ชาวนาคิดถึง “ข้าวครบวงจร” “ปลูกหอมมะลิ” ชวดเงินประกันรายได้ 4 รอบ

ราคาตลาดดิ่ง แต่ไม่ได้ชดเชย “ชาวนา” งง ที่มาการคำนวณราคาเกณฑ์กลางประกันรายได้รอบ 4 กำหนดราคาเกณฑ์กลางข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,200 บาท ทั้งที่ราคาตลาดจริงได้แค่ 13,500 บาท แนะรัฐสานต่อ “แผนการผลิตข้าวครบวงจร” แก้ปัญหาทั้งระบบ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจากนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิง โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้ออกมาเปิดเผยมติที่ประชุม ครั้งที่ 5/2562 ว่า มติให้จ่ายเงินส่วนต่างงวดที่ 4 ให้กับเกษตรกร ตามชนิดของข้าว

ผู้ปลูกข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 2,553.39 บาท จากราคาเกณฑ์กลางตันละ 7,446.61 บาท ต่ำกว่าราคาประกันรายได้ตันละ 10,000 บาทต่อตัน

ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 1,595.68 บาท จากราคาเกณฑ์กลางที่ตันละ 9,404.32 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาประกันที่ตันละ 11,000 บาท

ส่วนข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมมะลินอกเขต และข้าวเปลือกเหนียว นั้นมีราคาเกณฑ์กลางสูงกว่าราคาประกันรายได้จึงไม่ต้องจ่ายชดเชย

นายวิชัยกล่าวว่า ขณะนี้ผลผลิตข้าวเปลือกในฤดูการผลิตนาปี 2562/2563 นี้ เก็บเกี่ยวไป 90% เหลืออีก 10% คาดว่าจะเก็บเกี่ยวหมดภายใน 7-10 วันจากนี้เนื่องจากปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมที่ผ่านมากระทบผลผลิตลดลง และคาดว่าผลผลิตรวมข้าวเปลือกจะไม่เกิน24 ล้านตัน จากปกติ 27-28 ล้านตัน จึงส่งผลต่อราคาข้าวเปลือกขยับตัวสูงขึ้น ที่น่าเป็นห่วงคือภัยแล้งและ

น้ำในเขื่อนน้อยจะกระทบต่อผลผลิตข้าวเปลือกเจ้านาปรังปี 2563 อาจจะลดลงไปเหลือ 3.5 ล้านตัน จากผลผลิต 8 ล้านตัน และปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกปี 2563/2564 จะลดลง 4.5-6.2 ล้านตัน เหลือ 27-28 ล้านตัน จากปกติ 32-34 ล้านตัน ซึ่งจะมีผลต่อราคาตลาดปรับตัวสูงขึ้น

โดยในวันที่ 6 ธ.ค.นี้ จะประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว(นบข.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานจะพิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ผ่านโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/2563 ไร่ละ 500 บาทครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือ 10,000 บาทวงเงิน 26,793 ล้านบาท

นายสุเทพ คงมาก กรรมการ คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว (นบข.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เป็นน่าสังเกตว่าคณะอนุกรรมการกำหนดราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง โดยอาศัยข้อมูลราคาย้อนหลังจากแหล่งใดบ้าง และมาเฉลี่ยอย่างไร ทำให้สูตรคำนวณกับราคาในตลาดจริงไม่สอดคล้องกัน เช่น ราคาเกณฑ์กลางรอบที่ 4 เกษตรกรที่ปลูกข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นชนิดข้าวหลักของนาปี ไม่ได้รับการชดเชยเลย ทั้งที่ราคาขายข้าวเปลือกในตลาดอยู่ที่ตันละ 13,500-14,000 บาท เกษตรกรควรได้รับชดเชย แต่ราคาเกณฑ์กลางที่คำนวณออกมากลับสูงถึงตันละ 15,200 บาท และผลผลิตข้าวก็จะเก็บเกี่ยวหมดแล้ว

“ถึงแม้ว่าจะมีมาตรการคู่ขนานมาช่วยเกษตรกร แต่ก็ออกมาช่วงปลายฤดูซึ่งผลผลิตข้าวไหลออกจากมือชาวนาไปอยู่ที่ผู้ประกอบการหมดแล้ว ทำให้มีเพียงสถาบันเกษตรกรและสหกรณ์เท่านั้นที่ได้ใช้ประโยชน์ เกษตรกรแทบจะไม่ได้ประโยชน์ เหมือนยาดีแต่มาช้ารักษาโรคไม่ทัน และตอนนี้ยังไม่รู้เลยว่าหลักเกณฑ์ขึ้นยุ้งฉางจะเป็นอย่างไร ถ้าจะเอาข้าวขึ้นยุ้งต้องให้ใครตรวจสอบ ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรก็ยังไม่ได้มาแจงแนวทางดำเนินการเลย”

นายสุเทพกล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรประสานงานกันเช่นที่เคยทำในแผนการผลิตข้าวครบวงจรในอดีต ไม่ใช่ต่างคนต่างพูด ตัวเลขที่กรมการค้าภายในออกมาระบุว่า ผลจากภัยแล้ง

ทำให้ผลผลิตข้าวลดลงนั้น ควรเป็นหน้าที่ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรซึ่งก็ยังไม่มาให้ข้อมูล ทางเราทราบข้อมูลของกรมชลประทานว่าแนวโน้มจะเกิดภัยแล้งต้องลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 2563 รอบแรกลดลง จาก 8 ล้านไร่ เหลือ 4.5 ล้านไร่ แต่ก็ยังไม่ทราบว่าจะปรับลดพื้นที่ใด เทียบกับแผนข้าวครบวงจรที่เคยทำถึงขณะนี้จะบอกออกมาเป็นรายจังหวัดไปแล้ว ถึงกรมการค้าภายในมาแจ้งตอนนี้ทางปฏิบัติเกษตรกรหว่านข้าวนาปรัง 2563 ไป 1-2 เดือนแล้ว จะไปเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนมีนาคม 2563

“การบริหารจัดการข้าวโดยประกาศประกันรายได้ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริงของชาวนาให้ชดเชยไม่ยั่งยืน ควรกลับไปใช้แผนข้าวครบวงจรสมัยก่อนดีที่สุด เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิตให้ชาวนาได้รู้หลักดีมานด์และซัพพลายวางแผนผลิต และตลาดได้”