ทุนไทยดิ้นหาตลาดใหม่หนีพิษตัด GSP เขมร

แฟ้มภาพ

ทัพลงทุนไทยในเขมรปรับตัว หลังมีแนวโน้ม “อียู” ตัด GSP กัมพูชา สะเทือน 3 สินค้าส่งออก “ข้าว-เครื่องนุ่งห่ม-รองเท้า” รัฐบาลฮุน เซน ดิ้นสุดตัว หันซบจีนขอโควตานำเข้าข้าว ส่วนโรงงานเสื้อผ้าเร่งกระจายฐานผลิตเข้าเวียดนาม แก้เกมส่งออกหดปีละ 5,000 ล้าน

สหภาพยุโรปได้เริ่มต้นกระบวนการพิจารณาเพื่อใช้มาตรการ “คว่ำบาตร” ทางการค้ากับกัมพูชา จากกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยทางคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปจะจับตาดูสถานการณ์ในกัมพูชาต่อไปอีกเป็นเวลา 6 เดือน และจะตัดสินใจภายใน 12 เดือนว่า จะตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (EU-GSP) ตามที่เคยให้กัมพูชา ในโครงการ Everthing But Arm (EBA) หรือไม่ ทั้งนี้ หากมีการตัดสิทธิพิเศษ GSP จริงก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชา คิดเป็นสัดส่วน 45% ของการค้ากัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายการ “เครื่องนุ่งห่ม-ข้าว-รองเท้า” ซึ่งผู้ส่งออกไทยได้เข้าไปลงทุนตั้งโรงงานอยู่ในกัมพูชาด้วย

เขมรซบจีนส่งออกข้าว

นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธาน บริษัท เอเซีย โกลเด้นท์ ไรซ์ จำกัด ผู้ส่งออกข้าวไทยอันดับ 1 ที่เข้าไปลงทุนในบริษัท คริสตัล ไรซ์ ที่ จ.กัมปอตประเทศกัมพูชา กล่าวว่า หากสหภาพยุโรปตัดโควตาภาษีนำเข้าข้าวจากกัมพูชาก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวกัมพูชาไปยังตลาดสหภาพยุโรปทันที แต่เท่าที่ทราบ รัฐบาลกัมพูชาได้ไปเจรจากับจีน เพื่อขอขยายโควตาส่งออกข้าวไปจีน ทดแทนตลาดสหภาพยุโรปแล้ว ล่าสุดทาง “คอฟโก” ซึ่งเป็นหน่วยงานซื้อข้าวของจีน ได้เพิ่มโควตานำเข้าข้าวให้กับกัมพูชาจาก 300,000 ตัน เป็น 400,000 ตันแล้ว

“ผู้ส่งออกที่จะได้รับสิทธิจัดสรรโควตาข้าวส่งออกไปจีนจะต้องเป็นบริษัทสัญชาติเขมรเท่านั้น ไม่สามารถใช้นอมินีได้ โดยหน่วยงานด้านการตรวจสอบคุณภาพจากจีน (AQSIQ) จะเข้าไปตรวจสอบ และให้การรับรองมาตรฐาน good manufacturing practices (GMP) ให้กับผู้ส่งออกเขมร ซึ่งเป็นระบบเดียวกับจีนเคยเข้ามาตรวจสอบไทยเมื่อปีก่อนหน้านี้ เบื้องต้นคาดว่าจะมีผู้ส่งออกเขมรที่ได้รับการรับรองประมาณ 10-20 ราย ซึ่งในกลุ่มนี้มีผู้ส่งออกไทยที่เข้าไปลงทุนโรงงานในเขมรด้วย” นายสมบัติกล่าว

สำหรับผู้ส่งออกไทยที่เข้าไปลงทุนในธุรกิจข้าวกัมพูชา อาทิ กลุ่มเอเซีย โกลเด้น ไรซ์ ในนามบริษัท คริสตัล ไรซ์ (หุ้นไทย 70 หุ้นกัมพูชา 30) เข้าไปทำโรงสีข้าวและส่งออก รวมไปถึงกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ด้วย

การ์เมนต์ไทยกระจายฐานผลิต

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า ถ้าสหภาพยุโรปตัดสิทธิพิเศษ GSP ในรายการเครื่องนุ่งห่มในอีก 12 เดือนข้างหน้า จะมีผลทำให้อัตราภาษีนำเข้าเครื่องนุ่งห่มจากกัมพูชาถูกปรับเพิ่มขึ้นเป็น 12.5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 0% และจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกหลังจากนี้ เนื่องจากผู้ส่งออกมีการรับคำสั่งซื้อล่วงหน้าไว้ 8-10 เดือนที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ส่งออกเครื่องนุ่งห่มไทยที่เข้าไปลงทุนตั้งโรงงานในกัมพูชา มีอยู่ 6 บริษัทใหญ่ ได้แก่ กลุ่มไนท์ แอพพาเรล, ฮงเส็งการทอ, ลิเบอร์ตี้, เอสพีบราเดอร์, ทีเคการ์เมนต์และกลุ่มไฮเทค ส่วนใหญ่เป็นโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป-เสื้อกีฬา และชุดชั้นใน โดยมีการส่งออกจากฐานการผลิตในกัมพูชา มูลค่าประมาณปีละ 3,000-5,000 ล้านบาท หรือเป็นอันดับ 2รองจากฐานการผลิตเครื่องนุ่งห่มของนักลงทุนไทยในเวียดนาม ซึ่งมีการส่งออกประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท

“ผู้ส่งออกที่เข้าไปลงทุนในเขมรได้วางแผนการผลิตไว้ล่วงหน้าประมาณ 3-5 ปี มีบางโรงงานกำลังขยายการผลิตอยู่ด้วย การถูกปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าเครื่องนุ่งห่มจาก 0% เป็น 12.5% จะเท่ากับอัตราภาษีส่งออกเครื่องนุ่งห่มจากไทยไปสหภาพยุโรป แต่หากเทียบต้นทุนค่าแรงงานในเขมรยังต่ำกว่าไทยประมาณ 30% ดังนั้น หากผู้นำเข้าที่เป็นแบรนด์เนมอย่างอาดิดาส ไนกี้ อันเดอร์ อาร์เมอร์ ไม่สามารถยอมรับต้นทุนการผลิตจากฐานผลิตที่เขมรได้ โรงงานก็จะต้องโยกไปผลิตที่ฐานการผลิตอื่น เพราะทุกโรงงานมีฐานการผลิตอยู่ในหลาย ๆ ประเทศ เช่น ในอินโดนีเซีย เวียดนาม จีน ลาว โดยอาจจะมีการไปขยายกำลังการผลิตที่เวียดนามมากขึ้น เพราะเวียดนามมีข้อตกลง FTA กับอียู และกลุ่มประเทศ CPTPP ซึ่งได้เปรียบเรื่องภาษีอยู่แล้ว” นายยุทธนากล่าว

อย่างไรก็ตาม โรงงานเครื่องนุ่งห่มคงจะไม่ย้ายฐานการผลิตออกจากกัมพูชาทันทีทันใด เนื่องจากการย้ายโรงงานจะต้องพิจารณาหลายปัจจัยอย่างรอบด้าน เช่น ลูกค้ามองอย่างไร รัฐบาลกัมพูชามีการเตรียมมาตรการแก้ไขอย่างไร จำนวนแรงงาน ต้นทุนค่าแรงงาน

ส่วนการจะย้ายโรงงานกลับมาผลิตที่ในประเทศไทยหรือไม่นั้น ยังต้องพิจารณาหลาย ๆ ปัจจัย โดยเฉพาะปัจจัยที่เชื่อมโยงกับการส่งออก เช่น ค่าบาทไทยแข็งค่าต่อเนื่อง จนหลุดกรอบที่เอกชนต้องการที่ 33 บาทเหรียญสหรัฐเหลือเพียง 30-31 บาทต่อเหรียญไปแล้ว การขึ้นอัตราค่าแรงงาน ไปจนกระทั้งถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นเร็ว ๆ นี้

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!