‘จุรินทร์’ ยันสหรัฐฯ ตัดจีเอสพีไม่เกี่ยวปมแบนไกลโฟเซต เตรียมส่งหนังสือขอทรัมป์ทบทวน หวั่นสูญภาษีนำเข้า 1,800 ล.

‘จุรินทร์’ ยันสหรัฐตัดจีเอสพีไม่เกี่ยวปมแบนไกลโฟเซต เตรียมส่งหนังสือขอทรัมป์ทบทวน หวั่นสูญภาษีนำเข้า 1,800 ล้านบาท

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวระหว่างการลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี เพื่อประชุมหารือการดำเนินการประกันรายได้มันสำปะหลัง ในวันที่ 27 ตุลาคม 2562 ว่า สำหรับกรณีที่สหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้าของประเทศไทยที่ส่งออกไปตลาดสหรัฐ โดยปกติสหรัฐให้สิทธิจีเอสพีแก่ประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งประเทศไทยได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าวรวมมูลค่า 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้สิทธิจีเอสพีไม่เต็มจำนวนมูลค่าที่ใช้ โดยใช้สิทธิจีเอสพีมูลค่าประมาณ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการส่งออกสินค้าไปสหรัฐ

แต่เมื่อประเทศไทยถูกตัดสิทธิจีเอสพีจะส่งผลให้ประเทศไทยต้องเสียภาษีนำเข้าจากเดิมที่ประเทศไทยไม่เสียภาษีนำเข้า และภาษีที่ประเทศไทยจะต้องเสียภาษีนำเข้านั้นเฉลี่ยอยู่ที่ 4-5% ที่จะเป็นภาระต่อผู้ประกอบการหรือผู้ส่งออก โดยคาดการณ์มูลค่าภาษีที่จะต้องเสียคิดเป็นเงินบาทอยู่ที่ 1,500-1,800 ล้านบาท ทำให้สินค้าไทยที่ส่งออกไปนั้นจะเสียภาษีเพิ่มขึ้น กรณีที่สหรัฐพิจารณาตัดสิทธิจีเอสพีของประเทศไทย สหรัฐให้เหตุผลในประเด็นของแรงงาน ในการพิจารณาเนื่องจากสหรัฐเองต้องการให้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานภายในประเทศไทยได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ

“การจัดสิทธิจีเอสพี ในช่วงนี้เนื่องจากเป็นช่วงที่สหรัฐมีการพิจารณาสิทธิพิเศษดังกล่าวอยู่แล้ว แต่สำหรับประเทศที่ไม่ได้ถูกพิจารณาต่อจีเอสพี ก็สามารถอุทรณ์หรือส่งหนังสือให้สหรัฐพิจารณาทบทวนต่ออายุจีเอสพีได้ อย่างเช่นเมื่อปีที่ผ่านมาสินค้าบางรายการของประเทศไทยถูกสหรัฐตัดจีเอสพี ไทยก็ส่งหนังสือเพื่อขอให้สหรัฐทบทวน ซึ่งก็ได้รับการพิจารณาและคืนสินค้ามาให้ 7 รายการ โดยกรณีนี้ไทยก็จะส่งหนังสือเพื่อขอให้สหรัฐทบทวนเช่นกันเมื่อถึงเวลา”

อย่างไรก็ดี หากสหรัฐไม่รับการพิจารณาทบทวนให้สิทธิจีเอสพีกับประเทศไทยแล้ว เรื่องนี้ถือว่าเป็นสิทธิของสหรัฐที่จะไม่พิจารณา โดยประเทศไทยก็ต้องยอมรับเนื่องจากสิทธิพิเศษนี้เป็นการให้สิทธิพิเศษเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งสหรัฐสามารถพิจารณาว่าจะให้สิทธิจีเอสพีกับประเทศใดก็ได้ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ประเทศไทยแต่ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่าการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐจะต้องเสียภาษีนำเข้าตามที่สหรัฐกำหนด

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า กรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตุว่าการที่ประเทศไทยถูกตัดสิทธิจีเอสพีจากกรณีที่ประเทศไทยคัดค้านไม่ให้ใช้ 3 สารที่เป็นอันตรายนั้น จากการติดตามไม่ได้เป็นเงื่อนไขที่สหรัฐใช้ในการพิจารณาตัดสิทธิจีเอสพีของไทย ซึ่งประเด็นหลักที่สหรัฐพิจารณา คือ ประเด็นแรงงาน ส่วนกรณีที่มีหนังสือประเด็น 3 สารที่สหรัฐส่งหนังสือมานั้นเพื่อแสดงความเป็นห่วง เนื่องจากสหรัฐกังวลว่าสินค้าที่สหรัฐส่งออกมายังประเทศไทยที่อาจจะมีสารดังกล่าวจะมีผลต่อการนำเข้าหรือไม่ เบื้องต้น ตนก็ได้ส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับกรมการค้าต่างประเทศติดตาม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ก็ต้องติดตามสถานการณ์ส่งออกรวมไปถึงการเร่งรัดการส่งออก โดยจะร่วมมือกับภาคเอกชนในการดันส่งออก โดยเป้าหมายหลัก คือ การรักษาตลาดเดิม ฟื้นฟูตลาดเก่า และเร่งรัดตลาดใหม่ โดยเฉพาะตลาดสำคัญ 10 ประเทศ เช่น จีน รัสเซีย สหรัฐ สหภาพยุโรป อังกฤษ เป็นต้น โดยจะเจาะลึกการส่งออกรายตลาดมากขึ้น