พ.ร.บ.อ้อยฯ ลากยาว 3 ปี บราซิล…ยังไม่ถอนฟ้อง WTO

file. Photographer: Brent Lewin/Bloomberg via Getty Images

ในที่สุดก็กลายเป็นมหากาพย์จนได้ สำหรับการแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่จุดเริ่มต้นเกิดจากการที่ประเทศบราซิลตั้งแง่ว่าไทย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก โดยใช้นโยบายอุดหนุนการส่งออก กำหนดระบบโควตาน้ำตาล กำหนดปริมาณและราคา กำหนดราคารับซื้ออ้อยด้วยการใช้โครงการช่วยเหลือชาวไร่ และการใช้เงินกองทุนอ้อยและน้ำตาล จูงใจให้ชาวไร่หันมาปลูกอ้อยมากขึ้น ทั้งหมดเป็นไปในลักษณะที่อาจขัดกับข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำตาลในตลาดโลก ดังนั้น บราซิลจึงทำการยื่นฟ้องไทย และกดดันในเรื่องต่าง ๆ จนไทยต้องประกาศ “ลอยตัวราคาน้ำตาล”

ผ่านไปแล้วกว่า 3 ปี พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ที่ยกร่างขึ้นโดยคณะกรรมการพิจารณาศึกษาปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ร่าง สนช.) ได้มุ่งเป้าแก้ไขบางข้อความในบางมาตรา เช่น การแก้ไขนิยามคำว่า “น้ำตาลทราย” ให้ครอบคลุมถึง “น้ำอ้อย” การแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามของคำว่า “ผลพลอยได้” การเพิ่มบทนิยามของคำว่า “สมาคมโรงงาน” เป็นต้น

จากนั้นกฤษฎีกาได้ทักท้วง ให้ปรับถ้อยคำในบางมาตรา ซึ่งทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้แก้ไขในคำนิยามที่ว่า ให้ “น้ำอ้อย” สามารถผลิตเป็น “ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ” ได้

หากถามว่าการแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่สำเร็จจะเกิดอะไรขึ้นหลายฝ่ายได้มีการวิเคราะห์และคาดการณ์กันไปว่า แน่นอนว่าหากยังไม่เสร็จในเร็ววัน “บราซิลก็คงยังไม่ถอนฟ้อง” แม้ว่าก่อนหน้านี้ บราซิลจะมีท่าทางพอใจกับการพยายามแก้ไข พ.ร.บ.ของรัฐบาลไทย และยังคงติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

แต่หากไทยบรรลุการแก้ไข พ.ร.บ. เป็นไปตามที่ตั้งใจไว้ ไม่เพียงจะทำให้บราซิลถอนฟ้องไทย ปลดแอกที่ว่าการปฏิบัติของไทยขัดต่อความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) แต่ยังส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาล คือ น้ำอ้อยที่จะสามารถผลิตไปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้อีกมาก ทั้งเอทานอล ไบโอชีวภาพ และช่วยแก้ไขเรื่องการทำงานของคณะกรรมการชุดต่าง ๆ อีกด้วย

แม้รัฐบาลจะอัพเดตความคืบหน้าล่าสุดว่า กฤษฎีกาได้เร่งแก้ไขบางมาตราให้แล้ว โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นปัญหากับบราซิลที่ฟ้อง WTO จากนั้นจะส่งไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้ง ก่อนนำเข้าสู่สภา

แต่การรอคอย พ.ร.บ.อ้อยฯยังไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อใด ยิ่งสถานการณ์บ้านเมือง เศรษฐกิจ ถูกซ้ำเติมจากภัยแล้งกระทบพืชผลทางการเกษตร บวกกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก รัฐบาลมุ่งในการแก้ปัญหาปากท้องมากกว่า