‘ฟรุตบอร์ด’ อุ้มชาวสวน รับมือแล้ง-โควิด19

อลงกรณ์ พล​บุตร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วิเคราะห์ว่า ผลการระบาดของโควิด-19 จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในช่วง 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) ปี 2563 หายไป 2 ล้านคน และหากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อไปอีก 6 เดือน หรือถึงเดือนมิถุนายน 2563 นักท่องเที่ยวจะหายไป 4.37 ล้านคน 

ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทย เนื่องจากความต้องการสินค้าเกษตรไทยภาพรวมลดลงในระยะสั้น โดยเฉพาะผักและผลไม้สดซึ่งพึ่งพาตลาดจีนเป็นหลัก โดยประมาณการมูลค่าการส่งออกผัก ผลไม้สด ในไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม 2563) ลดลงร้อยละ 0.33 เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดไปจีนในปี 2562 หรือประมาณ 940 ล้านบาท

แต่หากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อไปอีก 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน 2563) จะกระทบการส่งออกผักผลไม้ลดลงเป็นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดไปจีนในปี 2562 หรือคิดเป็นมูลค่า 5,278 ล้านบาท เนื่องจากเป็นช่วงให้ผลของทุเรียนและมังคุด ซึ่งกว่าร้อยละ 50 ผลผลิตทุเรียนส่งออกไปยังตลาดจีนอีกด้วย

ขณะที่ผลจากภาวะภัยแล้งกระทบต่อปริมาณน้ำในการเพาะปลูก โดยล่าสุดการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562/63 ทั้งประเทศ มีการใช้น้ำไปแล้ว 10,575 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 60 ของแผน เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 2,950 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 66 ของแผน และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณเก็บกักน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างปัจจุบันมีจำนวน 18 แห่ง แม้ว่าจะได้รับคำยืนยันว่ามีน้ำเพียงพอทุกภาคตลอดฤดูแล้งแต่ก็ยังไม่วางใจ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ หรือ Fruit Board ซึ่งมี นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบแนวทางบริหารจัดการผลไม้ ปี 2563 มุ่งเน้นว่าจะต้องมีข้อมูลการผลิตที่ชัดเจน เพื่อเชื่อมโยงกับตลาดผู้ซื้ออย่างเหมาะสม เพื่อให้จังหวัดสามารถบริหารจัดการผลไม้แบบเบ็ดเสร็จ และให้บริหารจัดการตลาดผลไม้ผ่านระบบสหกรณ์ ระหว่างปริมาณผลผลิต (supply) และปริมาณความต้องการของตลาด (demand) อย่างรัดกุม พร้อมทำแผนเผชิญเหตุกรณีเกิดผลผลิตส่วนเกินในช่วง peak

“ผลไม้ที่คาดว่าจะกระทบ คือทุเรียนจากภาคตะวันออกที่จะเริ่มฤดูการผลิต ต้องเตรียมแผนรองรับการส่งออกไปจีน ซึ่งเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะต้องวางแผนการกระจายผลผลิตทั้งในและต่างประเทศ การเพิ่มมูลค่าผลผลิต เช่น การแปรรูป การแช่แข็ง รวมถึงประชาสัมพันธ์กระตุ้นการบริโภคในแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ จนสิ้นสุดฤดูกาล”

ทั้งนี้ ต้นทุนบวกกำไรที่เกษตรกรได้รับต้องไม่ต่ำกว่า 30% โดยจัดทำแผนบริหารจัดการเชิงรุก มีกระทรวง เกษตรฯ รับผิดชอบด้านการผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐาน GAP, มกษ. สถานประกอบการ (ล้ง) ผ่านการรับรอง GMP ส่วนกระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบด้านการตลาด การกระจายผลผลิต การผลักดันการส่งออกไปตลาดใหม่ เช่น อินเดีย และส่งเสริมการจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์และออฟไลน์