“จุรินทร์” เดินหน้านโยบายด่วนประกันรายได้พืชเกษตร-ดูแลของแพง-เจรจาเอฟทีอียู กระตุ้นส่งออก

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวระหว่างงานเสวนา Bangkok post forum 2019 ว่า สำหรับการเดินหน้านโยบาย 3 เดือนจากนี้ ยังคงเป็น 4 เรื่องหลักที่เป็นนโยบายต้องผลักดันให้เกิดขึ้น นโยบายประกันรายได้ ผลิตผลเกษตร 5 ตัว คือ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด ส่วนพืชชนิดอื่นนั้นให้ใช้มาตรการที่มีความยืดหยุ่นแตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสมเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ แต่นั่นต้องสอดคล้องไปกับคุณภาพของสินค้าเกษตรด้วย

นโยบายดูแลควบคุมราคาสินค้าหรือการดูแลค่าใช้จ่ายเรื่องค่าของชีพประชาชนรวมทั้งเรื่องคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเช่นเดียวกัน นโยบายการผลักดันการส่งออก ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่าขณะนี้ทุกประเทศในโลกได้รับผลกระทบหมด โดยเฉพาะผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนไม่มีประเทศไหนที่ไม่ได้รับผลกระทบ แม้แต่ตัวสหรัฐและจีนเอง

เพราะฉะนั้น เอกชนจะเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะทำให้การส่งออกของไทยเป็นไปในทิศทางที่ขยายตัว โดยกระทรวงพาณิชย์จะเป็นหน่วยงานคอยสนับสนุนเพื่อให้การค้าการส่งออกเป็นไปได้ตามเป้าหมาย ล่าสุดได้ตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐ-เอกชน หรือ กรอ.พาณิชย์ขึ้นเพื่อให้เป็นเวที ร่วมกันหาทางออกเพื่อขยายโอกาสทางการค้า โดยจะจัดให้มีการประชุมหารือกันในวันที่ 14 สิงหาคม 2552 นี้ กรอบการผลักดันการส่งออกวางไว้ 3 รูปแบบคือ การรักษาตลาดเดิม การเปิดตลาดใหม่และการดึงตลาดเก่าโดยเฉพาะอิรัก จอร์แดนที่ปัจจุบันการค้าระหว่างกันน้อยลงไปมาก

และการค้าชายแดนจะมีส่วนสำคัญทำให้การส่งออกของไทยขยายตัว โดยเบื้องต้นมีแนวนโยบายจะจัดการประชุมร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา ไทย-สปป. ลาวไทย-เมียนมาร์ และไทย-มาเลเซีย เพื่อร่วมหารือผลักดันการค้าชายแดนระหว่างการให้มีการเติบโตเป็นไปตามเป้าหมาย โดยคาดว่าจะเร่งหารือจัดการประชุมในเร็วๆ นี้

และนโยบายสุดท้ายนโยบายด้านการเจรจา โดยเฉพาะการเจรจากลุ่มประเทศอาร์เซ็ป (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP คืออาเซียน 10 ประเทศบวกกับประเทศสมาชิกอีก 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) การเจรจานี้จะให้จบทันสิ้นปี ซึ่งหมายถึงจะให้จบให้ได้ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ถ้าได้ตามเป้าเราจะมีการ ประชุมในเดือนพฤศจิกายนที่กรุงเทพ แล้วหลังจากนั้นในปี 2020 คือปีหน้านั้นจะได้ลงนามข้อตกลงร่วมกันให้ได้

หากจบข้อตกลงนี้ได้เท่ากับอาร์เซ็ป เป็นโอกาสให้ไทยสามารถเพิ่มตลาดที่มีประชากรรวมกันมากถึง 3,500 ล้าน คิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรโลกและมีมูลค่า GDP ประมาณ 32.3% ของ GDPโลก สำหรับไทยสินค้าที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ เช่นผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องจักรใอุปกรณ์ไฟฟ้าพลาสติก เคมีภัณฑ์ ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เส้นวย สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย อาหารและอื่นๆเยอะไปหมด อันนี้คือสิ่งที่จะเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ กรอบเจรจาอื่น ก็ต้องเร่งฟื้น โดยเฉพาะ FTA ไทย-ยุโรปที่เราเดินหน้าต่อไม่ได้ ใน 5-6 ปีที่ผ่านมา เพราะเราติดปัญหาเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง แต่ถัดจากนี้ไปเรามาจากการเลือกตั้งแล้ว เพราะฉะนั้นเราสามารถนับหนึ่งเอฟทีเอไทยกับสหภาพยุโรปได้ และก็พร้อมเชื่อว่าทางยุโรปเขาก็พร้อมจะเจรจา และตนได้ให้นโยบายที่กระทรวงพาณิชย์แล้วว่าขอให้เริ่มต้นตระเตรียมในการจะนับหนึ่งกันอีกครั้งหนึ่ง เราจะทำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป