“หอการค้าไทย” ชง 4 ข้อเสนอรัฐเร่งลดผลกระทบยกเลิก 3 สารพิษ

‘หอการค้าไทย’ ชง 4 ข้อเสนอรัฐเร่งลดผลกระทบยกเลิก 3 สารพิษ วอนปลดล็อกนำเข้าวัตถุดิบที่ผ่านมาตรฐาน Codex

​นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อส่งผ่านไปยังนายกรัฐมนตรี ถึงข้อเสนอแนะต่อการยกเลิกการใช้สารพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ในภาคเกษตร ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ว่า หอการค้าฯ เห็นด้วยกับประกาศดังกล่าว โดยได้มีการประชุมรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะ จากสมาชิกผู้ประกอบการ และสมาคมการค้าที่เกี่ยวข้อง ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการผลิตที่ต้องใช้วัตถุดิบทั้งในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ

​อย่างไรก็ตาม การผลิตเพื่อบริโภคในประเทศและส่งออกของประเทศจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าเกษตรส่วนมากจากต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับการแปรรูปเป็นอาหารสำหรับคนและสัตว์ อาทิ ถั่วเหลือง ข้าวสาลี และแป้งข้าวสาลี กาแฟ โกโก้ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันสินค้าสำเร็จรูปของประเทศไทยผ่านเกณฑ์มาตรฐานสากลด้านความปลอดภัยทางอาหาร และเป็นที่ยอมรับจากประเทศคู่ค้าทั่วไป

​สำหรับการผลิตของประเทศผู้ส่งออกสินค้าค้าเกษตรดังกล่าวมายังประเทศไทยไม่ได้มีการยกเลิกการใช้สารทั้ง 3 ชนิด และยังคงใช้ในขบวนการเพาะปลูกตามปกติ บนพื้นฐานของการใช้อย่างถูกต้องและปลอดภัย เพื่อควบคุมสารตกค้างในการผลิตตามที่มาตรฐานสากล (Codex MRL) กำหนดไว้

ดังนั้น การที่ประเทศไทยประกาศยกเลิกการใช้สารทั้ง 3 ชนิด จะมีผลทำให้ผลผลิตที่ใช้สารดังกล่าวมีค่ากำหนดตกค้างเป็น Zero Tolerance ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่ต้องมีค่ากำหนด Zero Tolerance ตามประกาศ จะทำให้ขาดแคลนวัตถุดินในการผลิต ส่งผลให้เกิดวิกฤตการขาดแคลนอาหารทั้งในประเทศและเพื่อการส่งออก

​นายกลินท์กล่าวว่า หอการค้าฯ จึงได้ยื่นข้อเสนอแนะให้กับรัฐบาล เพื่อให้การประกาศยกเลิกใช้สารทั้ง 3 ชนิด มีผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องน้อยที่สุด โดยมีข้อเสนอ ดังนี้

1 ) อนุญาตให้ผู้ประกอบการนำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตรเพื่อแปรรูป สามารถนำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตรจากประเทศอื่น ๆ ที่ยังใช้สารทั้ง 3 ชนิด โดยกำหนดค่าความปลอดภัยของสารตกค้างตามมาตรฐานสากล (Codex MRL)

​2 ) เร่งรัดมาตรการเยียวยาชดใช้และชดเชยผู้ประกอบการและเกษตรกรที่ครอบครองสารทั้ง 3 ชนิด เพื่อลดผลกระทบจากการยกเลิกการใช้สารในภาคเกษตร 3 ชนิด

3 ) เร่งรัดการศึกษาและวิจัยเพื่อหาสารทดแทนการใช้สารทั้ง 3 ชนิด ในการเกษตร ตลอดจน การพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนทางการเกษตร

​4 ) สนับสนุนการทำเกษตรปลอดภัย (GAP) เพื่อการป้องกันและดูแลสุขภาพเกษตรกรและประชาชนผู้บริโภคตลอดห่วงโซ่อาหาร