“สุพันธุ์” ชง 5 มาตรการด่วน จี้รัฐเร่งเยียวยา SMEs และแรงงาน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังการประชุม คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด -19) ครั้งที่ 2/2563 ว่า ภาคเอกชนได้รวบรวมข้อเสนอเพื่อเร่งนำส่งให้กับทางรัฐบาล เป็นการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs โดยด่วนทั้งในช่วงที่กำลังเกิดวิกฤตเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และหลัง

โดยคณะทำงานกลุ่มมาตรการเพื่อธุรกิจ SMEs นี้วางไว้ 5 มาตรการสำคัญไว้ทั้งด้าน ด้านประกันสังคม/กองทุน/แรงงาน ด้านภาษี ด้านสาธารณูปโภค/ที่ดิน ด้านการเงิน และด้านอื่นๆ

ประกอบด้วย 1.มาตรการด้านประกันสังคม/กองทุน/แรงงาน อาทิ ลดเงินสมทบประกันสังคมนายจ้างจาก 4% เหลือ 1% ระยะเวลา 180 วัน, บริษัทนำค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างแรงงานในช่วงโควิด หักภาษีได้ 3 เท่า ระยะเวลา 3 เดือน โดยขอให้เทียบกับเดือนมี.ค. 63 (จากเดิมที่สรรพากรกำหนดเดือนธ.ค.62), อนุญาตให้ปรับการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงได้ ในอัตรา 40–41 บาท/ชม. โดยจ้างขั้นต่ำ 4-8 ชม., ช่วยเหลือแรงงานที่เงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท โดยขอให้รัฐจ่าย 50% บริษัทจ่าย 25% สำหรับบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากโควิดและยังมีการผลิตอยู่บางส่วน เป็นต้น

2.มาตรการด้านภาษี ให้ภาคเอกชนหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า กรณีใช้งบประมาณเพื่อป้องกัน COVID-19, ให้กรมสรรพากรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ SME 2 ปีทุกธุรกิจ (ปีภาษี 63-64) โดยจะต้องเข้าระบบ E-Filling, ขยายเพดานค่าลดหย่อนภาษีการกุศลของนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ในปี 2563 โดยไม่จำกัดเพดาน เป็นต้น

3.มาตรการด้านสาธารณูปโภค/ที่ดิน ขอเลื่อนการจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ ออกไป 4 เดือน, ปรับลดค่าไฟฟ้าลง 5% ทั่วประเทศและขอให้ค่า FT สะท้อนราคาน้ำมันที่ลดลง, ลดค่าจดจำนองและค่าโอนที่ดินเหลือ 0.01% เฉพาะปี 63 เป็นต้น

4.มาตรการด้านการเงิน สินเชื่อที่รัฐให้เพิ่มสภาพคล่อง ขอให้ บสย. ค้ำประกันวงเงินกู้เพิ่มเป็น 80%, ขอให้ธนาคารพานิชย์และรัฐ ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เดิม ให้ลดเพิ่มจาก 0.4% เป็น 1%, ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ยกเว้นค่าเบี้ยประกันทุกประเภทในช่วงที่ธุรกิจปิดให้บริการ เป็นต้น

5.มาตรการอื่นๆ ให้รัฐจัดสรรงบประมาณในการจ้างงาน ซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ (Made-in-Thailand) และให้เพิ่มแต้มต่อสำหรับธุรกิจ SMEs, เร่งการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ เช่น ขอให้ภาครัฐเร่งเบิกจ่ายเงินให้กับผู้รับเหมาที่ได้ดาเนินการตามสัญญาแล้ว เพื่อให้มีเงินมาหมุนเวียนและเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ, เลื่อนการบังคับใช้ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล(PDPA) เป็นต้น