KBS เมินภัยแล้งทุ่ม 4 พันล้าน ลงทุนโรงไฟฟ้า-โรงน้ำตาล

“KBS” หันปั๊มรายได้ขายไฟฟ้าให้ กฟผ.-กฟภ. 38 เมกะวัตต์ พร้อมทุ่มทุนอีก 4,000 ล้าน ผุดโรงน้ำตาล-โรงไฟฟ้า18 เมกะวัตต์ เพิ่มสัดส่วนรายได้ไฟฟ้า จ่อโดดเข้าโรงไฟฟ้าชุมชน ฝ่าวิกฤตแล้งอ้อยหด 40% เบรกโครงการเอทานอล

นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS กล่าวว่า ปี 2563 เตรียมเม็ดเงินลงทุน 4,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ประมาณ 3,000 ล้านบาทกำลังการผลิต 1-1.2 ล้านตัน/ปี โดยปีแรกคาดว่าจะหีบอ้อยได้ 600,000 ตัน จากปัจจุบันมี 1 โรงงานกำลังการผลิต 140,000 ตัน/ปี ที่ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา

ส่วนงบประมาณอีก 1,000 ล้านบาทใช้ลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 18 เมกะวัตต์เบื้องต้นผลิตเพื่อใช้ในโรงงานน้ำตาล ซึ่งทั้งหมดจะก่อสร้างเสร็จเดือน ธ.ค. 2563และเริ่มรับรู้รายได้ปี 2564 อีกทั้งมีแผนที่จะเข้าประมูลขายไฟฟ้าให้กับภาครัฐ ตามปริมาณที่รัฐเปิดสัญญาให้ในรอบใหม่ แต่หากภายใน 1 ปีนี้ กระทรวงพลังงานยังมีสรุปเรื่องการประมูล ก็อาจจะพิจารณาลงทุนในส่วนของโรงไฟฟ้าชุมชนแทน ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาในการเตรียมการกว่า1 ปี หรือสามารถเริ่มได้ปลายปี 2564

“เราเริ่มลดต้นทุนการผลิต เพิ่มการขายไฟให้กับ 2 การไฟฟ้ามาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้รายได้เพิ่ม ปีนี้ถ้ารัฐเปิดให้บิดเราก็จะขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าเพิ่มใหม่ และขายไฟให้รัฐตามสัญญาที่ได้ มันจะทำให้เรามีรายได้เพิ่มที่สามารถรับรู้ได้ในปี 2564 ซึ่งเบื้องต้นคำนวณแล้วโรงงานน้ำตาลจะทำรายได้ให้เราอีก1,000 ล้านบาท ส่วนโรงไฟฟ้าอยู่ที่ว่าจะได้สัญญากี่เมกะวัตต์”

ทั้งนี้ บริษัทได้มุ่งเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการขายไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2562 จากสถานการณ์ตลาดน้ำตาลมีความผันผวน บริษัทจึงบริหารจัดการต้นทุนใหม่ ปรับแผนการดำเนินงาน สร้างรายได้จากโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้กากอ้อยเป็นเชื้อเพลิง จากบริษัท ผลิตไฟฟ้าครบุรี จำกัด ขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) 1 สัญญา 22 เมกะวัตต์ และเริ่มขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อีก 2 สัญญา 16 เมกะวัตต์เป็นปีแรก รวมเป็นทั้งหมด 38 เมกะวัตต์ ทำให้มีรายได้จากการขายไฟฟ้ารวม 973 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี 2561 อยู่ที่ 902 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้า 11% ของรายได้รวมทั้งหมดอยู่ที่ 6,999 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตสวนทางกับรายได้รวมที่ลดลงประมาณ 1,500 ล้านบาทจาก 8,568 ล้านบาทปี 2561 และยังคงมีกำไร 180 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กลุ่ม KBS ยังเน้นมาที่ธุรกิจน้ำตาลซึ่งเป็นธุรกิจหลักสัดส่วน 78% เพราะเป็นธุรกิจที่บริษัทมีจุดแข็งและเชี่ยวชาญ รวมถึงธุรกิจซื้อมาขายไป (เทรดดิ้ง) กากน้ำตาล 11% และชะลอแผนลงทุนโรงงานเอทานอล เนื่องจากยังไม่ใช่ธุรกิจที่ชำนาญ บวกกับปัจจุบันกำลังการผลิตเอทานอลยังเกินความต้องการใช้อยู่มาก ขณะเดียวกัน เมื่อเทคโนโลยีไฮบริดเข้ามา เอทานอลอาจยังไม่ใช่จังหวะที่เหมาะจะลงทุน แต่อย่างไรก็จะทบทวนแผนการลงทุนใหม่เมื่อรัฐส่งเสริมจริงจัง

นายอิสสระกล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงในปี 2562 ส่งผลให้ผลผลิตอ้อยฤดูการผลิตปี 2562/2563 ทั้งระบบลดลงถึง 40% ปริมาณอ้อยเข้าหีบเหลือเพียง 75 ล้านตัน จากฤดูการผลิตปี 2561/2562 ซึ่งมีอ้อยเข้าหีบสูงถึง 133 ล้านตัน โดยอ้อย 75 ล้านตัน เป็นปริมาณน้ำตาล 8.5 ล้านตัน จึงส่งออกได้เพียง 5 ล้านตัน ลดลงกว่า 50% จากที่เคยส่งออกได้ 8-10 ล้านตัน และในส่วนของบริษัทเหลือปริมาณอ้อยเข้าหีบเพียง 1.7 ล้านตัน จากเดิม 3.3 ล้านตัน

“รู้ว่าแล้งหนักมากในรอบ 40 ปี ปีนี้ก็เช่นกันเราต้องพยายามลดต้นทุนลงอีกเพื่อให้ผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ เพราะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลยังมีความเสี่ยงจากภัยแล้ง แม้ปีนี้จะบรรเทาลงเพราะเริ่มมีความชื้นแล้ว แต่เราก็ปรับแผนปลูกอ้อยให้ชาวไร่คู่สัญญา โดยเลื่อนเวลาเพาะปลูกจากเดิมช่วงปลายปีที่ผ่านมา (อ้อยข้ามแล้ง) เป็นเดือน เม.ย.ที่จะถึงนี้ (อ้อยต้นฝน) แทน”

ขณะที่ปริมาณน้ำตาลตลาดน้ำตาลโลกก็มีทิศทางลดลงเช่นเดียวกัน จึงมีผลให้ราคาน้ำตาลโลกเริ่มขยับสูงขึ้นเป็น 14.57 เซนต์ต่อปอนด์ จาก 12.34 เซนต์ต่อปอนด์ และยังมีแนวโน้มปรับขึ้นไปอยู่ที่ 15 เซนต์ต่อปอนด์ ส่วนผลจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ไม่ได้กระทบการส่งออกไปตลาดจีน แต่ในทางตรงกันข้ามเกิดการกักตุน โดยจีนยังคงนำเข้าเช่นเดิมเพื่อเก็บสินค้าไว้บริโภคมากขึ้น รวมถึงการบริโภคน้ำตาลในประเทศไทยไม่กระทบ เพราะส่วนใหญ่ส่งสินค้าเข้าโรงงานอุตสาหกรรม สำหรับราคาน้ำตลาดในประเทศนั้นทางสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทรายยังกำหนดให้จำหน่ายน้ำตาลทรายขาว กก.ละ 17.25 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ กก.ละ 18.25 บาท