รับไม้ต่อ AMEM ไทยเจ้าภาพพลังงานอาเซียนปี”62

ปิดฉากการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 36 (36th ASEAN Ministers on Energy Meeting and Associated Meetings : 36th AMEM) ภายใต้ธีม Transforming Energy : Invest, Innovate, Inte-grate ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ไปแล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้ ประเทศไทยสามารถคว้า 21 รางวัลอนุรักษ์พลังงาน โดยถือว่าสร้างผลงานโดดเด่นมาก เพราะไทยครองแชมป์ติดต่อกันถึง 9 ปีซ้อน !

ผนึกซื้อขายไฟอาเซียนเพิ่ม

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สปป.ลาว-ไทย-มาเลเซีย ตกลงขยายกรอบความร่วมมือพหุภาคีโครงการซื้อขายไฟฟ้า LTM on Power Integration

Project โดยจะเพิ่มปริมาณการรับซื้อเพิ่มขึ้นจากเดิม 100 เมกะวัตต์ เป็น 300 เมกะวัตต์ เนื่องจาก สปป.ลาว และมาเลเซีย มีข้อตกลงขยายซื้อขาย แต่ไทยเองต้องปรับในช่วง 3 จังหวัด อาทิ สงขลา ชายแดนใต้ เพื่อรองรับกำลังผลิตตามความต้องการของมาเลเซียและลาวก่อน จึงได้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เร่งศึกษา ขณะที่ LTM เริ่มนำร่องไปแล้วเมื่อต้นปีจากผลการเจรจาที่ฟิลิปปินส์ปีที่ผ่านมา ภายใต้กรอบ 100 เมกะวัตต์ แต่ในอนาคตปี 2563 จะเป็นการส่งเชื่อมโยงไฟฟ้า4 ประเทศ จากลาวไปสิงคโปร์ โดยผ่านระบบสายส่งของไทยและมาเลเซีย ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างอาเซียน ที่มีระบบสายส่งเชื่อมโยงถึงกัน (อาเซียนพาวเวอร์กริด) เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ไทยรับไม้ต่อเจ้าภาพปี”62

ขณะเดียวกันได้ทำบันทึกความเข้าใจร่วมกับองค์การพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ (IRENA) ผลักดันให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนในอาเซียนให้ได้ตามเป้าหมาย 23% ในปี 2568 จากในปี 2559 มีสัดส่วนอยู่ที่ 12.4% แต่ปีนี้มีการใช้พลังงานทดแทนแล้วถึง 15% ขณะที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ร่วมมือการพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 10 ชาติสมาชิกอาเซียน ให้มีการเสนอในเวทีประชุม AMEM ครั้งต่อไป ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพในปี 2562 โดยจะปรับเป้าหมายลดใช้พลังงานให้มากขึ้น หลังจากระยะแรกกำหนดเป้าหมาย

ลดใช้พลังงาน 20% ในปี 2563 บรรลุเป้าหมายลดลงแล้วถึง 21.3% ถือว่าไทยประสบความสำเร็จอย่างมาก กระทรวงพลังงานที่อยู่ระหว่างจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP) โดยคาดว่าจะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ธ.ค.นี้ เพื่อเห็นชอบและประกาศใช้ต้นปี 2562 โดยยืนยันว่าจะไม่กระทบราคาค่าไฟประชาชน และเพื่อเสถียรภาพด้านพลังงาน

อ้อนขยาย รง.เอทานอล-ชีวมวล

นายพิพัฒน์ สุทธิวิเศษศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บ.เคทีส ไบโอเอทานอล จำกัด กล่าวว่า บริษัทผลิตไฟฟ้าและไอน้ำด้วยก๊าซชีวภาพที่ได้จากระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานผลิตเอทานอล สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ปีละ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร (100%) โดยผลิตไอน้ำแรงดันสูง 200,000 ตัน แบ่งส่วนหนึ่งไปผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 7,360 MWh ทดแทนการใช้ถ่านหินได้ 14,200 ตันต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละ 290,725 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ประหยัดได้มากกว่า 48 ล้านบาทต่อปี ไม่มีต้นทุนวัตถุดิบ จึงมี IRR สูงถึง 34% คืนทุนเพียง 3 ปี

“แม้รัฐไม่มีนโยบายซื้อก๊าซ แต่เราก็ไม่ทิ้ง เราเอาไปทำเชื้อเพลิง ลดการใช้ฟอสซิล จริง ๆ ไบโอก๊าซทำให้เป็นไฟฟ้า (firm) ยังได้ แต่รัฐต้องเปิดโอกาสการรับซื้อ แข่งขันกันและให้กลไกแข่งขันทำงาน”

สอดคล้องกับ นายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล บ.พิจิตรไบโอพาวเวอร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัททำโรงไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล โดยใช้แกลบจากโรงสีร่วมเจริญ 2 ปริมาณ 30,000 ตันต่อเดือน มาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) คืนให้เกษตรกรด้วย “รอเวลาให้รัฐส่งเสริมสนับสนุน สร้างความมั่นคง ทั้งรับซื้อ-สร้างโรงไฟฟ้าคำนึงทั้งความมั่นคงและราคา ถ้าจะมองถูกอย่างเดียวก็ไปไม่รอด และต้องกระจายรายได้ผู้ผลิตรายเล็ก (SPP) อยากให้รัฐส่งเสริมลักษณะนี้เพิ่มเพราะให้ประโยชน์มหาศาล ซึ่งตอนนี้ 97% เราทำได้ อยู่ได้”