5 จังหวัดแล้งหนัก “ประวิตร” สั่งรวมข้อมูลชงงบฉุกเฉินก่อน 11 ก.พ. เข้มทุกหน่วยช่วยเต็มกำลัง

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประชุมนัดแรก เร่งบูรณาการความร่วมมือทุกหน่วยงาน จัดแผนช่วยเหลือประชาชนในช่วงฤดูแล้งทั่วประเทศเต็มพิกัด เคร่งครัดดูแลน้ำอุปโภคบริโภค ตามข้อสั่งการ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้มีเพียงพอกับประชาชนทุกภาคส่วน เดินหน้าจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมเร่งสร้างการรับรู้รณรงค์ช่วยกันประหยัดน้ำ
 
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 ว่า วันนี้ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะทำงานกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นครั้งแรก เพื่อหารือกระบวนการทำงาน ให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยแล้งได้อย่างทันท่วงที
 
ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีห่วงใยและมอบหมายให้เร่งดำเนินการคือเรื่องของน้ำอุปโภคบริโภคให้มีเพียงพอสำหรับประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 20 จังหวัด มี 5 จังหวัด ได้แก่ จ.บุรีรัมย์ นครราชสีมา เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี อุทัยธานี ที่ประสบปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร วันนี้ทุกหน่วยงานได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน ซึ่งขณะนี้ทุกจังหวัดมีแผนงานรองรับแล้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ จึงได้มอบหมายให้ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลงพื้นที่สำรวจความขาดแคลนในแต่ละตำบลที่ประสบปัญหา เพื่อการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด
 
นอกจากนี้ ปัญหาคุณภาพน้ำที่ค่าความเค็มที่จะรุกในแม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้งในช่วงวันที่ 24-31 มกราคม 2563 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำดิบในการผลิตประปา วันนี้ กนอช. ก็ได้มอบหมายให้ การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค มีการเพิ่มพื้นที่เฝ้าระวังมากขึ้น อีกทั้งยังได้มอบหมายให้เร่งหาแผนการ/โครงงานรองรับ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาในอนาคตด้วย ในภาพรวมปัจจุบันยืนยันว่า ยังคงมีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน
 
อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ยังมีความรุนแรงขึ้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กรมชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ลงพื้นที่หารือร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพื่อประเมินผลกระทบ และช่วยจัดหาเครื่องไม้เครื่องมือให้ต่อไป พร้อมทั้งได้ทำหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงมหาดไทย ให้ประกาศขอความร่วมมือเจาะเป็นรายชุมชน เพื่อช่วยกันเตรียมหาแหล่งน้ำ ก่อนฤดูฝนจะมาถึง โดยจะต้องนำข้อมูลทั้งหมดมาพิจารณา ก่อนเสนอเข้าที่ประชุม กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประวิตร เป็นประธาน ก่อนวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อเสนอของบพิเศษในขับเคลื่อนการทำงานต่อไป
 
ส่วนสถานการณ์ฝน กรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานว่าเป็นไปตามคาดการณ์ โดยปริมาณฝนจะยังมีน้อยอย่างต่อเนื่องไปจนถึงเดือน พ.ค. 63 และจะเริ่มกลับมามีฝนอีกครั้งในช่วงเดือน มิ.ย. 63 ก่อนที่จะเกิดฝนทิ้งช่วงเมื่อเข้าสู่ต้นเดือน ก.ค. 63 แต่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้งในช่วงกลางเดือน ก.ค. 63 เป็นต้นไป ทั้งนี้ จะมีการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อเนื่องหลังจากสิ้นสุดฤดูแล้งไปแล้วอีก 3 เดือน เพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต ส่วนปัญหาเรื่องการเพาะปลูกเกินแผน ขณะนี้บริเวณทุ่งเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกเกินแผนกว่า 1.87 ล้านไร่ และบางส่วนใช้น้ำจากระบบชลประทาน พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ต้องมีการกำหนดควบคุมอย่างเข้มงวดและจริงจัง เพื่อให้ไม่ส่งผลกระทบต่อน้ำอุปโภคบริโภค โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีการกำหนดมาตรการออกมาใช้ภายในสัปดาห์หน้า
 
ขณะที่ ข้อกังวล ปัญหาเรื่องปริมาณน้ำในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่หลายภาคส่วนเป็นกังวลว่าจะมีน้ำรองรับไม่เพียงพอนั้น ได้วางมาตรการพร้อมหารือร่วมกับทางจังหวัดระยองและคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อดึงน้ำส่วนหนึ่งจากแหล่งน้ำที่มีอยู่เดิมซึ่งดำเนินการก่อสร้างโดยกรมชลประทาน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเจรจาร่วมกันระหว่างจังหวัด คณะกรรมการลุ่มน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ นอกจากนี้ เรื่องของปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ ขณะนี้สามารถควบคุมสถานการณ์ในกรุงเทพมหานครได้แล้ว ส่วนที่ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นอีกพื้นที่ที่ประสบปัญหา ได้มีการวางมาตรการเติมน้ำเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้กรมชลประทาน หาแนวทางผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมาทางแม่น้ำเจ้าพระยาให้มากขึ้น นอกจากนี้ ในส่วนของคลองประปา ได้มอบหมาย การประปานครหลวง ให้เพิ่มปริมาณการผันน้ำ เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำจากตอนบน
 
โดยในวันที่ 31 มกราคมนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีกำหนดลงพื้นที่ อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามสถานการณ์การแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำด้วย อย่างไรก็ตามในช่วงฤดูแล้งต่อจากนี้ ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนให้ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและมีประโยชน์สูงสุด เพื่อเราจะได้มีน้ำใช้ในทุกกิจกรรมตลอดแล้งนี้