แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย รับเงินบาทอ่อนค่าลงมั่นใจจะส่งผลดีต่อภาคส่งออก

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี จาก 1.75% ต่อปี มาอยู่ที่ 1.50% ต่อปี โดยถือเป็นครั้งแรกในรอบ 52 เดือนนับจากเม.ย.2558 นั้น ได้ส่งผลต่อแรงกดดันทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง  และเงินบาทน่าจะเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนตัวลงจากตอนนี้เพิ่มขึ้น ประกอบกับมาตรการเพื่อเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นที่ออกมาก่อนหน้านี้ จะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะรักษาเสถียรภาพของค่าเงินให้สอดคล้องกับสภาพปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

ขณะที่ แนวโน้มค่าเงินบาทที่เริ่มอ่อนค่าลง เชื่อว่าจะส่งผลกระทบทางตรงให้รายได้จากการส่งออกในรูปเงินบาทปรับตัวดีขึ้นจากระยะก่อน และมีผลทางอ้อมสนับสนุนให้สินค้าส่งออกของไทยการแข่งขันได้ดีขึ้น ส่งผ่านต่อเนื่องไปถึงเศรษฐกิจในประเทศ ภาคการเกษตร ภาคการผลิต และเพิ่มการจ้างงาน

อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่แน่นอนของข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และสถานการณ์อื่นๆ ที่อาจทำให้ค่าเงินยังมีความผันผวน โดยผู้ส่งออกควรพิจารณาทำประกันความเสี่ยง และจูงใจให้ผู้นำเข้าทำสัญญาระยะยาวเพื่อเป็นหลักประกันการซื้อขาย เพื่อลดผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่ไม่คาดคิด

ล่าสุดธนาคารกลางจีนได้ทยอยปรับอัตรากลางเงินหยวนตั้งแต่ต้นสัปดาห์ ซึ่งส่งสัญญาณว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน เริ่มขยายวงกว้างไปสู่สงครามการเงินและส่อเค้ายืดเยื้อไปอีกพักใหญ่ แม้ว่าธนาคารกลางจีนออกแถลงการณ์ปฏิเสธการจัดการค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการส่งออก และให้เหตุผลว่าค่าเงินหยวนสอดคล้องกับอุปสงค์อุปทานและพื้นฐานของเศรษฐกิจจีน

โดยค่าเงินหยวนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดอัตรากลางเท่ากับ 7.0039 หยวนต่อเหรียญสหรัฐ อ่อนค่าลงอีกเล็กน้อยจากวันที่ 5 ส.ค.2562 ที่ระดับ 6.9925 หยวนต่อเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งนับว่าอ่อนค่าที่สุดในรอบกว่า 10 ปี ตั้งแต่เม.ย.2551 และเป็นครั้งแรกที่ค่ากลางทะลุ 7.0 ซึ่งเป็นแนวต้านที่ธนาคารกลางเฝ้าระวังและกำกับดูแลมาตลอด

“การที่เงินหยวนอ่อนค่า ทำให้สินค้าจีนมีราคาถูกลงโดยเปรียบเทียบ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถทางการแข่งขันของประเทศคู่แข่งรวมถึงไทย ในตลาดสหรัฐฯ และตลาดที่ 3”

อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังส่งผลต่อเงินเฟ้อ เพราะปัจจุบันเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมาย ส่งผลให้ปริมาณเงินเพื่อการหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่ออุปสงค์การบริโภค และทำให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ เมื่อรวมผลกระทบจากผลทางด้านรายได้จากการส่งออกที่มากขึ้น และราคานำเข้าที่สูงขึ้น เชื่อว่าทิศทางเงินเฟ้อน่าจะปรับสูงขึ้น หากปัจจัยอื่นค