เหนือ-อีสานอ่วมวิกฤตแล้ง ฝนทิ้งช่วง สนทช.ชี้ 21 จังหวัด 160 อำเภอ เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เขื่อนขนาดใหญ่-ขนาดกลางทั่วประเทศปริมาณน้ำลดต่ำกว่าครึ่งของความจุอ่าง เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการเข้มรองรับการบริโภค-ภาคการเกษตร หวั่น 1-2 เดือนนี้ไม่มีฝนเติมผลผลิตข้าวนาปี มันสำปะหลังเสียหาย ธ.ก.ส.เตรียม 4 มาตรการรับมือ ชี้สงครามการค้า-บาทแข็งดับฝันชาวนาฉุดราคาส่งออกข้าว พาณิชย์เตรียมชงมาตรการประกันราคา
หลายสัปดาห์ที่ผ่านมาแม้หลายพื้นที่ทั่วประเทศจะมีฝน แต่ในภาพรวมปริมาณฝนสะสมต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 30 ปี ตั้งแต่ปี 2524-2553 บวกกับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศขณะนี้ส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ต่ำ และมีการคาดการณ์ว่าปีนี้ฝนจะมีน้อย โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน จึงน่าห่วงว่าปัญหาภัยแล้ง จะกระทบการผลิตสินค้าเกษตร ส่งผลต่อเนื่องถึงรายได้และกำลังซื้อของเกษตรกรฐานรากซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำอยู่แล้วตกต่ำลงอีก
สทนช.ชี้ 21 จว.เสี่ยงขาดน้ำ
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. คาดการณ์ว่าปรากฏการณ์เอลนิโญกำลังอ่อนมีแนวโน้มสูงจะต่อเนื่องถึงเดือน ส.ค. ทำให้ฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ 5% เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงและมีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ 160 อำเภอ 21 จังหวัด ในภาคเหนือ 34 อำเภอ 6 จังหวัด อีสาน 71 อำเภอ 8 จังหวัด ภาคใต้ 55 อำเภอ 7 จังหวัด มีเพียงภาคใต้ฝั่งตะวันตกที่ฝนจะสูงกว่าค่าปกติ 5% สถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำทั้งประเทศขณะนี้มีปริมาณน้ำรวม 39,622 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 49% โดยแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง พบว่ายังไม่มีแหล่งน้ำที่มีน้ำมากกว่า 80% มีเพียงแหล่งน้ำที่อยู่ในเกณฑ์ 60-80% อยู่ในภาคตะวันออกและภาคใต้ 3 แห่ง ขณะที่แหล่งน้ำขนาดกลางความจุ 2 ล้าน ลบ.ม.มีเพียง 1 แห่งที่ปริมาณน้ำมากกว่า 100% มี 11 แห่ง ที่ปริมาณน้ำ 80-100% และมี 37 แห่งที่ปริมาณน้ำ 60-80%
ขาดแคลนน้ำทุบซ้ำค่าบาทแข็ง
แหล่งข่าวจากกรมชลประทานเปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในต่างจังหวัดกำลังประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงขึ้น โดยปริมาณน้ำสะสมในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ในหลายพื้นที่ลดต่ำลงกว่า 50% ของความจุอ่าง
อ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั่วประเทศ 295 แห่ง จาก 412 แห่ง มีปริมาณน้ำในอ่างน้อยกว่า 50% ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศซึ่งมีความจุรวม 80,106 ล้านลูกบาศก์เมตร มีแนวโน้มลดลง 40% โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือเริ่มรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อพืชผลทางเกษตร โดยเฉพาะการลงปลูกข้าวนาปี 2562/2563 หากไม่มีปริมาณน้ำมาเติมช่วง 1-2 เดือนนี้ จะซ้ำเติมให้การส่งออกสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าแย่ลง
ส่งออกสินค้าเกษตรหดตัว
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเดือน พ.ค. 2561 กลับมาหดตัว 1.4% มีมูลค่า 3,587 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 111,197 ล้านบาทโดยสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำตาลทรายหดตัว 14.4% ข้าวหดตัว 13.3% ยางพาราหดตัว 10% ทูน่ากระป๋องหดตัวเกือบทุกตลาด 6.3% จากซัพพลายส่วนเกินในตลาดโลกสูง ความต้องการสินค้าเกษตรจึงลดลง และอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่า ทำให้ภาพรวม 5 เดือนแรกปี 2562 สินค้าเกษตรขยายตัวได้แค่ 0.4% เท่านั้น
โรงสีกอดสต๊อกข้าว
แหล่งข่าวจากชมรมโรงสีภาคตะวันออกเฉียงเหนือเปิดเผยว่า ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด และปริมาณน้ำในเขื่อนหลักทางภาคอีสานที่ลดลง เช่น น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิรินธร ลดลงอย่างมาก อย่างเขื่อนอุบลรัตน์เหลือไม่ถึง 20% อาจต้องนำน้ำสำรองก้นอ่างมาใช้ในการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร ใน จ.ขอนแก่น มหาสารคาม ยโสธร สุรินทร์ ยังเหลือเวลาอีก 1 เดือน ก่อนลงมือปลูกข้าวนาปี 2562/2563 เดือน ส.ค.นี้ หากไม่มีฝนเพิ่ม ผลผลิตข้าวเปลือกนาปีอาจเสียหายถึง 50% จากปกติที่ปลูกได้ 8 ล้านตันข้าวเปลือก ส่วนการเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง 2562 แม้ผลผลิตไม่ได้ลดลงมาก แต่คุณภาพข้าวไม่ดีเท่าที่ควร
“ตามปกติเมื่อผลผลิตลดลง ราคาข้าวเปลือกข้าวสารจะปรับตัวสูงขึ้น แต่ครั้งนี้ ผู้ส่งออกแจ้งว่าการส่งออกข้าวมีแต่ข่าวร้าย ส่งออกไม่ดี เงินบาทที่แข็งค่าทำให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง ประกอบกับภัยแล้งทำให้โรงสีกังวล อาจเก็บสต๊อกข้าวสำรอง เพราะมีความไม่แน่นอนสูงว่าผลผลิตข้าวอาจจะหายไป และราคาผันผวน”
เร่งรัฐช่วยปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน
นายสุเทพ คงมาก อดีตนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอย่างมาก เช่น นครราชสีมา ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม เป็นต้น ปลูกข้าวนาปีมีปัญหาคือฝนทิ้งช่วง ทำให้ข้าวที่ปลูกแห้งตาย สมาคมได้ประสานไปยังกระทรวงเกษตรฯให้ช่วยเหลือ ส่วนราคาหรือผลผลิตข้าวยังประเมินราคาชัดเจนยังไม่ได้ เนื่องจากมีปัจจัยจากต่างประเทศเกี่ยวข้องด้วย ขณะนี้ข้าวขาว 5% ราคาข้าวเปลือกเฉลี่ยอยู่ที่ 7,000-7,500 บาท/ตัน ข้าวหอมมะลิราคาข้าวเปลือก 15,000-16,000 บาท/ตัน
ด้านนายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ในภาคเหนือและภาคอีสานฝนยังน้อยกว่าปกติ ทำให้การทำนาต้องเลื่อนออกไป ซึ่งผลผลิตข้าวช่วงตั้งท้องออกรวงฝนอาจไม่เพียงพอ ทำให้ผลผลิตลดลงและคุณภาพไม่ดี ถ้าแล้งมากผลผลิตอาจลดลงถึง 30-40%
มันสำปะหลังใบด่างระบาดซ้ำ
ขณะที่นายธีระชาติ เสยกระโทก อดีตเลขาธิการสมาพันธ์ชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังกำลังประสบปัญหาหลายด้าน ทั้งโรคใบด่าง เพลี้ย ภัยแล้ง แต่ราคามันสำปะหลังขณะนี้อยู่ที่ กก.ละ 2.10-2.15 บาท สำหรับเชื้อแป้ง 25% ลดลงจากปีที่ผ่านมาเฉลี่ย กก.ละ 2.45 บาท ส่วนต้นทุนเกษตรกรอยู่ที่ กก.ละ 2.20 บาท ทำให้ขาดทุนและได้รับผลกระทบภัยแล้งยังทำให้ผลผลิตไม่เติบโต
อ้อยผลผลิตลด
นายคมกริช นาคะลักษณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานองค์กรสัมพันธ์และบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มปริมาณอ้อยในฤดูการผลิต 62/63 จะลดลงจากปีการผลิต61/62 ที่เข้าหีบถึง 130 ล้านตัน เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ฝนทิ้งช่วงนาน รวมถึงผู้ส่งออกรายใหญ่อย่างอินเดียและบราซิลลดปริมาณลงจากปัญหาความแห้งแล้ง ทำให้ปริมาณน้ำตาลลดลง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำตาลปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 14-15 เซนต์/ปอนด์ ขณะที่ราคาอ้อยขั้นต้นคาดการณ์และมีความหวังว่าจะสูงกว่า 700 บาท/ตัน
น้ำชีแล้ง นาข้าวแสนไร่เสี่ยง
นายพัฒนะ พลศรี หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 เขื่อนระบายน้ำฝายวังยาง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนกลาง เปิดเผยว่า ภัยแล้งใน จ.มหาสารคามยังวิกฤต เพราะมีฝนตกลงมาไม่มาก ปีนี้ถือว่าสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี นาข้าวกว่าแสนไร่ ตลอดสองฝั่งลำชีอาจเสียหาย เพราะน้ำที่เขื่อนอุบลรัตน์ปล่อยลงมา 5 แสน ลบ.ม. มาถึงมหาสารคามแค่ 1 แสน ลบ.ม.
นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 เปิดเผยว่า ขณะนี้แม่น้ำปิงใน จ.เชียงใหม่น้อยกว่าปีที่แล้ว 77% ส่วน จ.ลำพูน น้ำแม่ลี้ อ.บ้านโฮ่ง น้อยกว่าปีที่แล้ว 99% น้ำแม่ทา อ.ป่าซาง น้อยกว่าปีที่แล้ว 99% จ.แม่ฮ่องสอน แม่น้ำปาย อ.เมือง น้อยกว่าปีที่แล้ว 51% และแม่น้ำยวม อ.แม่สะเรียง น้อยกว่าปีที่แล้ว 21%
พาณิชย์เตรียมประกันราคา
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ รักษาราชการแทน รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมการค้าภายในได้เตรียมมาตรการดูแลราคาสินค้าเกษตรไว้ หลัง ครม.เข้ามาจะเสนอให้พิจารณาในหลักการและงบประมาณดำเนินการซึ่งจะทันในฤดูนาปีจะออก ต.ค.นี้ โดยจะใช้รูปแบบการประกันราคาหรือวิธีการอื่น ๆ ก็ทำได้ และประเมินว่าผลกระทบจากภัยแล้งจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับสูงขึ้น หากสถานการณ์ยังคงเป็นอย่างนี้ มีโอกาสที่รัฐบาลจะไม่ต้องชดเชยราคาประกันให้เกษตรกร
ธ.ก.ส.งัดมาตรการรับมือภัยแล้ง
ด้านนายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ปีนี้ภัยแล้งค่อนข้างรุนแรงและลากยาว อาจทำให้พืชผลการเกษตรได้รับผลกระทบ
ธ.ก.ส.ได้เตรียมมาตรการไว้รับมือแล้ว โดยมีด้วยกัน 3-4 มาตรการ ได้แก่ กรณีข้าวที่เป็นพืชหลัก 1.ช่วยเหลือด้านเมล็ดพันธุ์สำหรับปลูกรอบที่ 2 มาตรการที่ 2 จะใช้เงินกองทุนที่มีอยู่ใช้ช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนทันทีที่มีการประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง
3.เตรียมวงเงินไว้ 5,000 ล้านบาท เพื่อให้สินเชื่อฉุกเฉินเป็นค่าใช้จ่ายในการทำการผลิต โดยปลูกพืชระยะสั้นใช้น้ำน้อย รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท ดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบันอยู่ที่ 7% ต่อปี) ระยะเวลาชำระคืน 15 ปี และ 4.ให้เกษตรกรที่ประสบภัยแล้งสามารถผัดผ่อน ขยายเวลาการชำระหนี้ได้ 12 เดือน ไม่เกิน 18 เดือน
2 ปัจจัยฉุดราคาข้าว
นายสมเกียรติกล่าวว่า แม้ภัยแล้งทำให้หลายพืชมีราคาเพิ่มขึ้น แต่สำหรับข้าวคาดการณ์ว่า เดือน ก.ค.นี้ ราคาจะปรับตัวลดลง ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% จะลดลงจากเดือนก่อน 0.21-0.60% อยู่ที่ 7,734 -7,751 บาท/ตัน จากผลกระทบสงครามการค้าทำให้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว ประกอบกับคาดว่าฟิลิปปินส์จะลดความต้องการนำเข้าข้าวลง จากที่ได้นำเข้าข้าวจากเวียดนามสะสมในสต๊อกเพิ่มขึ้น ข้าวเปลือกหอมมะลิราคาจะลดลงขึ้นจากเดือนก่อน 0.45-0.60% อยู่ที่ราคา 15,697-15,721 บาท/ตัน เนื่องจากราคาส่งออกของไทยมีแนวโน้มสูงกว่าคู่แข่งจากการที่เงินบาทที่แนวโน้มแข็งค่า ทำให้ลูกค้าหันไปซื้อข้าวหอมจากเวียดนามและกัมพูชาที่มีราคาถูกกว่า
จี้แก้ราคาเกษตรตกต่ำ
ด้านภาคเอกชนแสดงความเป็นห่วงผลกระทบภาคเกษตร โดยนายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ บมจ.สหพัฒนพิบูล ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภครายใหญ่ แสดงความเห็นกับ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จสิ่งที่รัฐบาลต้องทำเร่งด่วนคือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ
สอดคล้องกับนายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่งและค้าปลีกไทย กล่าวว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญ เรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับกำลังซื้อของเกษตรกรโดยตรง
ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!