ทีมเศรษฐกิจขาใหญ่ “สมคิด” ปั้นคลัง ผนึก ธ.ก.ส.-EEC-บีโอไอ ชิงซีน “รัฐอิสระ”

เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ร่วมประชุมมอบนโยบาย-แนวทางการดำเนินงานสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยประกาศว่า จะตั้งคณะกรรมการพิเศษโดยให้ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเชิงพื้นที่ เชื่อมกับเศรษฐกิจระดับเอสเอ็มอี และเศรษฐกิจฐานราก

“ผมจะตั้งคณะทำงานที่กระทรวงการคลัง จะทำ ธ.ก.ส.ให้มีบทบาทใหญ่ เทียบกระทรวงเกษตรฯ ปั้นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ให้เกิดให้ได้สัก 3-4 แสนราย แต่ไม่ใช่เอาเงินไปแจก ไปจ่ายประกันรายได้ แม้จะได้ดูเศรษฐกิจขาเดียว แต่จะทำให้ขาใหญ่ขึ้น” นายสมคิดกล่าว

 

ทั้งนี้ คณะทำงานที่จะจัดตั้งขึ้น ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมกับกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), เลขาธิการอีอีซี, เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ, สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ, การท่องเที่ยว รวมทั้งความร่วมมือกับบริษัท ปตท. และรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง ร่วมเป็นกรรมการ มีเป้าหมายเพื่อเคลื่อนการลงทุน และการช่วยเหลือเศรษฐกิจเอสเอ็มอี และเศรษฐกิจฐานราก ระดับชุมชน เชื่อมการลงทุนโครงการขนาดใหญ่จากอีอีซี, และใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของบีโอไอ ร่วมกับทุนและเครื่องมือของ ธ.ก.ส.

นายสมคิดกล่าวว่า “จะเอากระทรวงการคลัง เป็นฐานในการทำงาน จะหาที่ดินของกรมธนารักษ์ จัดทำพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงการเกษตร-อุตสาหกรรม ให้ชุมชน ให้ชาวบ้านมีรายได้ จะทำให้เป็นรูปธรรม เป็นรูปเป็นร่างให้ได้ ภายใต้การทำงานของคณะทำงานที่จะทำงานเชื่อมโยงกัน”

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี กล่าวว่า โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของอีอีซีทุกโครงการ ในแต่ละปีมีกว่า 3 แสนล้าน จะต้องเชื่อมโยงกับชุมชนให้ได้ประโยชน์ด้วย โดยจะให้เอสเอ็มดี โอท็อป เชื่อมกับกลุ่มอีคอมเมิร์ซในเขตอีอีซี และสามารถส่งออกสินค้าไปต่างประเทศให้ได้ จะลดผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่อีอีซี ให้หมดไปภายใน 3 ปี

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวเสริมว่า ในการประชุมบอร์ดบีโอไอครั้งหน้า จะปรับปรุงหลักเกณฑ์สิทธิพิเศษทางภาษี สำหรับการส่งเสริมการลงทุนในเศรษฐกิจฐานราก เพราะที่ผ่านมามีเอกชนสนใจน้อย จึงจะเข้าหารือกับ ธ.ก.ส. เพื่อนำโจทย์ ความต้องการของชุมชน ความต้องการของชาวบ้าน มาจัดทำแพ็กเกจให้สอดคล้องกับความต้องการมากขึ้น

ขณะที่นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ กล่าวด้วยว่า จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณายุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เฉพาะภาคเหนือ-ภาคใต้ ภายใต้กลไกเดียวกับอีอีซี และทรานฟอร์มบทบาทอีอีซีให้ขยายกว้างขวางขึ้น