ทุกธุรกิจในโลกไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจพลังงานถูกดิสรัปต์ด้วยเทคโนโลยี องค์กรขนาดใหญ่ต่างปรับทัพ พัฒนาวางรากฐานธุรกิจ เพื่อก้าวสู่ยุค 4.0 ด้วยการพัฒนานวัตกรรม นำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาปรับใช้ ในส่วนของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้นำในธุรกิจพลังงาน เป็นองค์กรหนึ่งที่ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ดร.พิชัยรัตน์ จิรานันรัตน์” ผู้อํานวยการโครงการ Robotics AI and Intelligent Solution บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน)
Q : ที่มาการนำ AI มาใช้
โครงการนี้เป็นโครงการเฉพาะกิจที่มีระยะเวลา 5 ปี เกี่ยวข้องกับการนำโรโบติก หมายถึง วิทยากรหุ่นยนต์มาใช้เพิ่มผลผลิต (productivity improvement) ซึ่งเป็นความสำคัญ และเป็นความเร่งด่วนของประเทศไทย เรื่องนี้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรมที่ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มตรงนี้ให้ได้ 200,000 ล้านบาทใน 5 ปี และตอบโจทย์ 3P ของ ปตท.
Q : การปรับใช้ AI ใน ปตท.
“เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” (Eastern Economic Corridor of Innovation) หรือ EECi ก็เป็นอีก 1 โครงการที่ ปตท.มีบทบาทเป็น “innovation center” ของประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นอินโนเวชั่นฮับที่เราอยากสร้าง ecosystem ใครก็ตามที่มาประเทศไทย เมื่อนึกถึงอินโนเวชั่นหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยากให้มาที่ EECi เนื่องจากเรามีฐานมหาวิทยาลัย KVIS และ VISTEC อยู่ในพื้นที่แล้ว EECi เหมือนแม่เหล็กดึงดูดให้การลงทุนวิจัยเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ารวมอยู่ใน EECi จากโกลบอลเพลเยอร์ที่จะเข้ามา
นอกจาก EECi ในระบบการผลิต ปตท.ตั้งแต่อัพสตรีม-มิดสตรีม-ดาวน์สตรีม มีการประยุกต์ใช้ AI ด้านต่าง ๆ เช่น ทางด้านอุตสาหกรรมโรงกลั่น ปิโตรเคมีแพลนต์ ซึ่งความซับซ้อนของเทคโนโลยีมีแล้ว โดยพื้นฐานมีการใช้อย่างยาวนาน ซึ่งเราก็เอา AI มาช่วยหลาย ๆ รูปแบบ เช่น การใช้โดรนมาช่วยเซอร์เวย์ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง การเพิ่มประสิทธิภาพด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำแชตบอร์ดมาใช้ การนำบล็อกเชนมาใช้ ในด้านดาวน์สตรีม นำมาใช้ในโลจิสติกส์ รีเทล อเมซอน หรือสถานีบริการต่าง ๆ ก็นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้มีประสิทธิภาพ เรามียูสเคสตั้งแต่อัพสตรีมไปถึงดาวน์สตรีม
Q : แนวทางการพัฒนา AI
การพัฒนาตรงนี้ มีทางเทคโนโลยีโพรไวเดอร์ (technology provider) สนใจเข้าร่วมกับเราพอสมควร คีย์ซักเซส คือ การร่วมมือด้านเทคโนโลยีโดยนำมาคอลลาบอเรต (collaborate) ไปสู่ business application จริง ๆ ซึ่งการพัฒนาของเราจะไม่พัฒนาในรูปแบบเราเป็นผู้ใช้ (user) แต่จะพัฒนาในรูปแบบบิสซิเนสพาร์ตเนอร์ (business partner) เป็น “solution provider” ด้วย ฉะนั้น งานทุกงานที่เข้าไปทำ ต้องมั่นใจว่าจะสามารถเอาโซลูชั่นนี้ไปขยายผลต่อยอดในเคสอื่น ๆ เพื่อให้เกิดผลด้วย โดยเฉพาะส่วนงานของโครงการที่เรียก intelligent solution จะนำไปสู่การขยายผลอย่างเท่าทวีคูณให้กับ ปตท.
Q : แผนการลงทุน 5 ปีของ ปตท. มีสัดส่วนการลงทุน AI
จริง ๆ การลงทุนด้านนี้จะแฝงอยู่ในยูสเคสธุรกิจของ ปตท.มากมาย อาจเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างประเมินยากพอสมควร พูดง่าย ๆ หากไม่มีเม็ดเงินในการลงทุนเรื่องเทคโนโลยีเราก็จะมีความล้าหลังลงไปเรื่อย ๆ ปตท.มี PTT Innovation In-stitute (PTT InI) ซึ่งเป็นสถาบันที่นำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ช่วยงานของ ปตท. และหน่วยงานกลยุทธ์ดิจิทัล ผลักดันตั้งงบประมาณมาใช้ในธุรกิจ เรียกได้ว่ามีเม็ดเงินมารองรับเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องและเพียงพอ และเมื่อต้นปีที่แล้วมีการตั้งสายงานธุรกิจใหม่ชื่อว่า “Technology and Engineering” อยู่ในเลเวลออยล์บียู หรือแก๊สบียู ซึ่งหน่วยนี้นำโดย CTO หรือ Chief Technology Officer ระดับซี ซึ่งถือว่า ปตท.ให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะ ปตท.ระดับซีเลเวลจะ CTO ชิปดาวน์สตรีม และชิปอัพสตรีม เพื่อต้องการขับดันเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นเพื่อต่อยอดธุรกิจ ปตท.
Q : วางอนาคตการต่อยอดโครงการ AI
หน่วยนี้ตั้งเป็นโครงการพิเศษ เรามองในมุม business new S-curve ดูโอกาสที่จะต่อยอดในหลาย ๆ มุม ทั้ง 3P ของ ปตท. ฉะนั้น โครงการนี้เราจะมองการต่อยอดไปสู่ธุรกิจต่าง ๆ ทั้งในส่วนของบริษัทลูกของ ปตท. เช่น PTTES หรือ engineering solution ส่วนหนึ่งที่จะสามารถขยายผลเรื่องความชำนาญในเรื่องการเป็นที่ปรึกษาการเพิ่มผลผลิตให้โรงงาน หรือในส่วน PTT digital
Q : AI จะแทนแรงงานคน 100%
เรื่องนี้เราให้ความสำคัญอย่างมาก การนำเข้ามาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ หรือประสิทธิผล ส่วนหนึ่งจะช่วยให้บริหารคนได้ดีขึ้น และอันที่ 2 เราสามารถ reskill คนที่สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่หรือโรบอต หรือที่เรียกว่า man machine interface ซึ่งเป็นงานใหม่ไม่ได้น่ากลัว แต่นำมาช่วยคน หรือมาทำให้คนมีประสิทธิภาพมากขึ้นในงานที่ต้องทำซ้ำ หรือมีความเสี่ยงสูง เป็นต้น เรามองว่าเป็นการเสริมกันมากกว่าทดแทนกัน
Q : อนาคต Solution Provider จะสร้างรายได้ให้ ปตท.
ตรงนั้นไม่ใช่สิ่งที่เราโฟกัส เพราะว่าที่เราจะเข้าสู่เทคโนโลยีต้องพึ่งความร่วมมือเป็นหลัก ถ้าเรามองเรื่องสร้างรายได้มันจะไม่ค่อยเกิด