปี และมีหน่วยงานดูแลยางจำนวนมากคั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำให้ต้นการผลิตยางมาเลเซียต่ำกว่าไทยแต่ขายได้ในราคาเท่าๆกัน”

สำหรับโอกาสและทางรอดของอุตสาหกรรมยางพาราของไทย รัฐบาลควรเร่งระบายสต็อกยาง 2 แสนตัน โดยนำไปใช้สำหรับอุตสาหกรรมในประเทศทันที เพื่อลดแรงกดันด้านราคา โดยเห็นว่าควรกระตุ้นความต้องการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมจากปัจจุบันสัดส่วน 33% ให้กลายเป็น 40% หรือปริมาณ 1.2 ล้านตัน แบ่งเป็น การนำไปใช้ทำถนนยางพารา จะเพิ่มปริมาณการใช้อย่างได้ 226,000 ตัน ส่งเสริมการเป็นฐานผลิตล้อเครื่องบิน เพิ่มปริมาณการใช้อย่างได้ 468,000 ตัน การใช้ทำหมอนรองรางรถไฟทุกเส้นทางทั่วประเทศเพิ่มปริมาณการใช้อย่างได้ 307,000 ตัน และอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ก่อสร้าง 200,000 ตัน และเมื่อรวมกับปริมาณความต้องการใช้ยางปัจจุบัน 600,000 แสนตันจะช่วยเพิ่มความต้องการใช้ยางภาพรวมเป็น 1.8 ล้านตัน

ส่วนการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงในอีก 5 ปีข้างหน้า รัฐบาลควรพิจารณาในประเด็นต่างๆ 14 ข้อ ได้แก่

1. ปรับโครงสร้างหน่วยงานยางพาราของประเทศให้ทำงานเป็นเอกภาพ โดยแบ่งบทบาทหน้าที่ในแต่ละด้านชัดเจน เช่น การวิจัย การพัฒนาพันธุ์ การทำตลาด ซึ่งสอดคล้องและไปในทิศทางเดียวกันเหมือนที่ประเทศมาเลเซียทำ

2. เกษตรกรต้องรวมตัวกันเป็นเอกภาพ ซึ่งควรมีการตั้งเป็นกลุ่มตัวแทนของเกษตรกรยางพาราของประเทศ 1 สถาบัน แล้วมีตัวแทนจากกลุ่มเกษตรกรต่างๆ เข้ามาเป็นคณะกรรมการเพื่อเสนอปัญหาของเกษตรกรยางพาราไปในทิศทางเดียวกัน

3. พัฒนา Big Data ยางพารา เพื่อให้มีฐานข้อมูลยางพาราทั้งในประเทศและต่างประเทศทันสมัยที่สุด ทั้งนี้ควรมีหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงเพื่อดูแล Big Data

4. จัดตั้งศูนย์เตือนภัยยางแห่งชาติ (Rubber Warning Center) เพื่อมีแบบจำลองทางด้านเศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจและธุรกิจที่สามารถจะคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยในตลาดโลกที่มีผลกระทบต่อยางพาราของไทย

5. การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ยางพารา (Rubber Cross Border E-commerce: RCBEC) เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้มีการนำยางและผลิตภัณฑ์ยางไปขายบนเว็บไซต์ออนไลน์ โดยตั้งอยู่ 2 จุด คือ ท่าเรือสงขลาและท่าเรือแหลมฉบัง

6. ตั้งศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางของโลก เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตล้อเครื่องบิน, ผลิตภัณฑ์อิฐผสมยางพารา, ผลิตภัณฑ์ยางพาราเพื่อการก่อสร้าง, หมอนรถไฟผสมยางพารา เป็นต้น

7. จัดตั้งศูนย์เรียนรู้และพัฒนามาตรฐานยางพาราในระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อสร้างความเข้าใจและปรับทัศนคติของชาวสวนในเรื่องของคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และลดสิ่งปลอมปนในการผลิตยาง อีกทั้งพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางพาราทั้งในต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

8. ตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนเครดิตให้กับกลุ่มสหกรณ์ผลิตภัณฑ์ยางพาราเพื่อตลาดต่างประเทศ (Rubber Fund) เพื่อเป็นการปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน

9. ส่งเสริมให้มีการผลิตยางแผ่นรมควันคุณภาพสูง (Premium RSS) โดยผลักดันและส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตยางแผ่นรมควันชั้นที่ 1 และ 2 หรือเรียกว่า “Premium RSS”

10. จัดตั้งศูนย์กลางการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตภัณฑ์ยาง ส่งเสริมใช้มีการผลิตผลิตภัณฑ์ปลายน้ำมากขึ้น ส่งเสริมให้นำผลงานวิจัยต่างๆ สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ และสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์

11. ตั้ง Outlet ผลิตภัณฑ์ยางพาราไทยแต่ละจังหวัด (One Rubber one province: OROP) เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางพาราของผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่

12. ตั้งศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ และห้องทดลองในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในแต่ละภูมิภาค เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SMES กลุ่มสหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ มีศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ และห้องทดลองของส่วนกลางให้ใช้เพิ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

13. ตั้งผู้แทนการค้ายางพาราของไทย (Thailand Rubber Trade Representative: TRTR) เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือทางด้านการตลาดในกับผู้ประกอบการ SMES กลุ่มสหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ รวมไปถึงการจัดงานแสดงสินค้าเพื่อนำสินค้าของเกษตรกร และสหกรณ์ไปแสดงและจำหน่าย

14. จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อการเพิ่มรายได้เกษตรกรยางพารา เพื่อให้ความรู้เกษตรกรเกี่ยวกับการผสมผสานระหว่างยางพารากับพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ในแต่ละท้องถิ่น ปรับแก้กฎหมายเรื่องการซื้อขายไม้ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์การในการซื้อขายไม้เศรษฐกิจอย่างเสรี เช่น ไม้ยางนา ไม้ตะเคียนทอง อบรบวิธีการกรีดยางที่ถูกวิธีให้การชาวสวนและผู้รับจ้างกรีดยางเพื่อเพิ่มผลิตผลิตและรายได้ และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจให้กับเกษตรกร และสหกรณ์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และการหาช่องทางจำหน่ายสินค้า