‘ด่านแม่สอด2’เขตSEZร้าง5ปีไปไม่ถึงไหนติดปัญหาที่ดิน-ผังเมือง

สภาหอการค้าฯกระทุ้งรัฐบาลใหม่เปิดด่านสะพาน 2” ทะลวงปัญหาค้าชายแดนแม่สอดเมียนมา 3 หลัง บิ๊กตู่ออง ซานคิกออฟ 3 เดือนยังไม่พร้อมใช้ แนะตั้ง คกก.โมเดลอีอีซีหวังปลดล็อกปมเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนไม่คืบ ติดปัญหาผังเมือง นักลงทุนเมินไทย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า นับเป็นเวลา 3 เดือนหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ร่วมกันเป็นประธานในพิธีเปิดสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

ซึ่งเป็นจุดที่ตั้งด่านพรมแดนแม่สอด 2 ไปเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2562 จนถึงขณะนี้ยังไม่เปิดให้บริการด่านดังกล่าว เนื่องจากรอความพร้อมด้านระบบทางฝ่ายเมียนมา ขณะที่บริเวณจุดผ่านแดนเดิม คือ จุดผ่านแดนถาวรบ้านริมเมย อ.แม่สอด จ.ตาก มีจำนวนรถบรรทุกสินค้ารอคิวผ่านด่านจำนวนมาก ส่งผลให้การจราจรบริเวณดังกล่าวแออัดต่อเนื่องนับ 10 กม. จนต้องเว้นช่องทางจราจรเพื่อเป็นเส้นทางของขบวนรถบรรทุก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีรถมารอขนถ่ายสินค้ามาก แต่ในส่วนของตลาดริมเมยซึ่งเป็นตลาดการค้าชายแดนระหว่างไทย-เมียนมาในบริเวณใกล้กับด่านกลับไม่คึกคัก ซึ่งจากการสอบถามผู้ประกอบการหลายรายในตลาดสะท้อนภาพว่าปริมาณนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจับจ่ายซื้อสินค้าลดลง 50% จากช่วงก่อนหน้านี้ เนื่องจากปัญหาการจราจรแออัด ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ด้วยเหตุนี้ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถแบกรับภาระค่าเช่าตั้งแต่เดือนละ 5,000-7,000 บาท จำเป็นต้องปิดกิจการไป

นายนิยม ไวยรัชพานิช รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัญหาเรื่องอำนวยความสะดวกทางการค้าเป็นปัญหาหลักของการค้าชายแดน โดยเฉพาะด่านริมเมย ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาการจราจรติดขัด ทำให้โดยเฉลี่ยจำนวนรถที่ขนสินค้าไปเมียนมาวันละ 100-200 เที่ยว จากที่ควรทำได้ 300 เที่ยว และมีจำนวนรถเหลือสะสม ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งสูง และเสียโอกาสการค้าไปเกือบครึ่ง ขณะที่ด่านสะพาน 2 ซึ่งเป็นด่านใหม่จะมาช่วยบรรเทาปัญหานี้แต่ก็ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้

“ที่ผ่านมาเคยร้องขอให้แก้ไขเพราะรถต้องรอคิวขนย้าย ประกอบกับวันนี้รถยนต์ข้ามแดนต้องได้ไปเช้า-เย็นกลับ ส่วนฟรีวีซ่าก็ไม่ได้ คนขับรถต้องทำบอร์เดอร์พาสจึงจะขับไปเมียนมาได้ และเวลาเปิดทำการด่าน 2 ฝ่ายก็เปิดไม่ตรงกัน เราขอยืดเวลาปิดด่านจาก 20.30 เป็น 22.00 หรือ 24.00 น. เพื่ออำนวยความสะดวก และยังเป็นการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจร้านอาหาร หากเดินทางไปมาสะดวกการค้าก็เพิ่มขึ้น”

ขณะที่การขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางการค้า (East of Economic Corridor) จากฝั่งตะวันตก-ตะวันออก เชื่อมโยงตั้งแต่เมืองเมาะลำไย-ไทย-เวียดนามซึ่งก่อสร้างเสร็จแล้ว เพียงอยู่ระหว่างการดำเนินการตามความตกลงเรื่องการเดินรถตามกรอบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) เบื้องต้นเมียนมา-ไทยจับคู่กันเริ่มเดินรถ 100 คันต่อวันในช่วงปลายปีนี้ ก่อนจะขยายให้ครบ 500 คัน ซึ่งหากทำสำเร็จจะช่วยลดค่าขนส่งลงได้

นายนิยมกล่าวว่า อุปสรรคด้านการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ชายแดน 10 จังหวัดที่ยังไม่คืบหน้า ถือเป็นโจทย์อีกเรื่องที่รัฐบาลใหม่ต้องแก้ไข โดยปัจจุบันมูลค่าการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนนับแต่ปี 2558 ที่ผ่านมามีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท สัดส่วน 40% หรือ 4,000 ล้านบาทอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด

“ปัญหาที่ทำให้เขตเศรษฐกิจชายแดนไม่คืบเกิดจากหาที่ดินให้เขาไม่ได้ โดยที่ดินส่วนของกรมธนารักษ์จะให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยทำ ส่วนที่ดินเอกชนยังมีปัญหาเพราะประกาศกระทรวงมหาดไทย

เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 60 ประกาศห้ามก่อสร้างใด ๆ ทุกชั้นที่เกิน 500 ตร.ม.จนกว่าผังเมืองจะออก ซึ่งต้องรออีก 2-3 ปี ทำให้นักลงทุนย้ายไปลงทุนฝั่งโน้น ไม่ใช่แค่แม่สอดด้านอื่น เช่น มุกดาหารก็ไปสะหวันนะเขต อรัญประเทศก็ไปปอยเปต รัฐบาลใหม่ต้องเคาะให้คล่องตัวมากขึ้น

 

หากมีคณะกรรมการเช่นเดียวกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี บูรณาการระหว่างหน่วยงานก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี หากสามารถปลดล็อกและเพิ่มการอำนวยความสะดวกได้สำเร็จ 10 เขตจะสามารถดึงดูดการลงทุนและกระตุ้นการค้าชายแดนได้เกินกว่าเป้าหมายที่กระทรวงวางไว้ 1.6 ล้านล้านบาท”

ด้านนายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวว่า ด่านสะพานแห่งที่ 2 ที่เชื่อม อ.แม่สอด จ.ตาก-รัฐกะเหรี่ยง กำลังจะเปิดในเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาด่านแม่สอดถือเป็นด่านที่มีความสำคัญมากช่วยให้มีมูลค่าการค้าผ่านช่องทางนี้ 80,000 ล้านบาท สูงที่สุดในจำนวน 10 ด่าน ซึ่งหากมีการเปิดด่านใหม่คาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าให้ 100,000 ล้านบาท

รายงานข่าวระบุว่า จำนวนคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ในเดือนมกราคม-มีนาคม 2562 มีเพียง 1 โครงการ ลดลง 6% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้วมี 3 โครงการ มูลค่าลงทุน 15,010 ล้านบาท ลดลง 94% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่มีการลงทุน 261,100 ล้านบาท

ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนใน SEZ ตั้งแต่ปี 2558-มิ.ย. 2562 รวม  22,477 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.การขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) 64 โครงการ เงินลงทุน 10,628.82 ล้านบาท

2.การลงทุนพัฒนาที่ราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด กาญจนบุรี และนครพนม รวม 5,106 ล้านบาท

3.การจัดตั้งธุรกิจใหม่ 3,407 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนรวม 6,742.04 ล้านบาท

โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ตาก อ.แม่สอด (ตั้งแต่ปี 2558-มิ.ย. 2562) ขอรับการส่งเสริมการลงทุน 30 โครงการ เงินลงทุน 3,873.80 ล้านบาท เป็นการจัดธุรกิจตั้งใหม่ 809 ราย วงเงิน 1,646.45 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นประเภทกิจการเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์พลาสติก ยานยนต์ เครื่องจักรและชิ้นส่วน/coil EMC filter และ transformer