ไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ไขปริศนา SMEs 2.8 ล้านราย วืดเงินทุน

สัมภาษณ์

เป็นที่ทราบกันดี ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ “เอสเอ็มอี” ถือเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญ โดยกำหนดมาตรการส่งเสริมรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงตั้งกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี แต่ไม่ว่าอัดเม็ดเงินลงไปเท่าไร หรืออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยจะขยายตัวขึ้นอย่างไร แต่ก็มักจะมีเสียงสะท้อนว่าเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนและความช่วยเหลือของภาครัฐอยู่เสมอ คำถามนี้

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์” ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่ม 168 ภาคีสมาชิก ทั้งสมาคม มูลนิธิ และชมรม ได้เล่าถึงสถานการณ์ภาพรวมเอสเอ็มอีว่า

Q : ที่ผ่านมาจีดีพีไทยเติบโต เหตุใดเอสเอ็มอีไม่โตตาม

ทางสภาได้เข้าพบหัวหน้าพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล รวมถึงพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเสนอแนวทางในการพัฒนาและยกระดับ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสู่สากล โดยเราได้รายงานสถานการณ์ธุรกิจเอสเอ็มอี เราพยายามอธิบายว่า ปัจจุบันเอสเอ็มอีไทยอยู่ตรงไหน ทำไมตัวเลขจีดีพีที่เติบโตขึ้นจึงไม่ส่งผลดีต่อเอสเอ็มอีไทยเลย แต่กลับยิ่งเดือดร้อน

เศรษฐกิจรากหญ้าทำไมเดือดร้อนเป็นไปในทิศทางเดียวกับเอสเอ็มอี ซึ่งก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า แม่ค้าหาบเร่เป็นเศรษฐกิจรากหญ้า แต่เอสเอ็มอีเป็นผู้ที่มีทะเบียนการค้า และเป็นนิติบุคคล ซึ่งเรานำเสนอข้อมูลนี้ ร่วมถึงร่าง พ.ร.บ.วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมภาคเอกชน พ.ศ. …. ที่พยายามยกร่างขึ้นมา 5 ปี เคยยื่นให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ถูกตีตก ทางองค์กรภาคเอกชนขนาดใหญ่ หลายองค์กรต่างก็ไม่เห็นด้วย แต่เรามองว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องมีเวทีของตัวเอง ก่อนหน้านี้ เรามี พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของภาครัฐ เมื่อปี 2543 ผ่านมาถึงปัจจุบัน เรายังไม่มี พ.ร.บ.วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมภาคเอกชนเลยแม้แต่ฉบับเดียว ในช่วง 10 กว่าปี

ที่ผ่านมา แล้วเม็ดเงินที่บอกว่าส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมนั้นนำไปส่งเสริมให้ใคร ในเมื่อไม่มี พ.ร.บ.ของภาคเอกชน หมายถึงว่า ไม่มีภาคเอกชนที่เป็นตัวแทนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในเมืองไทยเลย แล้วเงินงบประมาณเป็นแสนล้านบาทที่บอกว่ากระตุ้นไปทั้งหมด ตั้งคำถามว่าทำไมเอสเอ็มอีไม่ขึ้นสักที เพราะปัจจุบันมีแค่ 9 องค์กรในไทยเท่านั้น ที่สามารถไปรับงบฯส่งเสริมจากรัฐได้ 9 องค์กรนี้ คือ มูลนิธิ สมาคม แต่แท้จริงเรามีสมาคมที่จดภายใต้กระทรวงพาณิชย์อยู่ 90,000 สมาคมทั่วประเทศ และไม่รวมของมหาดไทย เรามีมูลนิธิ/ชมรมอีกไม่รู้กี่หมื่นรายทั่วประเทศ แต่เขาให้แค่ 9 องค์กรเท่านั้นเองที่รับงบฯส่งเสริมได้

Q : ภาพรวมเอสเอ็มอีไทยในปัจจุบัน

ผมแบ่งกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเป็น 3 ระดับ คือ 1) ระดับที่พร้อมจะเดินหน้าแล้ว (ready to go) 2) ระดับทำไปเพื่อความอยู่รอด และ 3) ระดับดิ้นรน ทั้ง 3 ส่วนนี้มีสัดส่วนเหมือนกับเจดีย์ ภาครัฐออกข่าวว่าขณะนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเราพร้อมเข้าสู่การเป็น 4.0 เข้าสู่โลกดิจิทัล คือแค่ปลายเจดีย์ ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่พร้อมจะเดินหน้าแล้วทั้งประเทศ ไม่น่าจะเกิน 40,000 ราย จริง ๆ อาจจะต่ำกว่านั้น จากข้อมูลจำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ปี 2558 ที่มีประมาณ 2.8 ล้านราย แบ่งเป็นภาคการผลิต 3 แสนราย ที่เหลือ 2.4 ล้านราย เป็นภาค

การค้าและภาคบริการ สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือ ภาครัฐมองเห็นตรงนี้ยอดเจดีย์ ซึ่งหากจะให้ดีที่สุด สัดส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรเป็นรูปโอ่งน้ำ เป็นสัดส่วนที่ดีสุดของผู้ประกอบการทั่วโลก เพราะตรงส่วนที่อยู่รอดมีความเข้มแข็งที่สุด

Q : การเข้าถึงกองทุนเอสเอ็มอี

ไม่มี พ.ร.บ.วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ก็ไม่มีสภาเป็นตัวแทน ไม่มีเวทีของตัวเองอยู่ ณ ปัจจุบัน จึงมีแค่ 9 องค์กรที่สามารถรับงบฯส่งเสริมได้ ขณะที่ 9 องค์กรนี้ไม่ได้แทนตัว ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ เมื่อรัฐพยายามทำโครงการส่งเสริม แต่ยังไงก็ไม่สามารถทำได้

Q : การดำเนินนโยบายของสภา

นโยบายเราคือไม่ตี แต่จะมาให้ข้อมูลว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเดือดร้อนอย่างไร เราเสนอพรรคฝ่ายค้านเพื่อขอยื่นญัตติเข้าสภา เปิดสมัยหน้าเรียบร้อยแล้ว โดยผมได้พบกับท่านสุชาติ ตันเจริญแล้ว ท่านบอกว่าเห็นด้วยที่เราจะมีเวทีของตัวเอง ไปเกือบครบทุกพรรคยกเว้นบางพรรคแต่เราไปหาท่านรัฐมนตรีสุริยะแล้ว

หากมีการพิจารณาในสภาก็พร้อมจะนำรายงานเผยแพร่ออกสู่สังคม ประมาณ 70 หน้า ไม่รวม พ.ร.บ.วิสาหกิจฯ เพราะเป็นข้อมูลที่ทำให้เข้าใจว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอยู่ตรงไหน เดือดร้อนอะไรบ้าง และทำไมปัจจุบันยังเดือดร้อนอยู่ ต้องยอมรับว่าปัญหาของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นโรคเรื้อรังมาเป็น 10 ปี ไม่ใช่จะแก้ไขได้ในรัฐบาลเดียว หากรัฐบาลไม่เข้าใจโครงสร้างของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

Q : ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาเอสเอ็มอีควรเป็นอย่างไร

สภามีโมเดล SMEs Smart Province ซึ่งเราเชื่อว่าจะเป็นโมเดลในการบูรณาการผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทยทั้งระบบได้ รัฐมีโครงการมหาศาล เพียงแต่ละหน่วยงานต่างคน ต่างทำ มีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง 10 กระทรวง 20 กรม แต่ไม่ได้ร่วมบูรณาการกัน

Q : SMEs Smart Province ทำอย่างไร

สิ่งที่เอสเอ็มอีทั่วโลกเหมือนกัน คือ ต้องการ 3 ส่วนหลัก คือ ตลาดขายสินค้า การเข้าถึงเงินทุน และองค์ความรู้ นวัตกรรม ฉะนั้น ต้องบูรณาการ 3 ส่วน โดยโมเดลนี้เริ่มจากทางจังหวัดแต่ละจังหวัด คัดเลือกสินค้าของทุกจังหวัดที่มีวิวัฒนาการและสะท้อนเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ต้องหาตลาดให้ว่าทำสินค้ามาแล้วจะไปขายใคร ซึ่งอาจจะถึงสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย เข้ามามีส่วนร่วมด้วย

โมเดลนี้ไม่ได้ใช้งบประมาณ แต่เป็นการบูรณาการงบประมาณที่มีแต่ละหน่วยงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างปัจจุบันโอท็อปกำลังจะดิ่งลงเหว เรามองว่าโอท็อปเป็นแบรนด์หรือใบรับรองมาตรฐาน สินค้าที่ผลิตออกใครจะกล้าซื้อ โมเดลนี้จะช่วยยกระดับการพัฒนาเอสเอ็มอีได้