“สมหมาย เตชะศิรินุกูล” เปิดตัวแม่ทัพ R&D ซีพีเอฟ

วิสัยทัศน์ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ไม่เพียงมุ่งไปสู่การเป็นครัวโลก แต่ยังมุ่งพัฒนานวัตกรรมด้านอาหารอย่างต่อเนื่อง ซีพีเอฟจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทีมนักวิทยาศาสตร์ด้านอาหาร และศูนย์วิจัยพัฒนาอาหารมาตรฐานโลกเพื่อรองรับวิจัยเต็มรูปแบบ ซึ่งในปีนี้ “ดร.สมหมาย เตชะศิรินุกูล” รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ลูกหม้อซีพีนานกว่า 33 ปี ได้รับบทบาทเป็นผู้กุมบังเหียนงานวิจัยทั้งหมดของซีพีเอฟ

@ ความเป็นมาในการรับตำแหน่ง

ดร.สมหมาย จบปริญญาเอกด้าน Poultry Nutrition จาก Oregon State University สหรัฐอเมริกา และเข้าร่วมงานกับทีมวิชาการอาหารสัตว์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เมื่อปี 2529 จากนั้นไปทำวิชาการที่ บริษัท เจียไต๋ คอนติ ในฮ่องกง อยู่เบื้องหลังการพัฒนาระบบพรีมิกซ์ให้โรงงานอาหารสัตว์ในจีนทั้งหมด 100 แห่ง จนทำให้มีธุรกิจอาหารสัตว์ในจีนมีกำลังการผลิต 6 ล้านตัน/ปี หลังจากนั้นบริษัทมอบหน้าที่บริหารธุรกิจสัตว์น้ำทั้งหมดที่ CPF เข้าไปลงทุนในจีน ทั้งในมณฑลไห่หนาน กว่างสี และฟูเจี้ยน ครอบคลุมทั้งอาหารสัตว์ พ่อแม่พันธุ์กุ้ง และโรงเพาะฟัก และเมื่อกลับมาประเทศไทยได้รับผิดชอบธุรกิจสัตว์น้ำแปรรูป และเป็นผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ “เกี๊ยวกุ้ง CP” จนเป็นที่รู้จัก ซึ่งทางประธานอาวุโส (ธนินท์ เจียรวนนท์) มอบให้รับผิดชอบงานด้าน QA QC และ LAB ควบคุมคุณภาพอาหารของซีพีเอฟ และล่าสุดในปีนี้ได้รับผิดชอบงานด้านวิจัยพัฒนาอาหาร (R&D) ทั้งหมดของซีพีเอฟ

@ ภาพรวมการทำ R&D

งาน R&D ของซีพีเอฟ ถูกพัฒนาและเติบโตต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ระดับปริญญาเอกเพิ่มขึ้น 6 คน และด้วยจุดแข็งที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารทันสมัย มีมาตรฐานระดับโลกทำให้งานวิจัยสามารถต่อยอดและสร้างประโยชน์ได้มากขึ้น

@แนวทางการทำงาน

ที่ผ่านมาหน่วยงานได้คิดค้นและวิจัยพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารเพื่อผู้ป่วย หรืออาหารเพื่อผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคไต ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค จึงมีแผนที่จะพัฒนางานด้าน RD ใน 3 หัวข้อ ได้แก่ 1.) จะทำสิ่งที่ดีที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น 2.) สร้างหน่วยงาน RD ให้เป็นองค์กรที่มีความรู้ด้านอาหารเหมาะสมกับผู้บริโภคทุกวัยอย่างมีความรับผิดชอบ 3.) มุ่งวิจัยพัฒนาเพื่อตอบโจทย์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อความสามารถในการแข่งขันของบริษัท

ทั้งนี้ หน่วยงาน RD จะมีนักวิจัยอยู่ 2 ทีม ได้แก่ ทีมวิจัย และทีม NPD – New Product Develop ที่จะทำงานใกล้ชิดกับฝ่ายขายและการตลาด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค หากมีข้อสงสัยบางส่วนที่ตอบไม่ได้ ทีมวิจัยจะเข้ามาเป็นตัวช่วยในการเสริมความรู้ให้แก่ทีม NPD โดยเน้นย้ำว่าต้องให้อิสระในการแสดงความคิดเห็น ให้มีความเป็นตัวของตัวเองแต่ต้องอยู่ในกรอบว่างานวิจัยทุกชิ้นต้องมีการกลั่นกรอง และต้องตอบได้ว่างานนั้นจะสร้างประโยชน์ต่อ 3 ส่วน คือ มวลมนุษย์ ต่อสังคม และต่อบริษัทในอนาคตได้อย่างไร ซึ่งเป็นไปตามปรัชญา 3 ประโยชน์ของบริษัท

@ อนาคตนวัตกรรมอาหาร

สังคมยุคใหม่ใส่ใจที่จะรักษาสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนของโลก ดังนั้น ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ก็ต้องศึกษาวิจัย เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เช่น เนื้อเทียม ที่อาจเข้ามาดิสรัปต์ธุรกิจอาหารโปรตีน และเราต้องวิจัยพัฒนาอาหารทางเลือกอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย