กรมประมงถกทางแก้ปัญหาหมึกล้นตลาด กระทบไทยแล้ว เตรียมเสนอ บิ๊กฉัตร สั่งระงับนำเข้า

แฟ้มภาพ

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานคณะกรรมการบริหารสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 2 พ.ย.2561 จะหารือร่วมกับกรมประมงเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหากรณีไทยนำเข้าหมึก และส่งผลกระทบกับชาวประมงไทยที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุมหรือไอยูยู ซึ่งเป็นผลให้ต้นทุนการจับหมึกของไทยเพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ ตามการซี้แจงของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่ระบุว่าไม่สามารถยับยั้งได้เพราะการนำเข้าดังกล่าวถูกต้องตามเงื่อนไขเขตการค้าเสรีอาเซียน หรืออาฟตา นั้นในทางปฏิบัติหากการนำเข้ากระทบกับเกษตรกรภายในประเทศ รัฐบาลสามารถประกาศห้ามนำเข้าชั่วคราวได้

ซึ่งปัจจุบันชาวประมงได้รับผลกระทบแล้ว ปริมาณหมึกในตลาดที่ลดลงส่วนหนึ่งเพราะชาวประมงต้องขายเรือตามระเบียบไอยูยู ตลาดรับซื้อเรือไทยหลักๆ คือเมียนมา โดยในเมียนมาเองก็มีนโยบายลดปริมาณเรือเช่นเดียวกัน จึงน่าตั้งข้อสังเกตว่าเรือเหล่านั้นจับปลาหมึกอย่างถูกต้องได้อย่างไร

“แนวทางแก้ไขที่ได้จากการประชุมจะนำไปหารือกับพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 5 พ.ย. นี้ เพื่อกำหนดเป็นมาตรการช่วยเหลือต่อไป”

สำหรับการนำเข้าสัตว์น้ำจากประเทศเมียนมาแบ่งออกเป็น 2 ช่องทางใหญ่ คือ ทางเรือและทางรถ สำหรับทางเรือโดยหลักแล้วอยู่ที่ จ.ระนอง โดยจะมีเรือต่างๆ ขึ้นเทียบท่าจากนั้นจะมีการขนถ่ายขึ้นรถเพื่อนำไปขายต่อ ส่วนทางรถยนต์นั้น ได้มีการนำเข้า 2 เส้นทางหลัก คือ ด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ และด่านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี

โดยในเดือนก.ย. 2561 ปริมาณการนำเข้าสัตว์น้ำแช่เย็นผ่านด่านพุน้ำร้อนมีปริมาณสูงถึง 111,415 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 6,098,670 บาท ซี่งสัตว์น้ำแช่เย็นเหล่านี้ ได้แก่ หมึก ปลา ปู กุ้ง เป็นต้น โดยสัตว์น้ำเหล่านี้ถูกนำมาขายในประเทศไทย เพื่อการบริโภคในประเทศเป็นหลัก ทั้งๆ ที่เรือประมงไทยเองก็มีความสามารถเพียงพอที่จับสัตว์น้ำเหล่านี้เพื่อบริโภคในประเทศอยู่แล้ว แต่เมื่อมีสัตว์น้ำนำเข้าจากเมียนมาเข้ามา ส่งผลให้ปริมาณสัตว์น้ำมีมากจนทำให้ราคาตก

ทั้งนี้ สถิตินำเข้า-ส่งออกสัตว์น้ำ ปี 2561 ผ่านด่านพุน้ำร้อน ปริมาณสัตว์น้ำนำเข้าช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ย. 2561 มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากเดิม 93,770 กิโลกรัม เป็น 238,025 กิโลกรัม ประกอบกับปริมาณสัตว์น้ำที่ชาวประมงจับได้ในช่วงนี้มีปริมาณมาก ส่งผลให้ปริมาณสัตว์น้ำที่จำหน่ายมีมากจนล้นตลาดจนทำให้ราคาตกต่ำ

สำหรับการแก้ไขปัญหาไอยูยูทำให้ค่าใช้จ่ายก็เป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลให้ต้นทุนในการดำเนินงานสูงมาก แต่การนำเข้าสัตว์น้ำจากประเทศเมียนมาเข้ามา ทำให้ชาวประมงไทยไม่สามารถแข่งขันทางด้านต้นทุนได้เลย

ทั้งนี้ ชาวประมงไทย เสนอให้ระงับการนำเข้าสัตว์น้ำผ่านด่านชายแดนเป็นเวลาชั่วคราว และมีการจำกัดช่องทางการนำเข้าเพื่อสามารถควบคุมปริมาณการนำเข้าได้อย่างชัดเจนและมีมาตรฐานเช่นเดียวกันกับสัตว์น้ำจากเรือประมงในประเทศ และศึกษาถึงผลกระทบของการนำเข้าแบบเสรี ความเดือดร้อนของชาวประมงในประเทศและราคาสัตว์น้ำ เพื่อกำหนดถึงนโยบายในการควบคุมการนำเข้าให้ชัดเจน โดยเกิดประโยชน์ทั้งส่วนของชาวประมง แพปลา ห้องเย็นและอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ

 

 

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์