“จุรินทร์” ขอ 1 สัปดาห์ กำหนดราคากลางขยะช่วยซาเล้ง ขู่หากจำเป็นใช้เซฟการ์ดแน่

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมหารือเกี่ยวกับปัญหาการนำเข้าขยะกระทบราคาเศษกระดาษภายในประเทศ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลุ่มผู้ประกอบการรถซาเล้ง ร้านรับซื้อของเก่า กลุ่มธุรกิจแปรรูปกระดาษ กลุ่มโรงงานผลิตกระดาษสำเร็จรูป และหน่วยงานราชการ ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ทุกฝ่ายไปหารือราคารับซื้อเศษกระดาษตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางว่าควรที่จะรับซื้อราคาเท่าไร โดยให้ข้อสรุปให้ได้ภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและกลับมารายงานกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันต่อไป
ทั้งนี้ ให้ทุกฝ่ายไปประชุมหารือและหาข้อสรุปว่าราคารับซื้อขายจะเป็นเท่าไร เพื่อให้เหมาะสมและเห็นตรงกัน โดยกระทรวงพาณิชย์จะยังไม่มีมาตรการใดๆกำหนด เบื้องต้น ให้เพียงกรมการค้าภายในกำหนดให้ทุกฝ่ายแสดงราคารับซื้อตั้งแต่ร้านรับซื้อขายเก่า โรงงานผลิตกระดาษ โรงงานผลิตที่เกี่ยวข้อง ส่วนจะมีมาตรการใดเพิ่มเติมจากนี้หรือไม่นั้น ต้องให้ได้ขเอสรุปราคาก่อนและการดำเนินการว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากยังไม่ต้องการให้ใช้กฎระเบียบหรือกฎหมายเข้ามาดูแลเพราะต้องการให้ทุกฝ่ายร่วมกันแก้ไขปัญหา
ส่วนระยะยาวนั้นได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศ ศึกษากฎหมายการนำเข้าหากมีการนำเข้าขยะเกินความต้องการหรือเกินสมควรโดยส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ ผู้ประกอบการภายในประเทศ จะมีมาตรการใดเข้ามาดูแลหรือไม่ เช่น มาตรการเซฟการ์ด การขึ้นภาษี การกำหนดโควต้าการนำเข้า เป็นต้น แต่ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจำเป็นจะต้องนำมาใช้ทันทีหรือไม่นั้นต้องพิจารณาจากองค์ประกอบ คือการแก้ไขปัญหาไม่ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมภายในประเทศและยังมีปัญหาอยู่
“การนำเข้าเศษกระดาษปี 2561 ปริมาณ 1.4 ล้านตัน ส่วนปี 2562 อยู่ที่ 1.8 ล้านตัน เพิ่มขขึ้น 35-40% ส่วนราคาซื้อ-ขายเศษกระดาษนั้น ขายอยู่ที่ 50-30 สตางค์ต่อกิโลกรัม ลดลงจากปีที่ผ่านมาซึ่งซื้อขายอยู่ที่ 5-6 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนมูลค่าตลาดรีไซเคิลปัจจุบันอยู่ที่ 110,000 ล้านบาทต่อปี สำหรับความต้องการใช้เศษกระดาษภายในประเทศต่อปีอยู่ที่ 4.6 ล้านตัน โดยใช้ภายในประเทศ 2.9 ล้านตัน ส่วนที่เหลือนำเข้ามา”
นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณ๊การออกมาตรการห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้น ขณะนี้กรมการค้าต่างประเทศได้สรุปรายการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ห้ามนำเข้าแล้ว 430 รายการ ขณะนี้ อยู่ระหว่างการส่งเรื่องให้กรมศุลากร ดำเนินการจัดทำพิกัดการห้ามนำเข้า โดยเชื่อว่าภายใน 2 สัปดาห์จากนี้ คาดว่าจะจัดทำได้แล้วเสร็ว ขั้นตอนจากนี้ก็จะส่งเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป หากเห็นชอบ เชื่อว่าจะสามารถลงนามประกาศ เพื่อให้เห็นผลบังคับใช้ต่อไป
รายงานระบุว่า ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ….และบัญชีท้ายร่างประกาศ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2561 และครั้งที่ 2 เดือนธันวาคม 2562 การดำเนินดังกล่าวเพราะขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าตามอนุสัญญาบาเซล ซึ่งมีรายการสินค้าจำนวนมากทางคณะอนุกรรมการอนุสัญญาบาเซล จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อปรับปรุงบัญชีรายชื่อและกำหนดพิกัดศุลกากร สำหรับรายงานสินค้าขยะ 430 รายการ อาทิ เศษชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องซักผ้า โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ 2ตู้เย็น เป็นต้น