เปิดผังสมาร์ทซิตี้โยโกฮามา2 “อมตะ”ผนึกทุนหนานหนิงปั้นนิคมเฟสใหม่

“อมตะฯ” ทำคลอด “Sabai District” โมเดลสมาร์ทซิตี้โยโกฮามา 2 บนพื้นที่ 100 ไร่ ฉลุย ต่อด้วยผนึก “ทุนจีน” ปั้นสมาร์ทซิตี้อมตะ-หนานจิง เฟสใหม่ประเดิม 10 ตร.กม. จ่อยื่นขอบีโอไอเร็ว ๆ นี้ พร้อมอัพเกรดระบบพลังงานอัจฉริยะ ผุด sandbox-energy storage หลังโรงงานญี่ปุ่นแห่ติด solar rooftop 

นายพงศกร ลิมปกาญจน์เวช ผู้จัดการอาวุโส แผนกพัฒนาเมืองอัจฉริยะ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการเมืองอัจฉริยะ (smart city) หลังจากที่ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับเมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ชลบุรี ให้เป็น smart city ว่า ล่าสุดทีม Yokohama Urban Solution Alliance (YUSA) ได้ศึกษาวางกรอบใหญ่ทั้งหมดของแผนแม่บท (roadmap) เสร็จแล้ว

โดยโครงการจะประกอบไปด้วย สำนักงาน อาคารพาณิชยกรรม ห้างสรรพสินค้า สถานที่จัดประชุมธุรกิจ (MICE) พื้นที่แสดงงานศิลปะ แหล่งบันเทิงและนันทนาการ โดยจะสร้างเป็นโยโกฮามาแห่งที่ 2 ภายใต้ชื่อโครงการ “Sabai District” บนพื้นที่ 100 ไร่ บริเวณด้านหน้าของนิคม และตามรูปแบบของการเป็น smart city ประกอบด้วย smart 6 ด้าน

และในเร็ว ๆ นี้ อมตะจะเริ่มดำเนินโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (sandbox) ที่จะนำไปสู่การซื้อขายไฟในนิคมในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมญี่ปุ่นได้เริ่มทยอยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงงาน (solar rooftop) มากขึ้น ดังนั้น เรื่องระบบกักเก็บพลังงาน (energy storage) จึงสำคัญ เป็นโครงการที่จะตามมาเพื่อนำไปใช้กับระบบโครงข่ายจ่ายไฟอัจฉริยะในรูปแบบของระบบไมโครกริด (microgrid) และความมีเสถียรภาพของไฟฟ้า และเพื่อเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียน (renewable energy) ในนิคม

“ในส่วนนี้เราจะไม่ได้ยื่นขอสิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริม smart city ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แต่เราจะยื่นบีโอไอในส่วนของเฟสใหม่ที่จับมือกับจีน”

รายงานข่าวระบุว่า นอกจากความร่วมมือกับเมืองโยโกฮามาแล้ว ทางอมตะยังร่วมกับทางเมืองหนานจิง ประเทศจีน พัฒนาพื้นที่เฟสใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ขนาดประมาณ 10 ตร.กม.เพิ่ม เพื่อตั้งโครงการอมตะ-หนานจิง สมาร์ทซิตี้

โดยจะแบ่งเป็นส่วนของการตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง ชิ้นส่วนยานยนต์แห่งอนาคต ในรูปแบบอาคารสูง เพื่อรองรับนักลงทุนจีน หลังจากแผนเสร็จเรียบร้อยคาดว่าจะยื่นขอบีโอไอเร็ว ๆ นี้ นอกจากนี้ ได้ศึกษารายละเอียดร่วมกับนักลงทุนเกาหลีใต้ พัฒนานิคมพื้นที่สำหรับรองรับเฉพาะนักลงทุนจากเกาหลีใต้ด้วยเช่นกัน

สำหรับอมตะ smart city ได้ดำเนินงานมาระยะหนึ่ง และได้เริ่มอัจฉริยะด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (smart environment) แล้วด้วยการสร้างถนนพลาสติกรีไซเคิลเส้นแรกในนิคมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) และกำลังจะเริ่มพลังงานอัจฉริยะ (smart energy)