สภานักธุรกิจลุ้นอานิสงส์ Brexit โค้งสุดท้ายอังกฤษเร่งสปีด FTA สี่ฉบับ

ทูตพาณิชย์ลอนดอน จับตา “อังกฤษ” เร่งปิดดีลเอฟทีเอ 4 ประเทศก่อนเบร็กซิตรักษาตลาด-ปกป้องอุตสาหกรรมภายใน “TUBLC” สภานักธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร ชี้ Brexit สร้างโอกาสค้า-ลงทุนในอังกฤษ แนะเร่งเจรจาการค้ารักษาโควตาส่งออกสินค้าเกษตร

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่านางสาวสุภาวดี แย้มกมล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคต.) ประจำกรุงลอนดอนรายงานสถานการณ์ก่อนที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ในเดือนมิถุนายนนี้ว่า ทางอังกฤษได้เร่งเจรจาและลงนามความตกลงเอฟทีเอ 4 ฉบับกับคู่ค้า ประกอบด้วย เอฟทีเอกับแอฟริกาตะวันออก/แอฟริกาใต้, ชิลี, หมู่เกาะฟาโรห์ และสวิตเซอร์แลนด์ รวมเป็นมูลค่าการค้าในตลาดกลุ่มนี้ประมาณ 35,636 ล้านปอนด์ โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าหากอังกฤษออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลงใด ๆ รองรับ จะทำให้อังกฤษต้องนำกฎขององค์การการค้าโลก (WTO) มาใช้กับประเทศที่ยังไม่มีความตกลงร่วมกัน ซึ่งหมายถึงอังกฤษจะต้องเสียภาษีในอัตราสูง เพราะที่ผ่านมาอียูได้เจรจาความตกลงกับ 70 ประเทศ จำนวน 40 ความตกลง ดังนั้น อังกฤษจึงพยายามสรุปความตกลงดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในการรักษาตลาดส่งออกและนำเข้า เช่น หมู่เกาะฟาโรห์เป็นตลาดนำเข้าเครื่องจักรกลและอุปกรณ์เครื่องจักรกล รวมถึงเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมของอังกฤษ เช่น ไวน์ ยานยนต์ อะลูมิเนียม และการทำ MRA กับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพื่อให้การยอมรับมาตรฐานร่วมกันเรื่องฉลากด้วย

“Brexit ถือเป็นโอกาสที่ไทยจะได้กระชับความสัมพันธ์กับทั้งอังกฤษและสหภาพยุโรปมากขึ้น หากมีการจัดทำ FTA กับไทยจะเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยขยายมูลค่าการค้าระหว่างกันในอนาคต”

ด้านนายฐาปน สิริวัฒนภักดี ในฐานะประธานฝ่ายไทยสภาผู้นำนักธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (TUBLC) กล่าวในงานสัมมนา “Brexit and its Implicationson Thailand” ซึ่ง TUBLC จัดขึ้นร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดว่า ภายหลังการเลือกตั้งภาครัฐควรจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้สมบูรณ์โดยเร็ว เพื่อให้ไทยสามารถเดินหน้าเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) ทั้งสหภาพยุโรปและอังกฤษ เพราะการเจรจาต้องใช้เวลา ดังนั้น ยิ่งเริ่มเจรจาเร็วจะยิ่งได้ประโยชน์มากขึ้น หากช้าอาจเสียเปรียบเวียดนาม ซึ่งมี FTA กับอังกฤษแล้ว

“ไทยได้มีโอกาสพูดคุยกับอังกฤษ ซึ่งมีความพร้อมจะเจรจาการค้ากับไทย หากไทยพร้อม เชื่อว่าเมื่อมีการเดินหน้าเจรจา FTA ได้ จะยิ่งทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น ในส่วน TUBLC พร้อมอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนเต็มที่ และต้องติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิดเนื่องจากไทยเข้าไปลงทุนในอังกฤษจำนวนมาก”

ด้านนายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ประจำธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย) กล่าวว่า หาก Brexit ไม่ชัดเจนอาจทำให้จีดีพีของสหภาพยุโรปและอังกฤษไม่ขยายตัวจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว1-2% ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ เงินยูโรรวมถึงค่าเงินบาทซึ่งขณะนี้ก็มีความผันผวน และคาดว่ามีแนวโน้มอ่อนค่าลง

ขณะที่ผลกระทบต่อการส่งออกไทยมองว่า ไทยจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกไปตลาดยุโรปซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่าอังกฤษ และนักลงทุนยุโรปเข้ามาลงทุนในไทยถึง 10% เมื่อเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวจะกระทบไทยทันที

“ภายหลัง Brexit อังกฤษ น่าจะหันมาให้ความสำคัญในตลาดอาเซียนมากขึ้นซึ่งการเจรจากับไทยเกิดได้ก็ต่อเมื่อการเมืองภายในเรียบร้อย อย่างไรก็ตามรัฐบาลต้องเตรียมความพร้อมในการเจรจาเพื่อรักษาโควตาส่งออก และเพื่อกำหนดโควตาสินค้าใหม่ ๆ ซึ่งการที่ไทยไม่มี FTA กับยุโรปมาหลายปี ทำให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้รับผลกระทบและการส่งออกไทยไปอียูนี้ในเดือนม.ค. 2562 ติดลบ 5% จากยอดทั้งปี 2561 ที่ขยายตัว 5% ดังนั้น ไทยต้องมองหาตลาดอื่นรองรับด้วย เช่น อาเซียนCLMV จีน และอินเดีย”

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมได้มอบให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ติดตามสถานการณ์และผลจากการแยกตัว Brexit ทั้งในกรณี Hard Brexit, No Deal และ Soft Brexit เพราะแต่ละกรณีจะมีผลกระทบต่อไทยในลักษณะที่ต่างกัน จำเป็นต้องติดตามและรายงานผลการประเมินอย่างใกล้ชิด เพื่อจะกำหนดมาตรการดูแล ซึ่งคาดว่าจะชัดเจนในวันที่ 30 มิถุนายน 2562

“Brexit เป็นโอกาสการค้าของไทย อังกฤษเป็นคู่ค้าอันดับที่ 20 ของไทย มีการค้าระหว่างกัน 7,044.29 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยส่งออก 4,062.42 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 0.45% และนำเข้า 2,981.87 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 1.81% อังกฤษขาดดุลการค้า 1,080.55 ล้านเหรียญสหรัฐ”